ญี่ปุ่นแก้กฎหมาย ลุยใช้ “โดรน” ขนส่ง-โลจิสติกส์

ญี่ปุ่นแก้กฎหมาย ลุยใช้ “โดรน” ขนส่ง-โลจิสติกส์

อัปเดตล่าสุด 11 ก.พ. 2564
  • Share :

♦ ญี่ปุ่นแก้กฎหมายการบินพลเรือน หนุนใช้โดรนในภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ คาดมีผลบังคับใช้ปีหน้า
♦ ระหว่างรอกฎหมาย นักวิจัยพัฒนาให้โดรนบินในเพดานบินต่ำลอดอุโมงค์ที่รถไฟกำลังวิ่งได้สำเร็จ
 

นับตั้งแต่ปี 2016 รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการโดรนขนส่งประจำเมืองชิบะ (Chiba City Drone Delivery Subcommittee) เพื่อศึกษาเทคโนโลยีโดรนในฐานะส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายการบินพลเรือนครั้งใหญ่เพื่อเตรียมความพร้อมให้ใช้โดรนขนส่งสินค้า ผลักดันอุตสาหกรรมโดรน และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้แข่งต่างชาติได้

โดยปัจจุบัน กฎหมายการบินพลเรือนของประเทศญี่ปุ่น มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการบินโดรน ดังนี้ 1. โดรน หมายถึงเครื่องบิน หรือเครื่องบินใบพัดที่ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องบินโดยสาร และสามารถควบคุมระยะไกลผ่านรีโมทหรือทำงานด้วยระบบนักบินอัตโนมัติ (Autopilot) 2. ห้ามบินเหนือความสูง 150 เมตร, พื้นที่สนามบิน และพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น 3. ต้องบินในเวลากลางวันเท่านั้น 4. ต้องบินในพื้นที่ที่มองเห็นโดรนได้ตลอดเวลา 5. ต้องบินห่างจากผู้คน อาคาร หรือสิ่งของอย่างน้อย 30 เมตร

ซึ่งคาดว่า หากกฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน 2022 ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ต้องการบินโดรนด้วยน้ำหนักเกิน 200 กรัม สามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจเพื่อบินโดรนเหนือความสูง 150 เมตร และสามารถบินโดรนเข้าใกล้พื้นที่สนามบิน และพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นได้มากกว่า 30 เมตร ได้ โดยไม่จำเป็นต้องบินในพื้นที่ที่มองเห็นได้ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจโลจิสติกส์ บริการรับส่งสินค้า การรักษาความปลอดภัยโดยตำรวจ และบริการอื่น ๆ ได้มากขึ้น

Mr. Kenzo Nonami ประธานมูลนิธิวิทยาการหุ่นยนต์ขั้นสูง (Advanced Robotics Foundation) จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในฐานะนักวิจัยโดรนระดับแนวหน้า และมีประสบการณ์ทำงานวิจัยกับ NASA ได้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการได้ประสบความสำเร็จในการทดลองใช้โดรนบินในเพดานบินต่ำลอดอุโมงค์ระหว่างที่ขบวนรถไฟสายเคโยวิ่งอยู่ โดยผู้ควบคุมใช้กล้องที่ติดไว้กับโดรนในการจับภาพเพื่อประกอบการตัดสินใจ

โดยความสำเร็จในครั้งนี้ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่สำหรับอุตสาหกรรมโดรนแล้วนับว่าเป็นก้าวสำคัญเป็นอย่างมาก และจะเป็นรากฐานไปสู่การขนส่งทางอากาศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเนื่องจากสามารถใช้โดรนบินลอดอุโมงค์รถไฟ ไปจนถึงอุโมงค์อื่น ๆ ได้ในอนาคต 

Mr. Kenzo Nonami ประธาน Advanced Robotics Foundation

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญ คือการทดลองบินโดรนที่เพดานบินต่ำในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมนี้ ซึ่งจะเป็นก้าวแรกในการวางโครงสร้างโลจิสติกส์ที่ใช้โดรนภายใต้เพดานบินนี้ และจะทำการทดลองขนส่งสินค้าเป็นระยะทาง 50 กิโลเมตรจากเมืองโยโกฮามะไปยังเมืองชิบะซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก อีกทั้งเป็นยังมีการจราจรจากอ่าวโตเกียวที่มีเรือจำนวนมาก ท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียวที่มีเครื่องบินขึ้นลงอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงถนนและรถไฟอีกหลายสาย

Mr. Kenzo Nonami เชื่อมั่นว่า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้วยโดรนขนส่งสินค้าทางอากาศทั้งแบบ B2C และ B2B จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายทางด้านโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการการขนส่งทางบกด้วยรถและรถไฟอีกด้วย

โดยการทดลองบินโดรนในพื้นที่ประชากรหนาแน่น มีจุดประสงค์ 3 ข้อ ดังนี้

1. พัฒนาโดรนที่มีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานการบิน
2. พัฒนาระบบควบคุม และระบบขับเคลื่อนสำรอง เพื่อให้บินต่อได้แม้เกิดปัญหาระหว่างการบิน
3. พัฒนาระบบควบคุมไร้สายที่เชื่อมต่อได้ตลอดการบินโดยไม่ขัดข้อง

โดยที่แล้วมา การทดลองบินโดรนขนส่งสินค้าในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นในประเทศญี่ปุ่นเกิดขึ้นได้ยากมาก และคาดการณ์ว่าการทดลองครั้งนี้จะขยับขยายให้ครอบคลุมไปยังเมืองอื่น ๆ ในอนาคต

Mr. Kenzo Nonami แสดงความเห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา สหรัฐฯ และจีนมีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมโดรนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำโดรนมาใช้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต ซึ่งในสหรัฐฯ มีบริษัทที่ได้รับใบอนุญาต 5 ราย และถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในช่วงวิกฤตโควิด ด้วยการขนส่งอาหาร ยา ไปจนถึงชุดตรวจโรคให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งเมื่อกฎหมายการบินฉบับใหม่ผ่าน ญี่ปุ่นก็จะสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมโดรนได้ดียิ่งขึ้น

 

ชมคลิปข่าว : ญี่ปุ่นแก้กฎหมาย ลุยใช้ “โดรน” ขนส่ง-โลจิสติกส์

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่

Facebook / Twitter : MreportTH

Youtube official : MReport

Line : @mreportth

Website : www.mreport.co.th