ประท้วงเกาหลีใต้ อาจกระทบซัพพลายเชนโลก

รถบรรทุกทั่วเกาหลีใต้ประท้วง ‘ยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ’ หวั่นบานปลายกระทบซัพพลายเชน

อัปเดตล่าสุด 15 มิ.ย. 2565
  • Share :
  • 1,243 Reads   

รัฐบาลเกาหลีใต้ยกเลิกโครงการค่าแรงขั้นต่ำสวนทางค่าครองชีพที่พุ่งสูง ทำให้คนขับรถบรรทุกทั่วประเทศนัดหยุดงานประท้วงตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา กระทบการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบจนทำให้การผลิตในหลายโรงงานต้องหยุดชะงักลง สื่อต่างประเทศกังวลสถานการณ์บานปลายกระทบซัพพลายเชนโลก

Advertisement

โดยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2022 กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่ง รายงานว่า มีผู้เข้าร่วมประท้วงมากกว่า 7,800 ราย ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของสมาชิกสหภาพแรงงานรถบรรทุก ในขณะที่กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน รายงานตัวเลขผู้ประท้วงไว้ราว 6,600 ราย

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2022 กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน สาธารณรัฐเกาหลี รายงานว่าการหยุดงานประท้วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ โลหะ ปิโตรเคมี ซีเมนต์ ซึ่งคาดการณ์ว่าได้สร้างความเสียหายรวมแล้ว 1.6 ล้านล้านวอน หรือราว 1,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทางด้านสื่อตะวันตกแสดงความกังวลว่า การหยุดงานประท้วงในเกาหลีใต้อาจกลายเป็นความเสี่ยงครั้งใหม่ของซัพพลายเชนโลก

โดยกระทรวงฯ รายงานว่า การนัดหยุดงานของคนขับรถบรรทุกในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมราว 6,600 คน ส่งผลกระทบต่อยอดผลิตยานยนต์แล้ว 5,400 คัน คิดเป็นมูลค่า 2.57 แสนล้านวอน หรือราว 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรอยเตอร์รายงานว่า Hyundai จำเป็นต้องใช้ยานยนต์ที่ผลิตใหม่ในการจัดส่งสินค้าด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม Hyundai ยังไม่ออกมายืนยันข่าวนี้

ทางด้าน POSCO ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ เปิดเผยกับสื่อเดียวกันว่า บริษัทจำเป็นต้องหยุดผลิตในบางโรงงาน ซึ่งประกอบด้วยสายการผลิตลวดเหล็ก 4 โรงงาน และสายการผลิตเหล็กม้วนรีดเย็น 1 โรงงาน เนื่องจากไม่มีพื้นที่จัดเก็บสินค้าต่อไปได้อีก และคาดการณ์ว่า หากการประท้วงยังไม่สิ้นสุดการผลิตเหล็กม้วนรีดร้อนอาจได้รับผลกระทบ หรืออาจจำเป็นต้องหยุดการหลอมโลหะก็เป็นได้

สำนักข่าว Korea Times รายงานว่า การปิดโรงงานบางส่วนของ POSCO ส่งผลให้การผลิตลวดเหล็กลดลงวันละ 7,500 ตัน และเหล็กม้วนรีดเย็นลดลงวันละ 4,500 ตัน ในขณะที่บริษัทมีกำลังผลิตเหล็กทุกชนิดรวมอยู่ที่วันละ 20,000 ตัน

ทางด้าน Hyundai Steel แม้ปัจจุบันจะยังไม่หยุดเดินสายการผลิต แต่ก็แสดงความเห็นว่าอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนการผลิตใหม่ เนื่องจากไม่อาจจัดส่งสินค้าได้

สมาคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแห่งเกาหลี รายงานว่า นับตั้งแต่การประท้วงเริ่มต้น การจัดส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของเกาหลีในแต่ละวันก็ลดลงมากถึง 90% 

อีกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือโลจิสติกส์ โดยนับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน การขนส่งตู้สินค้าที่ท่าเรือปูซาน ท่าเรือใหญ่อันดับ 7 ของโลก และมีสัดส่วนการสัญจรคิดเป็น 80% ของเกาหลีใต้ทั้งประเทศได้ลดลงถึง 2 ใน 3 

ปัจจุบันการประท้วงยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังไม่อาจหาข้อตกลงร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม สื่อรายงานตรงกันว่า นาย Park Jeong-tae เจ้าหน้าที่อาวุโสจากสหภาพแรงงานรถบรรทุกแสดงความเห็นว่า สหภาพฯ มีแผนหยุดจัดส่งวัตถุดิบสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งรอยเตอร์รายงานว่า Samsung Electronics และ SK Hynix สองผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของเกาหลีใต้ยังไม่แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้

 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH