จับเทรนด์ Material Handling

จับเทรนด์ Material Handling กับโลกที่เปลี่ยนแปลง

อัปเดตล่าสุด 17 ต.ค. 2565
  • Share :
  • 1,954 Reads   

ปัจจุบันผู้ผลิตโซลูชันการขนถ่ายวัสดุ (Material Handling) กำลังมีความเคลื่อนไหวที่คึกคัก สืบเนื่องจากการเติบโตของธุรกิจ e-commerce ในหลายอุตสาหกรรมจนนำไปสู่การก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าจำนวนมาก ซึ่งเมื่อผนวกกับการขาดแคลนแรงงาน และแนวโน้มความนิยมของระบบอัตโนมัติแล้ว ทำให้ในที่สุด อุตสาหกรรม Material Handling กลายเป็นเสาหลักที่ขาดไม่ได้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนสังคมและชีวิตประจำวันของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป

Advertisement

การลงทุน e-commerce ที่เพิ่มขึ้น

นาย Ryoichi Okura ประธานบริษัท Okura Yusoki ผู้ออกแบบระบบลำเลียงสินค้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นที่ผันตัวเป็น e-commerce แม้จะมีไม่ถึง 10% แต่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด บริษัทได้ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการขนถ่ายและลำเลียงสินค้าให้กับแบรนด์เสื้อผ้า Adastria 

ศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ของ Adastria จะเป็นคลังสินค้าอัตโนมัติที่มีรถ AGV 120 คัน ชั้นจัดเก็บสินค้าแบบเคลื่อนที่ได้ 1,400 ชั้น ทำให้สามารถส่งออกสินค้าได้มากถึงวันละ 34,000 รายการ มากกว่าเดิม 1.6 เท่า และลำเลียงสินค้าจากชั้นวางโดยไม่ใช่มนุษย์อีกด้วย 

วิวัฒนาการจากหุ่นยนต์และเอไอ

ความต้องการโซลูชัน Material Handling ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อลดปริมาณงานในคลังสินค้าขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ระบบคลังสินค้าหุ่นยนต์ 3D (3 มิติ) ที่ Murata Machinery ส่งมอบให้กับ Alpen ในเดือนพฤศจิกายน 2021 นำเสนอหุ่นยนต์ทำหน้าที่จัดเก็บ ขนส่ง คัดแยก และหยิบสินค้าได้ในตัว ทำให้ได้เป็นระบบคลังสินค้าที่น่าสนใจอย่างมาก

ระบบหุ่นยนต์ 3D นี้พัฒนาขึ้นโดย EXOTEC ผู้ผลิตสัญชาติฝรั่งเศสที่พัฒนาให้เป็น Picking System ที่ใช้หุ่นยนต์ 3D นี้ ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่ง Exotech Japan, IHI Logistics Industry System, และ Okura Yusoki ต่างมีการจัดแสดงระบบเดียวกันนี้ในงาน Logis-Tech Tokyo 2022 ซึ่งนาย Jill Ballard ผู้จัดการฝ่ายขาย Exotech Japan กล่าวว่า บริษัทมีแผนรุกตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ๋อันดับ 3 ของโลก

ภายในงาน Logis-Tech Tokyo 2022 เทคโนโลยีใหม่ด้าน Material Handling ส่วนใหญ่มาจากยุโรปและสหรัฐฯ ฝั่งเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมีเพียง Tsubakimoto Chain ที่ตัดสินใจพัฒนา 3D Traveling Cart ซึ่งเตรียมเปิดตัวในเดือนกันยายนปีหน้า 

“ความท้าทายในปี 2024” เมื่อแรงงานไม่เพียงพอ

ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ญี่ปุ่น “ความท้าทายในปี 2024” กำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เนื่องจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานส่งผลมีการจำกัดชั่วโมงทำงานของคนขับรถบรทุก ซึ่งจะนำไปสู่การขาดแคลนคนขับรถบรรทุก และการกระจายสินค้าที่จะเกิดการหยุดชะงักได้

Toyota Industries จึงตัดสินใจพัฒนารถโฟล์คลิฟท์อัตโนมัติ ใช้ AI เพิ่มประสิทธิภาพการขนถ่ายสินค้าขึ้นลงรถบรรทุก เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในปี 2024 โดยร่วมมือกับผู้ผลิตรถบรรทุก บริษัทขนส่ง และบริษัทโลจิสติกส์หลายรายก่อตั้งบริษัทใหม่เพื่อแก้ปัญหานี้

รายงานสถิติการผลิตและการจัดส่งอุปกรณ์ระบบโลจิสติกส์ จัดทำโดยสมาคมระบบโลจิสติกส์ญี่ปุ่น (JILS) เปิดเผยว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา ยอดขายระบบโลจิสติกส์ในญี่ปุุ่นปิดที่ 539,300 ล้านเยน หรือราว 3,666 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ในขณะที่ยอดคำสั่งซื้อมีมูลค่ารวม 846,700 ล้านเยน หรือราว 5,756 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตในอนาคต

จับเทรนด์ Material Handling

บทสัมภาษณ์นาย Hiroshi Geshiro ประธานบริษัท Daifuku

ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง Daifuku ยังคงครองตำแหน่งผู้นำตลาด Material Handling ซึ่งนาย Hiroshi Geshiro ประธานบริษัท และประธานสมาคมอุปกรณ์ระบบโลจิสติกส์ของญี่ปุ่น (JIMH) ได้แสดงความเห็นต่อไว้ ดังนี้

จับเทรนด์ Material Handling

นาย Hiroshi Geshiro ประธานบริษัท Daifuku

มีความเห็นอย่างไรต่อตลาด Material Handling

“การพัฒนาโลจิสติกส์ให้เป็นระบบอัตโนมัติมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในยุคที่ประชากรลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และขาดแคลนแรงงานเช่นนี้ คีย์เวิร์ดของอุตสาหกรรมจึงเป็นคำว่าระบอัตโนมัติ และการลดแรงงาน แต่การจะพัฒนาระบบอัตโนมัติให้ง่าย จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์นานาประเภท ซึ่งผมหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับโลจิสติกส์ได้”

เห็นสิ่งใดจากงานแสดงสินค้าด้านโลจิสติกส์บ้าง

“โซลูชันในกลุ่ม AGV กำลังเพิ่มขึ้น มีผู้ผลิตต่างชาติเข้ามาในญี่ปุ่นมากขึ้น ในขณะที่บริษัทญี่ปุ่นที่พัฒนาระบบของตัวเองกลับลดน้อยลง ซึ่งสำหรับบริษัทญี่ปุ่นก็อยากให้เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นสามารถออกสู้เวทีโลกได้”

ทำไมจึงทุ่มเทกับการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง

“เราพัฒนา AGV และหุ่นยนต์ออกมาหลายชนิดเพื่อให้สามารถนำเสนอระบบโลจิสติกส์อย่างเข้มแข็ง ซึ่งในยุคของ e-commerce นี้ บริษัทต่าง ๆ แข่งขันกันแบบวินาทีต่อวินาที หากผู้ผลิตไม่มีระบบเตรียมเอาไว้ก็จะไม่สามารถนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ไปจนถึงแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ยาก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรมีเทคโนโลยีของตัวเอง”

ปัญหาของภาคอุตสาหกรรมคืออะไร

“ระบบโลจิสติกส์ประกอบจากชิ้นส่วนหลายชนิด ซึ่งการขาดแคลนชิ้นส่วนได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง หากมองในมุมแผนดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (BCP) แล้ว ควรคำนึงเรื่องซัพพลายเชน การเพิ่มสต๊อกสินค้า และการออกแบบชิ้นส่วนใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละบริษัท”

วาดภาพอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ไว้อย่างไร

“คิดว่าในปี 2030 อุตสาหกรรมนี้จะมีความอัตโนมัติยิ่งขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยั่งยืนมากขึ้น เมื่อคำนึงถึงการสร้างสังคมที่ยั่งยืนแล้ว อุตสาหกรรม Material Handling ยังมีความท้าทายอีกมาก ซึ่งเรากำลังพิจารณาความเป็นไปได้ของธุรกิจใหม่ ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อรับมือกับวิกฤตด้านอาหารอีกด้วย”

 

 

ที่มา:  Nikkan Kogyo Shimbun

 

#MaterialHandling #โลจิสติกส์ #เทรนด์เทคโนโลยี #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH