ญี่ปุ่นกระทบหนัก บริษัทใหญ่รายได้เฉลี่ยลดกว่า 70% ในไตรมาส 2/2020

ญี่ปุ่นกระทบหนัก บริษัทใหญ่รายได้เฉลี่ยลดกว่า 70% ในไตรมาส 2/2020

อัปเดตล่าสุด 20 ส.ค. 2563
  • Share :
  • 915 Reads   

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2020 สำนักวิเคราะห์ SMBC NIKKO SECURITIES รายงานถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคธุรกิจญี่ปุ่น โดย 608 บริษัทลำดับแรกในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (TSE)  ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 41.6% จากจำนวนบริษัททั้งหมดในกระดานแรก มีรายได้เฉลี่ยในไตรมาสที่ 2 ลดลงถึง 71.3%จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และมีรายได้จากการดำเนินงานลดลง 72.6% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก และทางอากาศ รวมถึงธุรกิจค้าปลีก 

ในขณะที่ธุรกิจด้านเซมิคอนดักเตอร์, 5G, ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI), ซอฟต์แวร์, และเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ยา มีรายได้ได้เติบโตสวนทาง รวมถึงบริการรับส่งสินค้าที่มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

l ผลกระทบจากล็อคดาวน์ที่มากกว่าการคมนาคมขนส่ง 

ญี่ปุ่นกระทบหนัก 608 บริษัทใหญ่มีรายได้เฉลี่ยลด 71.3% ในไตรมาส 2/2020

อุตสาหกรรมการบิน และอากาศยาน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 

เป็นที่ทราบกันดีว่า มาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้จำนวนผู้เดินทาง และการขนส่งสินค้าลดลงเป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เช่น ANA Holdings ซึ่งขาดทุนถึง 1.59 แสนล้านเยน หรือราว 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณการขนส่งด้านผู้โดยสารลดลงถึง 90% และคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลาอีก 1 ปีครึ่งในญี่ปุ่น และอีก 3 ปีในระดับโลก กว่าที่ความต้องการจะกลับมาเทียบเท่าก่อนโควิด ซึ่ง Mr. Ichiro Fukuzawa ผู้อำนวยการ ANA Holdings แสดงความเห็นว่า “หากเดินตามแผนธุรกิจเดิมเหมือนเช่นที่ผ่านมา อาจทำให้บริษัทไม่สามารถอยู่รอดถึงวันที่ความต้องการฟื้นตัวกลับมาได้”

นอกจากอากาศยานแล้ว การรถไฟเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยในไตรมาสที่ผ่านมานี้ East Japan Railway Company มีจำนวนผู้โดยสารรถไฟชินคันเซ็นลดลง 80% รถไฟทั่วไปลดลง 40% และมีรายได้รวมลดลง 60% ซึ่ง Mr. Ryoji Akaishi ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแสดงความเห็นว่า “อุตสาหกรรมรถไฟต้องปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป”

และผลกระทบนี้ ไม่เพียงแต่ผู้ให้บริการด้านคมนาคมเท่านั้น โดย NTN Bearing ซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์รายงานว่า จากปริมาณการเดินทางด้วยรถยนต์ที่ลงลงในไตรมาสที่ผ่านมา  ทำให้ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ และธุรกิจเครื่องจักรกลของบริษัทขาดทุน ซึ่งคาดว่าจะขาดทุนต่อเนื่องจนสิ้นปีงบประมาณ 2020 นี้ 

ส่วน Takisawa Machine Tool รายงานว่า การเดินทางด้วยยานยนต์ที่ลดลง ทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลงตามไปด้วย ทำให้ในไตรมาสที่ผ่านมายอดขายในประเทศลดลงถึง 60% อย่างไรก็ตาม เริ่มปรากฎสัญญาณบวกในเดือนมิถุนายน ซึ่งคาดการณ์ว่าเป็นผลจากมาตรการสนับสนุน SME จากรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ทำให้ภาคการผลิตเริ่มเดินเครื่องได้อีกครั้ง

l ต้องปรับ หากอยากรอด

Panasonic รายงานว่า ในไตรมาสที่ผ่านมานี้เป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 9 ปี และสูญเสียรายได้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม Mr. Hirokazu Umeda ผู้อำนวยการบริษัท แสดงความเห็นว่า “ความต้องการในด้านอื่น เช่น เครื่องปรับอากาศ, 5G, จนถึงอุปกรณ์ดาวเทียมจะสูงขึ้นจากโควิด และบริษัทฯ จะมุ่งตอบสนองความต้องการเหล่านี้” ในขณะที่ Sekisui Chemical ผู้ผลิตเก้าอี้เครื่องบินได้รายงานถึงผลประกอบการที่ลดลงเช่นเดียวกัน

Canon รายงานว่า ในไตรมาสที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่มีการขาดทุนจากธุรกิจเครื่องใช้สำนักงาน โดยยอดขายปริ้นเตอร์ในไตรมาสที่ 2 ได้ลดลงเป็นอย่างมากจากการปรับมาทำงานแบบ Work From Home ซึ่ง Mr. Toshizo Tanaka รองประธานบริษัทคาดการณ์ว่า แม้จะพุ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีกมากกว่าจะกลับมามั่นคงได้ และคาดว่าการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้คงเป็นไปได้ยาก ซึ่ง Ricoh ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้สำนักงานได้แสดงความเห็นตรงกัน โดยคาดการณ์ว่า บริษัทจะมีรายได้ลดลง 87.3% ในปีงบประมาณนี้ เนื่องจากความต้องการในตลาดยุโรปและสหรัฐฯ ลดลงเป็นอย่างมาก

KOKUYO ผู้ผลิตเก้าอี้สำนักงาน รายงานว่าความต้องการที่ลงลงในช่วงครึ่งปีแรกทำให้บริษัทประสบปัญหาขาดทุน และให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนมาผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการตามไลฟ์สไตล์ใหม่หลังโควิดแทน

l สหรัฐฯ และจีน ความหวังหลักอุตสาหกรรมยานยนต์

อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหารุนแรงทั่วโลก จากยอดขายยานยนต์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาลดลงเป็นอย่างมาก โดยในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา บริษัทยานยนต์ญี่ปุ่นที่มีผลประกอบการขาดทุน คือ Nissan, Mitsubishi, และ Mazda ซึ่ง Mr. Makoto Uchida ประธานบริษัท Nissan แสดงความเห็นว่า “การปรับเปลี่ยนแนวทางของบริษัทฯ จะกลายเป็นประเด็นสำคัญ และยากลำบากกว่าที่ผ่านมา” พร้อมคาดการณ์ว่าบริษัทจะขาดทุนสุทธิ 670,000 ล้านเยน หรือราว 6,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ Mr. Takao Kato CEO บริษัท Mitsubishi Motors คาดการณ์ตรงกัน และย้ำว่า “การปรับผังธุรกิจคือสิ่งที่ขาดไม่ได้” ส่วน Mr. Akira Marumoto ประธานบริษัท Mazda แสดงความเห็นว่า “จำเป็นต้องลด Fixed Cost ในทุกภาคส่วน ลดต้นทุนการพัฒนา และเน้นแต่ตลาดที่มีศักยภาพแทน”

ในขณะที่ซัพพลายเออร์รายใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น Denso และ Aisin Seiki ต่างรายงานผลประกอบการติดลบในไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าจะสามารถกลับมาทำกำไรได้หลังจากพ้นจุดต่ำสุดในเดือนพฤษภาคมมาแล้ว สืบเนื่องจากสถานการณ์ในตลาดจีนและสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มดีขึ้นตามลำดับ

l ธุรกิจรับส่งสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และ Work From Home คือ โอกาสใหม่จากโควิด

ญี่ปุ่นกระทบหนัก 608 บริษัทใหญ่มีรายได้เฉลี่ยลด 71.3% ในไตรมาส 2/2020

ปริมาณผู้ใช้บริการรับส่งสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก(YAMATO HOLDINGS)

YAMATO HOLDINGS ผู้ให้บริการรับส่งพัสดุรายใหญ่จากญี่ปุ่นรายงานว่ามาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ทำให้บริการรับส่งสินค้า และพัสดุเพิ่มขึ้นและทำกำไรให้บริษัทได้ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่ง Mr. Kenichi Shibasaki รองประธานบริษัทแสดงความเห็นว่า “เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย” โดยมีปริมาณผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 17.1% และอยู่ระหว่างการเร่งส่งเสริมเครื่องมือด้าน E-Commerce เพื่อให้เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน 

ส่วนทางด้านผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน รายงานว่าในไตรมาสที่ 2 นี้ การทำงานทางไกล ทำให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ต้องติดตั้ง และเครื่องปรับอากาศตั้งพื้น

Fujitsu คาดการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2020 นี้ บริษัทจะสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนได้เป็นอย่างมาก โดย Mr. Takahito Tokita ประธานบริษัทแสดงความเห็นว่า “ปัจจุบันตลาดมีการชะลอตัวจริง แต่คาดการณ์ว่าจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และความต้องการด้าน Work From Home จะเพิ่มสูงขึ้นอีกหลังจากนี้” ซึ่ง NEC Corp รายงานตรงกัน โดยไม่ปรับลดตัวเลขการคาดการณ์ที่เปิดเผยออกมาแต่อย่างใด พร้อมย้ำว่า “ความต้องการใหม่จาก Work From Home เพียงพอจะชดเชยยอดขายผลิตภัณฑ์หมวดหมู่ที่ลดลง”

นอกจากนี้ ปริมาณการใช้พลังงานที่สูงขึ้น ทำให้มีรายงานจาก Hitachi Zosen Corporation ว่า ธุรกิจด้านโรงไฟฟ้าสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนได้ และคาดว่าจะมั่นคงไปตลอดปีงบประมาณนี้

อีกธุรกิจที่มีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมานี้จากการมาของโควิด คือเครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ยา ซึ่งบริษัทยาในญี่ปุ่นมีรายได้ในไตรมาสที่แล้วเพิ่มขึ้นทั้งจากการขายในประเทศ และการส่งออก ส่งผลให้บางบริษัท เช่น Takeda Pharmaceutical ประกาศปรับยอดคาดการณ์ผลประกอบการปีงบประมาณนี้ให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่ากำไรเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยมีผลิตภัณฑ์ขายดีคือยาฆ่าเชื้อ และน้ำยาทำความสะอาด