“โดรน” อุตสาหกรรมแห่งอนาคต จริงหรือ?
Drone เป็นอีกเทคโนโลยีที่ได้รับการจับตามอง เพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และมีต้นทุนไม่มากนัก หลายคนรอคอยการปลดล็อคพัฒนาโดรนให้เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ แต่จะน่าสนใจหรือไม่ ตลาดจะไปได้ไกลแค่ไหน ใครคือลูกค้าเป้าหมาย เทรนด์การพัฒนาเป็นอย่างไร และอะไรคือความกังวลของรัฐบาลในแต่ละประเทศ บทความนี้ มีคำตอบ
กลุ่มเป้าหมายหลักของโดรน คือใคร?
โดรน หรือ อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) ยานพาหนะที่บินได้เหมือนเช่นอากาศยานอื่นแต่มีขนาดเล็กกว่า ซึ่งหากเทียบกับเฮลิคอปเตอร์แล้ว โดรนมีขนาดเล็กกว่ามาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายน้อยลงหากใช้โดรนขึ้นบินแทนเฮลิคอปเตอร์ โดยเฉพาะในการขนส่งทางอากาศ ซึ่งเป็นบริการที่เสนอความรวดเร็ว โดรนจึงเข้ามาเติมเต็มความต้องการขนส่งในระยะทางที่ไม่ไกลมากนักได้
ด้วยจุดเด่นดังกล่าวทำให้โดรนถูกนำไปใช้งานอย่างหลายหลาย โดยเฉพาะกลุ่มโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน และการกู้ภัย ซึ่งเป็นสามกลุ่มลูกค้าหลักของอุตสาหกรรมโดรน และยังเป็นตลาดเกิดใหม่จึงมีพื้นที่ในการเข้าจับจองส่วนแบ่งตลาดได้อีกมาก
Takayuki Kumada CEO บริษัท Blue innovation ผู้พัฒนาโดรนและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม แสดงความเห็นว่า ในการขนส่งระยะทางสั้น ๆ นั้น หากใช้รถขนส่ง หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ ก็จะต้องเจอกับปัญหาด้านจราจร และการปรับเปลี่ยนเส้นทางในพื้นที่ซึ่งมีการก่อสร้างใหม่ก็เป็นเรื่องยาก โดรนจึงตอบสนองความต้องการนี้ได้ดีกว่า เนื่องจากสามารถใช้เส้นทางบินตรงข้ามสิ่งกีดขวางได้ทั้งหมด ซึ่งล่าสุด ทางบริษัทฯ อยู่ระหว่างทดลองใช้โดรนส่งของสด เช่น ส้มและฟักทอง ในขณะนี้
ส่วนในการขนส่งทางไกลนั้น โดรนเองก็มีประโยชน์เช่นกัน เนื่องจากทั่วโลกยังมีชุมชนในเขตกันดารที่ยากต่อการเข้าถึงด้วยรถยนต์อยู่ รวมถึงพื้นที่แปลงเกษตรขนาดใหญ่ และเข้าถึงยาก เช่น ไร่นาขั้นบันได ทำให้มีการใช้โดรนเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมการเกษตร
Sasaki Yasuyuki ประธานบริษัท MiratecDrone เปิดเผยว่า ปัจจุบันโดรนยังต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่บ่อย ขณะที่การซื้อโดรนของลูกค้าจากอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกษตรกรต้องการโดรนที่บินได้นาน ขนาดเล็ก ราคาถูก และบำรุงรักษาง่าย เนื่องจากมีกำลังซื้อไม่มากนัก จึงทำให้การพัฒนาโดรนสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรมีความยากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งการพัฒนาโดรนให้บินได้นานขึ้นด้วยการมีแบตเตอรี่ที่ใหญ่ขึ้นและโดรนมีขนาดใหญ่ขึ้นกลับทำได้ง่ายมากกว่า ดังนัั้น จึงคาดหวังว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะแก้ปัญหานี้ได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากความต้องการจากภาคเอกชนแล้ว ภาครัฐเองก็แสดงความสนใจในโดรนเช่นเดียวกัน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้แผนนำโดรนไปใช้ในการตรวจสอบโครงสร้างชลประทาน ซึ่งก็มีบริษัทที่อยู่ระหว่างพัฒนาโดรนสำหรับตลาดนี้ เช่น KDDI ผู้ให้บริการด้านสารสนเทศ อยู่ระหว่างพัฒนาโดรนที่ใช้ได้ทั้งใต้น้ำและบนอากาศ สำหรับการตรวจสอบเขื่อน ท่าเรือ แหล่งน้ำ และพื้นที่ประมง ซึ่งคอนเซปต์คือการใช้โดรนขนาดใหญ่หนึ่งลำบินไปยังพื้นที่เป้าหมาย จากนั้นจึงปล่อยโดรนลำเล็กสำหรับสำรวจสภาพน้ำออกมา เพื่อแก้ปัญหาระยะปฏิบัติการสั้นของโดรนใต้น้ำ
