Taiwan Excellence โอกาสของ Telehealth ในวิกฤตโควิด-19

อัปเดตล่าสุด 18 พ.ค. 2563
  • Share :

สภาพัฒนาการค้าภายนอกไต้หวัน (TAITRA) ร่วมกับกระทรวงการค้าไต้หวัน จัดแถลงข่าวแบบถ่ายทอดสดผ่านออนไลน์ งาน Taiwan Excellence Press Conference ภายใต้หัวข้อ “Telehealth from Taiwan, Your best solution during the current and challenging COVID-19 pandemic period” เมื่อปลายเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมา โดยเปิดเผยบทบาทและความสำคัญของเครื่องมือแพทย์ทางไกล (Telehealth) ในช่วงวิกฤตโควิดที่มีส่วนช่วยให้ไต้หวันสามารถรับมือโรคระบาดนี้ได้เป็นอย่างดี พร้อมคาดการณ์มูลค่าตลาดเครื่องมือแพทย์ทางไกลที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 130,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025  ร่วมด้วยมุมมองและประสบการณ์ของผู้ได้รับรางวัล Taiwan Excellence Awards 

Taiwan Excellence Awards

รางวัล Taiwan Excellence Awards เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 1993 โดยกระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน มอบให้กับนวัตกรรมที่มีความโดดเด่น 4 ด้าน คือ “R&D”, “ดีไซน์”, “คุณภาพ”, และ “การตลาด” เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ Made in Taiwan ที่มีมูลค่าทางนวัตกรรม และนำมาใช้เป็นต้นแบบให้กับผู้ผลิตรายอื่นในภาคอุตสาหกรรม และได้รับการส่งเสริมสู่ระดับสากลผ่านภาครัฐ  รางวัล Taiwan Excellence Awards จึงมีส่วนช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมไต้หวันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในเวทีโลก 

“Taiwan Excellence Awards คือรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้กับผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรมที่ดีที่สุดของไต้หวัน และต้องเป็นเทคโนโลยีที่สามารถส่งเสริมให้ก้าวสู่เวทีโลกได้เท่านั้น”

Mr. Walter Yeh ประธาน และ CEO TAITRA กล่าวแสดงความเห็นว่า การผลักดันรางวัล Taiwan Excellence Awards ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก ทำให้รางวัลนี้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งคุณภาพ ความแม่นยำ และความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากในทุกมิติของการดำเนินชีวิต วิกฤตโควิด-19 ทำให้ซัพพลายเชนเกิดการหยุดชะงักในหลายประเทศ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไต้หวันสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ด้วยการนำนวัตกรรมที่มีอยู่แต่เดิม มาพัฒนาเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ทางไกล (Telehealth) ซึ่ง TAITRA คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดเครื่องมือแพทย์ทางไกลจะเติบโตเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 130,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 จากมูลค่าตลาดรวม 38,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019  ซึ่งการให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเช่นนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาเฉพาะในด้านของผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่จะทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเติบโตตามไปด้วย

“เราไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเท่านั้น แต่นวัตกรรมที่ได้ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของแต่ละประเทศอีกด้วย”

Mr. Johnson Chang ผู้จัดการโปรเจกต์ บริษัท Medimaging Integrated Solution (MiiS) ผู้ได้รับรางวัล Taiwan Excellence Awards 4 ปีซ้อน ซึ่งเป็นผู้ผลิตกล้องตรวจจอประสาทตาแบบพกพา ที่มีความละเอียดสูงถึง 5 Megapixel รายเดียวของโลก และเป็นผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์แบบ ODM และ OEM แสดงความเห็นว่า ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และ IoT จะกลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมการแพทย์ในอนาคต ทำให้การตั้งแผนกวิจัยและพัฒนาเป็นของตัวเองจะส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้เป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 เทคโนโลยีเครือข่าย 5G ได้เข้ามามีส่วนช่วยในการควบคุมโรค ด้วยการทำให้แพทย์สามารถตรวจโรคแก่ผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องพบหน้า เลี่ยงการสัมผัส รวมถึงการให้คำปรึกษา และฝึกฝนทักษะทางการแพทย์ข้ามประเทศ

Mr. West Yang ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขาย บริษัท Bionime กล่าวย้ำถึงความสำคัญของ IoT ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ว่า คนไข้หลายรายจำเป็นต้องได้รับการตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรณีที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน และในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่มาพร้อมมาตรการล็อคดาวน์นี้เอง ทำให้การดูแลผู้ป่วยโควิด และผู้ป่วยโรคอื่น ๆ มีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การติดตามผลการรักษาจากทางไกล จึงเป็นอีกทางที่ช่วยให้แพทย์สามารถดูแลคนไข้ได้โดยการให้คำแนะนำเบื้องต้น ประสานงานกับร้านยาเพื่อจ่ายยาตามความเหมาะสม หรือดำเนินการส่งตัวผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลในกรณีจำเป็น

Mr. Wayne Lee ผู้จัดการบริษัท Leadtek Research ผู้มีประสบการณ์พัฒนาเครื่องมือแพทย์เป็นเวลากว่า 20 ปี และเจ้าของเครื่องวัดชีพจรปลายนิ้วแบบพกพา ได้แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันนี้ โดยกล่าวเสริมว่า เครื่องมือแพทย์ที่ใช้งานง่าย และสามารถรับส่งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ซึ่งผู้ป่วยสามารถหาซื้อได้เอง ช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลได้เป็นอย่างมาก ซึ่งทางบริษัทเคยร่วมพัฒนาเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อระหว่างนอนหลับ โดยโรงพยาบาลสามารถให้ผู้ป่วยนำเครื่องตรวจกลับไปตรวจวัดที่บ้านได้ ทำให้ภาครัฐนำเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาต่อ และแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยโควิดที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ช่วยให้การตรวจสอบสุขภาพทำได้ทั่วถึง และประหยัดห้องพักฟื้นในโรงพยาบาลได้อีกด้วย

จากการนำเทคโนโลยีมาใช้เช่นนี้เองทำให้ในช่วงวิกฤตโควิดนี้ ไต้หวันได้รับความสนใจจากหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และมองโกลเลีย ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อรับการสาธิตและอบรบการใช้เทคโนโลยีภายใต้แบรนด์ Taiwan Excellence