วิกฤตพลังงาน ธุรกิจเอสเอ็มอี ญี่ปุ่น

วิกฤตพลังงาน กระทบ ‘SME ญี่ปุ่น’

อัปเดตล่าสุด 29 มิ.ย. 2565
  • Share :

วิกฤตพลังงานที่ลุกลามส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ SME ในญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญปัญหานี้อย่างไม่มีทางออก จนมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้ง 

ทางออกเดียวที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นทำได้ในขณะนี้คือการขอขึ้นราคาไปยังลูกค้า แต่ใช่ว่าลูกค้าจะยอมรับ ในทางกลับกัน การขึ้นราคาอาจจะเป็นการผลักไสให้ลูกค้ามองหาซัพพลายเออร์รายอื่นแทน นอกจากนี้ แม้จะสามารถปรับขึ้นราคาได้แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะควบคุมต้นทุนให้เป็นไปตามราคาที่ปรับขึ้นใหม่ได้ในภาวะที่ราคาพลังงานยังผันผวนเช่นนี้

ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ราคาขึ้นไม่ได้

การอ่อนค่าของเงินเยนเหมือนเป็นการซ้ำเติมผลกระทบจากโควิดที่ยาวนานและสงครามรัสเซียยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดลง เมื่อผนวกกับราคาพลังงานที่พุ่งสูง ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก 

สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (JCCI) ได้เปิดเผยผลสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2022 พบว่า บริษัทเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงมีสัดส่วนคิดเป็น 79.1% ของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นไปอีก แต่บริษัทที่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้มีจำนวนไม่มากนัก

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อลดผลกระทบตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน โดยให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรวมแล้วเป็นมูลค่า 1.3 ล้านล้านเยน หรือราว 9,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้กับธุรกิจต่าง ๆ ของสถาบันการเงินในเครือข่ายของรัฐ และขยายเวลาการให้สินเชื่อแบบไม่มีดอกเบี้ยและไม่มีหลักประกันจนถึงสิ้นเดือนกันยายน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง “กองทุนเงินอุดหนุนการปรับโครงสร้างธุรกิจ” เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมัน ไปจนถึงส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่ให้ “ปฏิญญาว่าด้วยการสร้างพันธมิตร” ( Declaration of Partnership Building) พร้อมกับเร่งเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถส่งต่อต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังธุรกิจรายใหญ่ที่เป็นคู่ค้าได้อีกด้วย 

Advertisement

ผู้ประกอบการ SME ญี่ปุ่น เรียกร้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ‘นิวเคลียร์’

นาย Kouzou Satou ประธานบริษัท SATOCHU ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรกล และเครื่องจักรการเกษตร แสดงความเห็นว่า ในกรณีราคาวัตถุดิบและพลังงานแพงขึ้น บริษัทย่อมไม่มีทางอื่นนอกจากขึ้นราคาสินค้า อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วภาคอุตสาหกรรมการผลิตมักถูกบีบให้ต้องลดต้นทุน ซึ่งเป็นเรื่องยากอย่างมากในช่วงที่ราคาวัตถุดิบและเชื้อเพลิงพุ่งสูงเช่นนี้

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาเศษโลหะกำลังพุ่งทะยาน ซึ่งการผลิตโลหะหล่อจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบที่มีความบริสุทธิ์สูงโดยผ่านกระบวนการคัดแยกเศษโลหะ ยิ่งทำให้ต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม แม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่ผู้ซื้อมักมองไปที่ราคาตลาดเป็นหลัก ทำให้การขึ้นราคาสินค้าทำได้ยาก

นอกจากนี้ ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นยังเป็นภาระของผู้ผลิตเป็นอย่างยิ่ง ราคาค่าไฟปรับขึ้นอย่างมากจนส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ศาลแขวงซัปโปโรได้ออกคำตัดสินให้ระงับการกลับมาเดินเครื่อง Tomari Nuclear Power Plant ซึ่งนาย Kouzou แสดงความเห็นว่า อยากให้ญี่ปุ่นพิจารณามาตรการด้านพลังงานอย่างเหมาะสม รวมถึงการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย เพื่อให้ค่าไฟมีความคงที่มากขึ้น