SoftBank ก็อยู่ระหว่างพัฒนาโดรนเช่นเดียวกัน โดยร่วมกับ Futaba Corporation พัฒนาโดรนที่บินได้ในสภาวะลมแรง เพื่อให้บริการการระบุเป้าหมายอย่างแม่นยำ เช่น การตรวจสอบเส้นทางจราจร เครื่องจักรทางการเกษตร และอื่น ๆ
ความก้าวหน้าของการพัฒนาโดรน
โดรนถูกคาดหวังว่าจะนำมาซึ่งงานบริการรูปแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะในด้านโลจิสติกส์ อย่างไรก็ตาม การที่เป้าหมายเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงได้ โดรนจำเป็นต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้การขนส่งสินค้ามีความคุ้มค่า และสามารถขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักมากได้
- เปิดแนวคิด “สถานีโดรน” อนาคต “โลจิสติกส์” เชื่อมรถขนส่งสินค้าอัตโนมัติ
- มาเลเซียรุดหน้า หนุน “โดรนขนส่งสินค้า” ไฟเขียว! แอร์เอเชียทดลองใช้เขตชุมชน
Aero Development Japan ผู้ผลิตโดรนสัญชาติญี่ปุ่น ร่วมกับ TAIYO ELECTRIC ENGINEERING ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงาน พัฒนาโดรนที่มีน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 50 กิโลกรัม และบินได้เป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง โดยประยุกต์เทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งมีขนาดเล็ก ความจุสูง มาใช้ร่วมกับระบบเครื่องยนต์แบบไฮบริด ซึ่งใช้เทคโนโลยีแม่เหล็ก ร่วมกับเทคโนโลยีกังหันก๊าซ พร้อมติดตั้งเครื่องยนต์หลายเครื่องไว้ในโดรนตัวเดียว ทำให้สามารถบินได้ไกลกว่าโดรนที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแต่มีเครื่องยนต์เดียวถึง 2 เท่า
โดรนจากบริษัท Aero Development Japan
AISAN INDUSTRY เป็นอีกรายที่ประสบความสำเร็จให้โดรนบินได้นานถึง 3 ชั่วโมง โดยใช้องค์ความรู้จากการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์มาออกแบบเครื่องยนต์ไฮบริดสำหรับโดรน ทำให้ได้โดรนมีระบบหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพสูง และคาดการณ์ว่าจะสามารถนำโดรนรุ่นนี้ไปใช้งานได้ในหลายอุตสาหกรรม
โดรนของ AISAN INDUSTRY ที่พัฒนาจากเทคโนโลยีชิ้นส่วนยานยนต์
ACSL เป็นอีกบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์ไฮบริด ร่วมมือกับ Aero G Lab พัฒนาโดรนสำหรับใช้งานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งแม้จะยังมีน้ำหนักบรรทุกเพียง 10 กิโลกรัม แต่สามารถบินได้นานถึง 3 ชั่วโมง และอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพ และราคาถูกลงเพื่อตอบสนองความต้องการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย
นอกจากนี้ ยังมีความสนใจเทคโนโลยีเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งอาจถูกนำมาใช้กับโดรนเช่นกัน เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะทำให้โดรนบินได้นานกว่าการใช้แบตเตอรี่ ซึ่งล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ได้อนุมัติให้บริษัท Dronework และ JFE Container ทดลองบินโดรนที่ติดตั้งถังไฮโดรเจนแรงดันสูงแล้ว
Terra Labo เป็นอีกบริษัทที่ใช้เครื่องยนต์ไฮบริดในโดรน โดยเลือกพัฒนาทั้งโดรน Multirotor และโดรนแบบ Fixed-wing ขนาด 4 เมตร และขนาด 10 เมตร ซึ่งแม้จะไม่สามารถทำให้โดรนบินลอยอยู่กับที่ (Hovering) ได้ แต่ Fixed-wing Drone มีความทนทานสูง บินได้นาน และมีระยะทางสูงสุดมากกว่า Multirotor Drone
โดรนแบบ Multirotor จาก Terra Labo
Terra Labo เลือกพัฒนาโดรนหลายขนาดเพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของผู้ใช้แต่ละรายทั้งในกลุ่มการขนส่ง การรักษาความปลอดภัย และการกู้ภัย ซึ่งโดรนขนาดเล็กสำหรับลูกค้าที่ต้องการบินในเพดานบินต่ำ และโดรนขนาดใหญ่สำหรับลูกค้าที่ต้องการเพดานบินสูง
สถาบันวิจัยวาฬ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอยู่นอกอุตสาหกรรมก็ให้ความสนใจโดรนเช่นกัน โดยลงทุนพัฒนา Drone ขึ้นใช้เอง เนื่องจากมีความต้องการโดรนที่ใช้พลังงานสะอาด ไร้มลพิษ มีเสียงที่เงียบ และสามารถบินติดตามวาฬ หรือสัตว์น้ำอื่น ๆ ได้เป็นระยะเวลานาน จึงได้เป็นโดรนพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเต็มรูปแบบ
โดรนแบบ Fixed-wing จากสถาบันวิจัยวาฬ ประเทศญี่ปุ่น
แนวโน้มตลาดโดรน
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ กฎหมายการบินพลเรือนฉบับใหม่ของญี่ปุ่นได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาล ทำให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจเพื่อบินโดรนได้ในเพดานบิน และน้ำหนักบรรทุกที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ยังคงมีข้อจำกัดอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และอื่น ๆ ทำให้การแข่งขันในภาคเอกชนญี่ปุ่นอาจไม่คึกคักเท่าที่คาดการณ์ไว้
อุปสรรคนี้ไม่ใช่เพียงแต่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียเอง หลายรัฐบาลก็ได้แสดงความเห็นห่วงในเรื่องของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวเป็นอย่างมาก และยิ่งไปกว่านั้น คือรัฐบาลหลายประเทศได้แสดงความไม่ไว้วางใจที่จะใช้โดรนจากผู้ผลิตต่างชาติ โดยเฉพาะจาก DJI ของจีนซึ่งครองส่วนแบ่งโดรนอันดับ 1 ในตลาดโลก เนื่องจากกังวลว่างานโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนหนึ่งในความมั่นคงของชาติ โดรนที่สามารถถ่ายภาพทางอากาศได้ง่ายจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโดยตรง ทำให้เป็นไปได้ว่าในอนาคต หลายประเทศจะนิยมใช้โดรนที่ผลิตภายในประเทศมากกว่าการนำเข้าก็เป็นได้
#โดรน #อุตสาหกรรมโดรน #Drone #โดรน ขนส่งสินค้า #ปลดล็อคโดรน #แก้กฎหมายโดรน #โลจิสติกส์ #ขนส่งสินค้าทางอากาศ #อุตสาหกรรมการเกษตร #อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ #เทรนด์การพัฒนาโดรน #อุปสรรคในตลาดโดรน #แนวโน้มตลาดโดรน #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม
อ่านต่อ
- ชมคลิป ตีให้แตก ทำไมหลายประเทศเร่งผลักดันใช้ “โดรนขนส่งสินค้า”
- เปิดแนวคิด “สถานีโดรน” อนาคต “โลจิสติกส์” เชื่อมรถขนส่งสินค้าอัตโนมัติ
- ตลาดโดรนในอนาคต คือ โลจิสติกส์ และ E-commerce
- โดรนปีกคงที่ ออกแบบเพื่อโลจิสติกส์ทางไกลโดยเฉพาะ
- มาเลเซียรุดหน้า หนุน “โดรนขนส่งสินค้า” ไฟเขียว! แอร์เอเชียทดลองใช้เขตชุมชน
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- นิยามใหม่ SME ปี 63 ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- 8 แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในอนาคต (8 Industry’s Mega Trend)
- 10 รับเหมาฝ่าวิกฤตโกยรายได้ปี”62 ITD ยืนหนึ่ง “ซิโน-ไทยฯ” แซงหน้า “ช.การช่าง”
- บอร์กวอร์เนอร์ (BorgWarner) ฉลองเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่นิคมฯ อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง)
- เซ็นแล้ว! 'อู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก' เฟสแรกเสร็จปี 67
- ยอดขายรถยนต์เมษายน 2564
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH