“โควิด” ไล่ถล่มอุตฯเหล็กไทย รง.ร้องบิ๊กตู่งัดทุกมาตรการป้องตลาด

อัปเดตล่าสุด 12 พ.ค. 2563
  • Share :
  • 723 Reads   

วิกฤตเหล็กปี”63 สถาบันเหล็กฯชี้ “ดีมานด์อสังหาฯ-รถยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้า” หดจากพิษโควิด-19 ทุบราคาเหล็กวูบ 5% ซ้ำร้ายสต๊อกเหล็กจีนค้าง 100 ล้านตัน จ่อทะลักไทย 7 สมาคมเหล็กร้องนายกฯ งัด 5 มาตรการสกัดนำเข้า ออกมาตรการ AD safeguard ยับยั้งทันที ก่อนเดี้ยงทั้งระบบ ยังหวัง “เมกะโปรเจ็กต์ EEC” ใช้เหล็กไทยช่วยฟื้นตลาดปี”64

นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ความต้องการใช้เหล็กในประเทศ (demand) ปี 2563 นี้ จะหดตัวลง เนื่องจากอุตสาหกรรมที่มีการใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบอย่างยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการบริโภคลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ราคาเหล็กคาดว่าจะลดลงมากกว่า 5% จากปีก่อนที่ราคาอยู่ที่ กก.ละ 18 บาท

“ทางรอดคือต้องผลักดันเรื่องการใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศ (local content) ให้ได้ เพราะไทยยังมีความโชคดีและยังมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้อีก แต่จะเกิดขึ้นในปี 2564 จากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รถไฟฟ้า โครงการในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งหมดอยู่ในแผนการก่อสร้างอยู่แล้ว ซึ่งรักษาแรงงานในอุตสาหกรรมไว้ได้อีกมาก”

ส่วนการแก้ไขปัญหาเหล็กต่างประเทศที่คาดว่าจะทะลักเข้าไทยในไม่ช้านี้ มั่นใจว่ามาตรการภาครัฐภายใต้ความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) จะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยสกัดและยับยั้งไม่ให้เหล็กนำเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศอย่างไม่เป็นธรรม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง “ขอความอนุเคราะห์พิจารณากำหนดมาตรการเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ” โดยขอให้ออกมาตรการสกัดการนำเข้าเหล็กจากจีน เนื่องจากมีความกังวลว่าจะทะลักเข้าไทยจำนวนมาก

เพราะจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้เหล็กไตรมาส 1/2563 ลดลงถึง 36% คิดเป็นปริมาณ 70 ล้านตัน จึงทำให้เดือน มี.ค. 2563 จีนมีเหล็กคงคลังเพิ่มจาก 49.3 ล้านตัน เป็น 100 ล้านตัน และคาดไตรมาส 2/2563 ความต้องการใช้ก็จะลดลงไปอีก เหล็กคงคลังก็จะเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน บวกกับรัฐบาลจีนสนับสนุนการส่งออกเพื่อระบายสินค้าเหล็กจำนวนมากนี้ โดยคืนภาษีสินค้าส่งออกจาก 10% เป็น 13% ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกของจีนมีแนวโน้มลดต่ำลงอีก จากปัจจุบันมีราคาต่ำจากการทุ่มตลาดอยู่แล้ว และมีความเสี่ยงสูงที่เหล็กดังกล่าวจะไหลทะลักมายังประเทศไทยที่เป็นเป้าหมายการส่งออกลำดับต้น ๆ ของจีน

ดังนั้น สมาคมจึงเรียกร้องรัฐบาล 5 ข้อ 

1.สนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมสำคัญยิ่งยวด

2.เร่งทำระเบียบปฏิบัติส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ ที่จำหน่ายให้กับงานโครงการของรัฐได้ โดยการให้แต้มต่อ 3-7% กับผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)

3.เร่งทำอนุบัญญัติบังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (anticircumvention : AC) และพิจารณาใช้ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 เพื่อควบคุมการนำเข้าเป็นการชั่วคราว เร่งกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับสินค้าเหล็กที่อยู่ระหว่างการไต่สวน และพิจารณาต่ออายุมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มขึ้น (SG)

4.ดำเนินมาตรการตรวจติดตามเชิงรุกตรวจติดตามการนำเข้าที่ผิดปกติหรือไม่โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม 

5.ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนรวมถึงมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (AD, AC, CVD, safeguard) หรือมาตรการห้ามนำเข้า ตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 โดยมาตรการทั้ง 5 ข้อเป็นสิ่งที่กลุ่ม 7 สมาคมเหล็กคาดหวังว่าจะได้รับการพิจารณา และมอบนโยบายจากนายกรัฐมนตรี