เจาะแผนฮอนด้า 2023 การเปลี่ยนแปลงองค์กรและการใช้พลังงานไฟฟ้า

เจาะแผนฮอนด้า 2023 การเปลี่ยนแปลงองค์กรและการใช้พลังงานไฟฟ้า

อัปเดตล่าสุด 13 พ.ค. 2566
  • Share :
  • 1,492 Reads   

ฮอนด้าเผยแผนธุรกิจปี 2023 ตั้งเป้าผลิตรถอีวี 2 ล้านคันต่อปีภายใน 2030 พัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่ เตรียมความพร้อมผลิตอีวีเต็มรูปแบบ และเป็นอีกค่ายที่จะพัฒนาโมบิลิตี้ตามแนวคิด “Software-defined mobility” 

Advertisement

สิ้นเดือนเมษายน 2023 ฮอนด้า (Honda) รายงานบทสรุปแผนธุรกิจปี 2023 กับความคิดริเริ่มในการเปลี่ยนแปลงองค์กรและการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีใจความสำคัญดังนี้

ฮอนด้า และทิศทางในอนาคตของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟฟ้า วางแผนผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 2 ล้านคันต่อปีภายในปี 2030 และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการขาย EV และ FCEV เป็น 100% ทั่วโลกภายในปี 2040 โดยมีรายละเอียดในแต่ละภูมิภาค ดังนี้

  • อเมริกาเหนือ ร่วมพัฒนา Honda Prologue และ Acura ZDX กับ General Motors (GM) โดยตั้งเป้าเริ่มจำหน่ายในปี 2024 และนำสถาปัตยกรรม E&E รุ่นใหม่ที่พัฒนาต่อจากแพลตฟอร์มปัจจุบันมาใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าขนาดกลางและขนาดใหญ่เพื่อสุ่งเข้าสู่ตลาดในปี 2025
  • จีน จำหน่าย e:NS2 และ e:NP2 ในปี 2024 และต่อยอดรถต้นแบบ “e:N SUV xù” เป็นรุ่นผลิตจริงเพื่อเข้าสูตลาดในปีเดียวกัน ก่อนเปิดตัวอีวีรุ่นใหม่รวม 10 รุ่นในปี 2027 และตั้งเป้ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในปี 2035 ซึ่งเร็วกว่าทุกภูมิภาค
  • ญี่ปุ่น จำหน่ายรถมินิอีวีที่พัฒนาจาก N-VAN ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ตามด้วยอีวีที่พัฒนาต่อจาก N-ONE ในปี 2025 และอีวีขนาดเล็ก 2 รุ่นในปี 2026

เจาะแผนฮอนด้า 2023 การเปลี่ยนแปลงองค์กรและการใช้พลังงานไฟฟ้า

Honda Prologue (Image Credit: Honda Motor)

นอกจากนี้  ฮอนด้ายังมีแผนให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ทันกับการปรับปรุงกลุ่มผลิตภัณฑ์อีวี สำหรับการชาร์จไฟที่บ้านนั้น ปัจจุบันมี Honda SmartCharge™ ซึ่งเป็ฯบริการชาร์จ EV ที่มีให้บริการในอเมริกาเหนือ และฮอนด้ากำลังวางแผนที่จะเปิดตัวธุรกิจพลังงานที่ใช้ความสามารถในการจ่ายพลังงานของอีวี ในฝั่งของการชาร์จไฟในที่สาธารณะ ฮอนด้านจะร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายการชาร์จที่สะดวกและเชื่อถือได้

จักรยานยนต์ไฟฟ้า ส่งสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า “EM1 e” ที่มาพร้อมแบตเตอรี่ Honda Mobile Power Pack e เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น ยุโรป และอินโดนีเซียถายในปี 2023 และตั้งเป้าเปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกรวม 10 รุ่น หรือมากกว่าภายในปี 2025 และตั้งเป้ายอดขายปี 2030 ไว้ที่ 3.5 ล้านคัน หรือเทียบเป็นสัดส่วน 15% ของยอดขายจักรยานยนต์ทั้งหมด

เจาะแผนฮอนด้า 2023 การเปลี่ยนแปลงองค์กรและการใช้พลังงานไฟฟ้า

EM1 e (Image Credit: Honda Motor)

และเพื่อที่จะให้สามารถเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นคง ฮอนด้าจึงร่วมเป็นพันธมิตรกับหลายบริษัทในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การจัดหาและผลิตแบตเตอรี่ไปจนถึงทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิล อีกทั้งยังมุ่งสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่มีฮอนด้าเป็นศูนย์กลางเพื่อสร้างรากฐานทางธุรกิจที่ยั่งยืนอีกด้วย

โดยฮอนด้าได้ร่วมมือกับบริษัทในภูมิภาคต่าง ๆ ในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบเหลว (Liquid lithium-ion batteries) ไม่ว่าจะเป็น GM, LG Energy Solution, CATL, Envision AESC, และอื่น ๆ

เจาะแผนฮอนด้า 2023 การเปลี่ยนแปลงองค์กรและการใช้พลังงานไฟฟ้า

Image Credit: Honda Motor

ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2020 ฮอนด้าจะพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่ ทั้งแบตเตอรี่เซมิโซลิดสเตต (Semi-Solid-state Battery) และแบตเตอรี่ออลโซลิดสเตต (All Solid-state Battery) โดยจะเริ่มทำการทดลองผลิตแบตเตอรี่ออลโซลิดสเตตภายในปี 2024 และคาดการณ์ว่าจะนำมาใช้งานจริงได้ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษนี้ 

ไม่เพียงแต่แบตเตอรี่เท่านั้น แต่ฮอนด้ายังได้เตรียมความพร้อมในการผลิตอีวีเต็มรูปแบบ ด้วยการ re-tool โรงงานในสหรัฐฯ รวม 3 แห่ง เพื่อติดตั้งสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่น อีกทั้งตั้งเป้าใช้พลังงานสะอาด 100% ในโรงงาน โดยจะเริ่มที่โรงงานจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น ภายในปีงบประมาณสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2026 เป็นโรงงานแรก

นอกจากนี้ ฮอนด้ายังอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบการผลิตทั่วโลกเพื่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับ 3 ด้าน ดังนี้

1. จัดตั้งสายการผลิตที่ใช้ระบบอัตโนมัติและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงของแรงงานในอนาคต
2. จัดตั้งโรงงานและซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่รถยนต์ไฟฟ้าได้ในระยะเวลาอันสั้น
3. ใช้กระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด และใช้วิธีหมุนเวียนทรัพยากร

ไม่เพียงแต่ยานยนต์เท่านั้น แต่ฮอนด้ายังมีเป้าหมายอื่น คือ การสร้างอิสระในการขับขี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางการจราจรด้วยรถยนต์และจักรยานยนต์ ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายนี้ได้ ฮอนด้าจึงยก 5 ปัจจัยสำคัญในการผลักดันโมบิลิตี้ไว้ ดังนี้

1. ความเป็นกลางทางคาร์บอนของชุดต้นกำลัง (Power unit) 
2. ระบบการจัดการพลังงานที่ช่วยให้สามารถใช้ชุดต้นกำลังเป็นแหล่งพลังงานได้
3. การหมุนเวียนทรัพยากร
4. AD (การขับขี่อัตโนมัติ) / ระบบขับขี่ปลอดภัย ADAS (advanced driver-assistance system)
5. IoT (Internet of Things) /Connected Car

เจาะแผนฮอนด้า 2023 การเปลี่ยนแปลงองค์กรและการใช้พลังงานไฟฟ้า

Image Credit: Honda Motor

ซึ่งฮอนด้าเป็นอีกค่ายที่จะพัฒนาโมบิลิตี้ตามแนวคิด “Software-defined mobility” ซึ่งใช้ซอฟต์แวร์ในการสร้างมูลค่าให้ฮาร์ดแวร์และบริการ ด้วยการพัฒนาสถาปัตยกรรม E&E และระบบปฏิบัติการของฮอนด้าเพื่อใช้งานในรถอีวีขนาดกลางและขนาดใหญ่ในอเมริกาเหนือภายในปี 2025 ซึ่งบริษัทจะเดินหน้าพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับระบบปฏิบัติการนี้เพื่อเพิ่มฟังก์ชันและบริการต่าง ๆ ให้กับลูกค้าต่อไป
นอกจากนี้ ฮอนด้ายังมีแผนเพิ่มการจ้างพนักงานใหม่เป็นสองเท่า และมีแผนจ้างผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อร่วมพัฒนาระบบปฏิบัติการ, ระบบขับขี่อัตโนมัติ, Connected Vehicle, และบริการอื่น ๆ อีกด้วย

เจาะแผนฮอนด้า 2023 การเปลี่ยนแปลงองค์กรและการใช้พลังงานไฟฟ้า

Image Credit: Honda Motor

 

#ฮอนด้า #mobility #Honda #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH