ทิศทางของนักลงทุนญี่ปุ่น

‘ญี่ปุ่น’ เบนเข็ม ลงทุนการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น

อัปเดตล่าสุด 11 ส.ค. 2565
  • Share :
  • 2,170 Reads   

ตั้งแต่ยุค 1990 นักลงทุนญี่ปุ่นออกไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่จากหลายปัจจัยเสี่ยงในทุกวันนี้ ทั้งสงครามการค้า โควิด ความขัดแย้งทางการเมือง และอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายธุรกิจญี่ปุ่นหันมาลงทุนการผลิตในประเทศ และลดความสำคัญของฐานการผลิตในต่างประเทศ ซึ่งแนวโน้มนี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง จนไม่อาจคาดคะเนได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป 

Advertisement

ผลกระทบต่อธุรกิจญี่ปุ่น

ข้อมูลจาก Teikoku Databank จัดทำแบบสำรวจผลกระทบจากสงครามรัสเซีย–ยูเครน เมื่อเดือนเมษายน 2022 ระบุว่า มีบริษัทญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนี้จำนวน 7,668 บริษัท ซึ่ง 8.1% ของบริษัทญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบได้พิจารณาย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ

โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2021 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่รัสเซียจะมีการรุกรานยูเครน ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น (DBJ) ได้จัดทำแบบสอบถามในลักษณะใกล้เคียงกัน และหนึ่งในหัวข้อของแบบสอบถามคือ “การกระจายซัพพลายเชนในต่างประเทศ” ซึ่งผลสำรวจพบว่า มีบริษัทญี่ปุ่นตัดสินใจย้ายซัพพลายเชนกลับเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า

สาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมการผลิตตัดสินใจย้ายกลับเข้ามาในประเทศหรือจัดหาซัพพลายจากในประเทศนั้น เกิดจากการระบาดของโควิดและสงครามการค้า และการอ่อนค่าของเงินเยนยังเป็นตัวกระตุ้นให้หลายบริษัทเร่งย้ายกลับประเทศเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับบริษัทที่ไม่สามารถย้ายฐานการผลิตกลับมาสู่ญี่ปุ่นได้ ก็มีการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยผลสำรวจจาก Mitsubishi UFJ Research & Consulting เมื่อเดือนธันวาคม 2021 เปิดเผยว่า จำนวนบริษัทที่ตัดสินใจเสริมความมั่นคงของซัพพลายเชนด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 40% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า

ข้อมูลจากสมุดปกขาว Monodzukuri 2022 กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ระบุว่า ผู้ประกอบการมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมความมั่นคงของซัพพลายเชนและรับมือกับวิกฤตชิปขาดตลาด

เมื่อปี 2020 METI ได้ผลักดันนโยบายสนับสนุนการถอนฐานการผลิตจากประเทศที่กำหนด ภายใต้ชื่อ “โครงการส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ สำหรับซัพพลายเชน ปี 2020” ซึ่งในช่วงแรกของโครงการมีทุนสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 5 แสนล้านเยน หรือราว 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมุ่งเป้าไปที่การสนับสนุนธุรกิจที่มีความสำคัญต่อซัพพลายเชน ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และวัตถุดิบที่มีความเสี่ยงเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่ผ่านมานั้นเติบโตได้ด้วยการลงทุนขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งนาย Saisuke Sakai หัวหน้านักวิเคราะห์อาวุโส Mizuho Information & Research Institute แสดงความเห็นว่า หากพิจารณาจากมุมมองทางด้านเศรษฐกิจแล้ว การย้ายกลับมาญี่ปุ่นเป็นเรื่องยาก และคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการผลิตญี่ปุ่นจะมุ่งขยายฐานการผลิตในต่างประเทศต่อไป

แน่นอนว่า การย้ายฐานการผลิตกลับคืนสู่ประเทศนั้น นอกจากเป็นการสร้างความมั่นคงแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจแล้วการสร้างรายได้เป็นสิ่งที่ไม่อาจขาดได้ ทำให้การสร้างสมดุลระหว่างการผลิตในประเทศและนอกประเทศ กลายเป็นปัญหาสำคัญยิ่งของญี่ปุ่น โดยปัจจุบันหลายบริษัทได้ขยายการลงทุนเสริมกำลังการผลิตในประเทศ อาทิ

  • SUBARU สร้างโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าที่เมือง Oizumi คาดการณ์ว่าจะเริ่มผลิตหลังปี 2027 ซึ่งเป็นการสร้างโรงงานใหม่ในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 60 ปี 
  • SMC ลงทุน 4 หม่นล้านเยน เชิญชวนซัพพลายเออร์ที่อยู่ใกล้เคียงโรงงาน Iwate มาใช้ที่ดินรวมกัน คาดเริ่มโครงการในปี 2025 
  • JFE Engineering สร้างโรงงานใหม่ที่จังหวัด Okayama ด้วยเงินลงทุนรวม 4 หมื่นล้านเยนสำหรับผลิต Monopile และเป็นครั้งแรกที่บริษัทจะผลิต Monopile ในญี่ปุ่น
  • Nihon Spindle Manufacturing สร้างอาคารใหม่ที่สำนักงานหลักเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตให้บริษัทในเครือ 2 พันล้านเยน
  • Renesas Electronics เตรียมเปิดใช้โรงงานในเมือง Kofu ที่ปิดไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ภายในปี 2024 และลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต Power Semiconductor 9 หมื่นล้านเยน 
  • Kyocera สร้างอาคารเพิ่มในโรงงานเดิมเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอื่น ๆ ด้วยเงินลงทุน 6.25 หมื่นล้านเยน คาดเริ่มผลิตปี 2023
  • TDK ลงทุน 7 พันล้านเยน สร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งใหม่ในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี คาดเริ่มผลิตภายใน 2023
  • Epson ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิต Scara Robot ในญี่ปุ่น 5 เท่าภายในปี 2025 คาดการณ์ลงทุนใน Epson Service เพิ่ม 4 พันล้านเยน เพื่อลดความเสี่ยงจากสงครามการค้าเนื่องจากมีฐานการผลิตหลักอยู่ในจีน
  • SUMCO ลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เวเฟอร์ในญี่ปุ่น 228,700 ล้านเยน และก่อสร้างโรงงานใหม่
  • Teijin Frontier ลงทุน 2 พันล้านเยน สร้างโรงงานผลิตเสื้อกาวน์แพทย์ ตั้งเป้าเริ่มผลิตธันวาคมนี้
  • Nippon Carbide Industries ย้านฐานการผลิต AGC จากจีนกลับสู่ญี่ปุ่น โดยปัจจุบันเตรียมเครื่องจักรรองรับเสร็จสิ้นแล้ว
  • Sumitomo Metal Mining ลงทุน 4 หมื่นล้านเยนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตวัสดุนิกเกิล โดยคาดว่าจะก่อสร้างโรงงานใหม่แล้วเสร็จในปี 2024 
  • IRIS OHYAMA สร้างโรงงานและศูนย์กระจายสินค้าโดยมีแผนเริ่มใช้งานภายในปี 2025 ย้ายฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนหนึ่งในจีนและประเทศอื่น ๆ กลับสู่ญี่ปุ่น ด้วยเงินลงทุนรวม 1 หมื่นล้านเยน

Epson ลดเสี่ยงสงครามการค้า เดินหน้าผลิต SCARA Robot ในญี่ปุ่น 

Seiko Epson มีแผนเพิ่มกำลังการผลิต SCARA Robot ในญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบัน ฐานการผลิตของเอปสันในจีนมีกำลังการผลิตหุ่นยนต์ SCARA มากกว่าโรงงานในญี่ปุ่นถึง 4 เท่า นั่นหมายถึงสัดส่วนกำลังการผลิตในญี่ปุ่นคิดเป็น 1 ใน 4 ของจีนเท่านั้น ทำให้เอปสันวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตในญี่ปุ่นเป็น 2 ใน 3 ของจีนภายในปี 2025 เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากสงครามการค้า และภาษีการนำเข้าหุ่นยนต์จากจีน

ด้วยเหตุนี้เอง กำลังการผลิต SCARA Robot ในญี่ปุ่นของเอปสันจะเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 5 เท่า โดยจะเน้นไปที่การเสริมกำลังการผลิตของโรงงานที่จังหวัดนางาโนะเป็นหลัก ขยายสายการผลิตเดิม และใช้ออโตเมชันในโรงงานมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะลงทุนรวม 4 พันล้านเยน หรือราว 29.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Renesas Electronics เปิดใช้โรงงานเก่า เดินหน้าตามแผนรัฐบาล

เมื่อปี 2014 Renesas Electronics ได้ปิดโรงงาน Kofu ไป อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทมีแผนเปิดโรงงานนี้เพื่อเดินสายการผลิต Power Semiconductor เพื่อรองรับความต้องการนำไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า และมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตโดยรวมขึ้นจากเดิม 2 เท่า ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ภายในปี 2024 และเนื่องจากการรักษาซัพพลายเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลญี่ปุ่น ทำให้ทางบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณายื่นเรื่องขอรับเงินสนับสนุนการลงทุนอีกด้วย

ผู้ผลิตญี่ปุ่นลดปัจจัยเสี่ยง แนวโน้มย้ายกลับประเทศเพิ่มต่อเนื่อง

โรงงานของ Renesas Electronics ที่มีแผนกลับมาเปิดใช้งานอีกครั้งในปี 2024

JFE Engineering ผลิตชิ้นส่วนกังหันลมในประเทศ

JFE Engineering หนึ่งในผู้ผลิตโซลูชันโรงงาน ได้สร้างโรงงานผลิต Monopile ซึ่งเป็นชิ้นส่วนฐานของกังหันลมที่จังหวัด Okayama และมีแผนเริ่มผลิตในเดือนเมษายน 2024 อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่ผลิตชิ้นส่วนชนิดนี้ในญี่ปุ่นอีกด้วย

ผู้ผลิตญี่ปุ่นลดปัจจัยเสี่ยง แนวโน้มย้ายกลับประเทศเพิ่มต่อเนื่อง

ภาพคอนเซ็ปต์โรงงานผลิต Monopile แห่งแรกในญี่ปุ่นของ JFE Engineering

นาย Kenji Kunitachi หัวหน้าฝ่ายขายทีมพลังงานลมแนวชายฝั่ง เปิดเผยว่า สาเหตุที่ตัดสินใจผลิตชิ้นส่วนกังหันลมในญี่ปุ่น เนื่องจากเล็งเห็นว่าญี่ปุ่นมีการเดินหน้านโยบายด้านพลังงานหมุนเวียน และกังหันลมเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการเติบโตในท้องตลาด อีกทั้งยังการสั่งวัสดุจาก JFE Steel ซึ่งเป็นบริษัทเครือเดียวกันยังส่งประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัท JFE Group โดยรวมอีกด้วย

คาดการณ์ว่า จะใช้เงินลงทุนรวมทั้งหมดราว 4 หมื่นล้านเยน หรือราว 296 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการสร้างโรงงานและเสริมกำลังการผลิตชิ้นส่วนทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง

มุมมองจากนักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัย Dai-ichi Life 

นาย Toshihiro Nagahama หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัย Dai-ichi Life Research Institute แสดงความเห็นว่า การที่ผู้ผลิตญี่ปุ่นมีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตกลับคืนสู่ญี่ปุ่นมากขึ้นนั้นเป็นผลจากค่าแรงของญี่ปุ่นเริ่มมีอัตราการปรับตัวที่ช้าลง แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ผู้ผลิตญี่ปุ่นลดปัจจัยเสี่ยง แนวโน้มย้ายกลับประเทศเพิ่มต่อเนื่อง

นอกจากนี้ หลังจากที่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครน ความมั่นคงของซัพพลายเชนและการรักษากำลังการผลิตจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และเพื่อที่จะลดความเสี่ยงจากการดิสรัปของซัพพลายเชนจากปัจจัยนอกประเทศและรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจเอาไว้นั้น การพึ่งพาตนเองในประเทศจึงมีความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา

อีกสาเหตุที่ช่วยให้ผู้ผลิตตัดสินใจได้ง่ายขึ้นมาจากการอ่อนค่าของเงินเยน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราจะเป็นเช่นไร  การลงทุนในประเทศก็เป็นกุญแจสำคัญสู่การเติบโตในอนาคตทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จากสภาพเศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียม ผลกระทบจากสภาพอากาศ และอื่น ๆ ได้ด้วยตัวเอง และยังส่งผลต่อเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงไปสู่ชีวิตของผู้คนโดยตรง

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

#บริษัทญี่ปุ่น #ลงทุน #อุตสาหกรรมการผลิต #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH