ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 2022 ต้นทุนพุ่ง

ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อ่วม! เจอหลายมรสุม ดันต้นทุนพุ่ง

อัปเดตล่าสุด 7 มี.ค. 2565
  • Share :

เปิดต้นปี 2022 อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องเจอมรสุมหลายลูกที่กระหน่ำเข้ามา ทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งกระทบทั้งค่ายรถผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

มรสุมที่กระหน่ำมาเริ่มตั้งแต่วิกฤตชิปขาดตลาดที่ปัจจุบันยังไม่คลี่คลายทำให้หลายค่ายต้องลดกำลังการผลิต ราคาวัตถุดิบและวัสดุต่าง ๆ ที่สูงขึ้น ปัญหาด้านซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ การระบาดของโควิดที่ยังไม่สิ้นสุด รวมไปถึงวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่เพิ่มเข้ามา อุปสรรคเหล่านี้ล้วนทำให้การวางแผนการผลิตเกิดความปั่นป่วนไม่แน่นอน นำมาซึ่งการส่งมอบล่าช้า และต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

Advertisement

ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในญี่ปุ่นหลายรายต้องปรับตัวเพื่อประคับประคองให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ยกตัวอย่างเช่น Yorozu Corporation ได้เปลี่ยนมาวางแผนการผลิตแบบรายสัปดาห์ โดยใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ในการวางแผนล่วงหน้าหนึ่งอาทิตย์ให้สอดคล้องกับประกาศจากค่ายรถ จากนั้นจึงเริ่มลดต้นทุนในแต่ละส่วน เช่น ลดกะการทำงานในสัปดาห์ที่จะมาถึง เพื่อลดต้นทุนค่าแรงและค่าสาธารณูปโภค นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดสต๊อกจำนวนมากลงและบริหารสต๊อกสินค้าอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที และปรับตัวให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของค่ายรถได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างถัดมาคือ PIOLAX ได้คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2021 (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2022) บริษัทจะต้องแบกรับต้นทุนวัสดุที่เพิ่มขึ้นถึง 8 ร้อยล้านเยน หรือราว 6.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะวัสดุจำพวกเรซิ่นและพลาสติกซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากจากคลื่นความเย็นในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาจากการจัดส่งวัสดุที่ล่าช้า ทำให้ต้องเปลี่ยนมาขนส่งสินค้าทางเครื่องบินแทน เพื่อให้สามารถส่งมอบสินค้าได้ทันตามกำหนดการ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเช่นนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

จากปัญหาต้นทุนวัสดุที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับค่ายรถเพื่อลดสเปกวัสดุลง ซึ่งนาย Yukihiko Shimazu ประธานบริษัท แสดงความเห็นว่า หากสามารถลดต้นทุนวัสดุลงได้ 10 - 20% ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีแล้ว แม้ว่าในความเป็นจริงก็อยากลดต้นทุนให้สามารถชดเชยกันได้ทั้งหมด 

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ Kasai Kogyo ผู้ผลิตชิ้นส่วนตกแต่งภายในยานยนต์ซึ่งประสบปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยแก้ปัญหาด้วยการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า โดยอยู่ระหว่างพิจารณาย้ายฐานการผลิตจากสหรัฐฯ ไปเม็กซิโก จากญี่ปุ่นไปอาเซียน และจากยุโรปไปโมร็อกโก เนื่องจากพบว่าเมื่อค่ายรถลดกำลังการผลิตลง แต่ต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนโดยรวมไม่ได้ลดลงตามไปด้วย เนื่องจากมีต้นทุนคงที่สูง โดยเฉพาะการผลิตเบาะหนัง ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างหาแนวทางแก้ไขในขณะนี้ 


#ชิ้นส่วนยานยนต์ #ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ #Automotive #อุตสาหกรรมยานยนต์ #ชิปขาดตลาด #ราคาวัตถุดิบ #ปรับตัว #ซัพพลายเชน  #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH