ส่องกลยุทธ์ GE - SIEMENS ขยายตลาดเครื่องมือแพทย์

ส่องกลยุทธ์ GE - SIEMENS ขยายตลาดเครื่องมือแพทย์

อัปเดตล่าสุด 18 พ.ค. 2564
  • Share :

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เครื่องมือแพทย์มีอายุใช้งานยาวนานขึ้น ตลาดเครื่องมือแพทย์มีขนาดเล็กลง แล้วผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์จะมีแนวทางขยายธุรกิจอย่างไร

Advertisement

สมาคมอุตสาหกรรมการฉายภาพและรังสีทางการแพทย์แห่งญี่ปุ่น (Japan Medical Imaging and Radiological Systems Industries Association) ซึ่งจัดทำข้อมูลสถิติอายุการใช้งานของเครื่องมือทางการแพทย์ พบว่า ในปี 2563 เครื่อง MRI มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 12 ปี 2 เดือน และเครื่อง CT Scan มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 11 ปี 9 เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจาก 10 ปีก่อนที่เครื่อง MRI มีอายุการใช้งานเฉลี่ย เพียง 1 ปี 3 เดือน ในขณะที่เครื่อง CT Scan มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 1 ปี 8 เดือน

Mr. Gakushi Taisei ผู้จัดการทั่วไปแผนกบริการ บริษัท GE Healthcare สาขาญี่ปุ่น เปิดเผยว่า นอกเหนือจากอายุการใช้งานของเครื่องมือแพทย์ที่เพิ่มขึ้นแล้ว สภาพเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนเครื่องมือแพทย์ยากลำบากกว่าที่ผ่านมา ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำตลาด

Mr. Hideaki Mori ประธานบริษัท Siemens Healthineers สาขาญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่า ยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้า เครื่องมือแพทย์ก็จะยิ่งก้าวหน้า นำมาซึ่งอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ซึ่งหมายถึงตลาดที่มีขนาดเล็กลง และจะเล็กลงอย่างต่อเนื่อง

 

GE Healthcare


บริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ เจ้าหน้าที่ และคนไข้ในสถานพยาบาลด้วยข้อมูลแบบเรียลไทม์ 

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา GE Healthcare สาขาญี่ปุ่น ได้เริ่มเปิดบริการ “OriGEn” ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ทางไกลผ่านแท็บเล็ตให้แก่สถานพยาบาลที่เป็นลูกค้า เพื่อช่วยสนับสนุนการใช้งานเครื่องมือแพทย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไปจนถึงการจัดสัมมนาออนไลน์ให้กับผู้ใช้เครื่องมือแพทย์

บริการ “OriGEn” เกิดขึ้นจากการเห็นปัญหาการใช้งานเครื่องมือแพทย์ของสถานพยาบาลในช่วงที่ผ่านมา เมื่อ GE Healthcare มีบริการเช่นนี้แล้วเชื่อว่า การใช้งานเครื่องมือแพทย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจะสามารถสนับสนุนการรักษาให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการให้บริการผ่านการตรวจสอบทางไกล เจ้าหน้าที่จะสามารถแนะนำการใช้งานให้แพทย์และพยาบาลได้ในทันที ไปจนถึงการนำเสนอเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ที่เหมาะสมกับสถานพยาบาลนั้น ๆ ได้อีกด้วย 

นอกจากนี้ ทางบริษัทยังได้พัฒนาระบบ “Command Center” ซึ่งเชื่อมต่อระบบต่าง ๆ ของโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน เพื่อให้การบริหารจัดการโรงพยาบาลสะดวกยิ่งขึ้น เช่น สามารถเช็คจำนวนและสถานะของเตียงคนไข้ได้ในทันที การคาดการณ์จำนวนคนไข้ และอื่น ๆ ให้แสดงผลเป็นภาพที่เข้าใจได้ง่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทั้งสถานพยาบาลและผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันระบบนี้ได้อยู่ระหว่างการทดสอบใช้งานที่ Kusatsu General Hospital

Mr. Soichiro Tada ประธานบริษัท GE Healthcare สาขาญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่าในอนาคต หากซอฟต์แวร์เหล่านี้ช่วยให้โรงพยาบาลทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ความต้องการเครื่องมือแพทย์ก็จะยิ่งลดลงไปอีก และโรงพยาบาลก็จะมีเงินสำหรับลงทุนในด้านอื่น ๆ มากขึ้น

 

Siemens Healthineers


นักรังสีวิทยาผู้เชี่ยวชาญ จะให้คำแนะนำที่เหมาะสมตามสถานะการตรวจและข้อมูลของผู้ป่วย

ทางด้าน Siemens Healthineers สาขาญี่ปุ่น ได้เปิดบริการสนับสนุนสถานพยาบาลตั้งแต่ปี 2563 โดยนำ “syngo Virtual Cockpit” มาใช้ในกับเครื่องฉายรังสี เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจคนไข้ไปพร้อมกับรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากทางไกลได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่ง Mr. Hideaki Mori ประธานบริษัท Siemens Healthineers สาขาญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ระบบนี้จะถูกนำไปใช้กับเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งนอกจากเครื่องมือแพทย์แล้ว จะทำให้ความต้องการอุปกรณ์ต่อพวงที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบันระบบสามารถเชื่อมต่อได้พร้อมกันจาก 3 ปลายทาง ทำให้สามารถแบ่งปันข้อมูลกันได้ และยังเป็นการลดช่องว่างระหว่างทักษะของแพทย์ในสถานพยาบาลแต่ละแห่งได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างพัฒนา "managed equipment service" เพื่อให้สถานพยาบาลเข้าถึงการบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ ไปจนถึงเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย คาดว่าจะเป็นให้บริการแบบระยะยาว 10 ปี ซึ่งนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาลได้แล้ว ยังช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่ได้อีกด้วย