นาย Makoto Wakabayashi ประธานบริษัท CAST ธุรกิจหล่อโลหะจากเมืองชิราคาวะ จังหวัดฟุกุชิมะ แสดงความเห็นว่า ราคาพลังงานที่พุ่งสูงส่งผลกระทบในด้านลบต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยทางบริษัทได้เปลี่ยนคู่สัญญาการซื้อไฟฟ้าเมื่อราว 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา และมีค่าไฟอยู่ที่ปีละ 84 ล้านเยน หรือราว 6.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ราคาล่าสุดได้พุ่งขึ้นไปที่ปีละ 170 ล้านเยน หรือราว 1.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

วิกฤตพลังงาน ธุรกิจเอสเอ็มอี ญี่ปุ่น

อัตราค่าไฟใหม่ทำให้ค่าไฟฟ้าของบริษัท CAST พุ่งทะยานกว่าเท่าตัว

ผู้ผลิตโลหะโดยทั่วไปแล้วมี Rate of Return (RoR) อยู่ที่ 1-2% ซึ่งทางบริษัทได้เดินสายการผลิตเต็มรูปแบบสำหรับผลิตสินค้าให้กับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เรือ และเครื่องจักรก่อสร้าง และค่าไฟที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก และค่าไฟปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้

นอกจากนี้ นาย Makoto ยังแสดงความเห็นในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญใน Japan Foundry Society ว่า ค่าไฟที่เพิ่มขึ้นไม่ได้กระทบแค่โรงหล่อโลหะเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมาก

ทางสมาคมฯ ได้ยื่นคำร้องขอมาตรการสนับสนุนไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และแสดงความคาดหวังว่าญี่ปุ่นจะกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นไฟฟ้าฐาน (Baseload Power)

นาย Takashi Kawasaki ประธานบริษัท TOHKEN THERMO TECH ธุรกิจด้าน Heat Treatment รายใหญ่ กล่าวว่า สิ่งที่ยากที่สุดคือการที่ลูกค้ากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า แต่ตัวบริษัทเองไม่สามารถลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านตามไปได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ออเดอร์ลดลงจากปัญหาชิ้นส่วนขาดแคลน จึงกระทบต่อแรงจูงใจในการลงทุนเป็นอย่างมาก ทำให้กังวลว่าปัญหาราคาพลังงานที่พุ่งสูงนี้จะส่งผลกระทบต่อทิศทางของบริษัทในระยะยาว ซึ่งสำหรับยุคอีวีแล้ว การลงทุนเทคโนโลยีใหม่เป็นเรื่องสำคัญในการเอาตัวรอดในตลาด

วิกฤตพลังงาน ธุรกิจเอสเอ็มอี ญี่ปุ่น

ราคาพลังงานพุ่งสูง ส่งผลกระทบต่อแรงจูงใจในการลงทุนในอนาคต (TOHKEN THERMO TECH)

พลังงานเป็นเรื่องสำคัญมากในธุรกิจด้าน Heat Treatment เพราะจำเป็นต้องใช้พลังงานปริมาณมหาศาล ซึ่งเมื่อผนวกกับราคาพลังงานที่พุ่งสูง ทำให้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาบริษัทต้องเสียค่าไฟมากขึ้น 34% และเสียค่าแก๊สเพิ่มขึ้น 53% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า อีกทั้งวิกฤตชิ้นส่วนขาดตลาดในกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ยังทำให้ยอดออเดอร์ลดลงอีกด้วย

นาย Takashi Kawasaki เปิดเผยว่าบริษัทได้มุ่งเจรจากับลูกค้าเพื่อขอขึ้นราคาสินค้าตั้งแต่เดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม ราคาที่เรียกร้องนั้นเป็นการปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตก่อนการเกิดสงครามรัสเซียยูเครนเท่านั้น ทำให้บริษัทจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นอีกรอบ 

นอกจากนี้ ทางบริษัทยังมีแผนลดการพึ่งพา Heat Treatment และมองหาโอกาสใหม่ในการทำ Treatment แบบอื่น ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น การขึ้นราคาสินค้าจึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการประคับประคองธุรกิจให้ควบคู่ไปกับการลงทุนได้ และได้เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นขยายเครดิตภาษีเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่พยายามทำกำไรด้วย

นาย Teruo Ohyama ประธานบริษัท TONEZ ธุรกิจด้าน Heat Treatment อีกราย เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้เริ่มเรียกร้องขอขึ้นราคากระบวนการชุบร้อน 10% อย่างไรก็ตาม ลูกค้าส่วนหนึ่งกลับยอมรับการขึ้นราคาได้มากสุดที่ 3-4% และบางรายตอบว่าจะย้ายออเดอร์ไปยังบริษัทอื่นแทนหากขึ้นราคา

วิกฤตพลังงาน ธุรกิจเอสเอ็มอี ญี่ปุ่น

ต้นทุนผันแปรอย่างค่าไฟและแก๊ซเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% (TONEZ)

โดยในปี 2021 ที่ผ่านมา บริษัทพลิกกลับมาทำกำไรได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังผลประกอบการที่ดีในปีนี้ แม้ว่าบริษัทจะพยายามรับออเดอร์มากขึ้นพร้อมกับควบคุมต้นทุนก็ยังเป็นเรื่องยาก

ปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาเรลล์เหมือนเมื่อช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 2010  ซึ่งแม้ว่าบริษัทจะขึ้นราคาค่าบริการ Heat Treatment แล้วแต่ก็ยังติดตัวแดงอยู่ ซึ่งนาย Teruo ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมในฐานะประธาน Seibu Metal Heat Treatment Association ว่า ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างยิ่งในธุรกิจ Heat Treatment และหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไปอีก 2 - 3 ปี อาจทำให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับลดจำนวนพนักงานลงก็เป็นได้

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินเยนยิ่งทำให้วิกฤตพลังงานในญี่ปุ่นรุนแรงขึ้น ซึ่งหากญี่ปุ่นไม่กลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ที่พิสูจน์แล้วว่าปลอดภัย ก็อาจทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงอีก และการจะเดินตามเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนก็เป็นเรื่องยากขึ้น

นาย Junpei Fujita รองนักวิจัยอาวุโส Mitsubishi UFJ Research & Consulting สะท้อนมุมมองว่า ปัจจุบันสาเหตุที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเกิดจากสองปัจจัย หนึ่งคือราคาทรัพยากรอย่างน้ำมัน และสองคือการอ่อนค่าของเงินเยนที่ทำให้การนำเข้ามีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาจะเป็นไปได้ง่ายหากต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วยความเร็วปกติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือต้นทุนพุ่งสูงอย่างกะทันหัน ทำให้บริษัทเอสเอ็มอีไม่สามารถแบกรับภาระและแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง

วิกฤตพลังงาน ธุรกิจเอสเอ็มอี ญี่ปุ่น

นาย Junpei Fujita รองนักวิจัยอาวุโส Mitsubishi UFJ Research & Consulting

ล่าสุด องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC) มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ผ่านมาทำให้เป็นไปได้ว่าญี่ปุ่นจะประสบปัญหาค่าไฟแพงตลอดปี 2022 นี้ ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบและพลังงานซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อการรักษาสภาพคล่องของธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างมาก 

ในปี 2022 นี้จะเป็นอีกปีที่วิกฤตต้นทุนจะส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจในทุกขนาด และรัฐบาลจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังอ่อนแรงจากการระบาดของโควิดให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

นอกจากนี้ ยังแสดงความเห็นสนับสนุนการกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อย่างปลอดภัย เพื่อช่วยลดแรงกดดันด้านพลังงานของญี่ปุ่น

 

#วิกฤตพลังงาน #SME #อุตสาหกรรมการผลิต #ญี่ปุ่น #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH