กกร. จัดเสวนา CPTPP หวังสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วน เน้นชาติได้ประโยชน์สูงสุด

กกร. จัดเสวนา CPTPP หวังสร้างความเข้าใจทุกภาคส่วน เน้นชาติได้ประโยชน์สูงสุด

อัปเดตล่าสุด 3 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 562 Reads   

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม 2563 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จัดเวทีเสวนา CPTPP ถกผลประโยชน์ชาติ สร้างความเข้าใจให้ทุกภาคส่วน พิจารณาผลได้เสีย กระบวนการ ขั้นตอน และระยะเวลาสำหรับการเข้าร่วมเจรจาความตกลง CPTPP หวังประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การพิจารณาเข้าร่วมเจรจา CPTPP นั้น นอกจากประโยชน์ที่ไทยจะได้รับแล้ว จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบอย่างรอบด้านด้วย กกร. จึงได้จัดงานเสวนาเรื่อง “ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และ ประสบการณ์จากประเทศภาคี” เพื่อรับทราบข้อมูล ประสบการณ์ และแนวทางที่เป็นประโยชน์ รวมถึงมาตรการรองรับผลกระทบจากผู้แทนประเทศภาคี CPTPP ตลอดจน กระบวนการเจรจา ขั้นตอน และแนวทางการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

นายปรีดี กล่าวเพิ่มเติมว่า กกร. หวังว่า ข้อคิดเห็นและประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้เสวนาในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อมุมมองของภาคธุรกิจเอกชน มีความเข้าใจในเชิงลึก และนำไปสู่การพิจารณาที่ถูกต้องในเรื่อง CPTPP ต่อไป

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดสัมมนา CPTPP ครั้งนี้ เป็นการแสดงความคิดเห็นให้ได้รับฟังว่าการเข้าร่วม CPTPP แล้วไทยจะได้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนและต้องตัดสินใจให้เร็วว่าไทยจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม “วันนี้จะร่วมฟังความคิดเห็นด้วยความจริง ซึ่งเราเข้าไปร่วมเจรจาไม่ใช่ไปร่วมในคณะฯ เป็นเรื่องที่คิดว่าเป็นจุดที่ดีที่ไทยสามารถเข้าร่วมเจรจาได้” นายกลินท์กล่าว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.ได้จัดตั้งคณะทำงานโดยมีนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่ศึกษาถึงผลกระทบ ข้อเท็จจริง รวมทั้งประเด็นที่ดีและไม่ดีต่างๆ สำหรับประเด็นที่ไม่ดีต้องกลับมาศึกษาว่าสามารถเจรจาต่อรองได้หรือไม่ หากไทยได้เข้าร่วมในฐานะผู้ก่อตั้ง จะช่วยให้มีส่วนร่วมในการกำหนดกฎกติกาให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มากที่สุดได้ และมองว่าไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจโลกพอสมควร โดยเฉพาะในอาเซียน แต่ยังกังวลในเรื่องเกษตร เมล็ดพันธุ์พืช และยา ที่ต้องมาทำความเข้าใจว่ากฎบัตรของ CPTPP ครอบคลุมลึกมากน้อยแค่ไหน ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างต้องมองสิ่งที่เราได้เปรียบ เช่น การเกษตรที่สามารถวิจัยและพัฒนาได้ เป็นต้น

สำหรับผู้เข้าร่วมงานเสวนาในวันนี้ประกอบด้วยผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ และ ผู้แทนจากประเทศสมาชิก CPTPP ในการที่จะหารือถึงประเด็นที่สำคัญในบริบทของ CPTPP อาทิ Mrs.Tran Thi Thanh My (เจิ่น ถิ แทง มี) Commercial Counsellor, Trade Office - Vietnam Embassy in Thailand, Mr.Hugh Robilliard (ฮิ้วจ์ โรบิลลิอาร์ด) Acting Deputy Head of Mission, Australian Embassy in Bangkok, Mr. Ryohei Gamada, (เรียวเฮ กามาดะ) Senior Economist, The Japan External Trade Organization (JETRO), นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Mrs. Tran Thi Thanh My (เจิ่น ถิ แทง มี) ที่ปรึกษาการพาณิชย์ จากสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวในการเสวนาว่า ในประเทศสมาชิก CPTPP เวียดนามยังไม่มี FTA กับ 3 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก และเปรู ภายหลังเข้าร่วม CPTPP ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 500 ล้านคนแล้ว เวียดนามคาดว่า CPTPP จะช่วยส่งเสริมการค้าและเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าสิ่งทอ อาหารทะเล และสินค้าเกษตร เวียดนามยังคาดหวังว่า CPTPP จะทำให้ภาคการบริการและการลงทุนเติบโตขึ้น มีบรรยากาศการค้าและการลงทุนใหม่ๆ เข้ามา สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดคือ ภายหลังการเข้า CPTPP แล้ว เวียดนามมีมูลค่าการค้าเกินดุลกับทุกประเทศ ยกเว้น ออสเตรเลีย โดยเวียดนามจะพยายามให้ข้อมูลและความรู้ในการใช้ประโยชน์จาก CPTPP แก่ผู้ประกอบการมากขึ้น ทั้งนี้ CPTPP อาจส่งผลกระทบทางลบแก่สินค้าบางประเภท เช่น ยานยนต์ เกษตร สินค้าแปรรูป และผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น

Mr. Hugh Robilliard (ฮิ้วจ์ โรบิลลิอาร์ด) รักษาการอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า CPTPP ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว การส่งออกของออสเตรเลียมีตัวเลขที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่ออสเตรเลียยังไม่เคยมี FTA ด้วยอย่างแคนาดาและเม็กซิโก โดยออสเตรเลียคาดหวังว่าจะสามารถส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพอย่างเช่นน้ำตาล รวมถึง การส่งออกภาคบริการอย่างเช่น ด้านการศึกษา ซึ่งในการประเมินช่วง 1 ปีที่ผ่านมาที่ออสเตรเลียเข้าร่วม CPTPP นั้น ยังมองไม่เห็นภาพการเติบโตทางการค้าที่ชัดเจนมากนัก แต่คาดว่าหลังจากนี้ การค้าการลงทุนจะมีแนวโน้มที่เติบโตมากขึ้น สำหรับผลกระทบจากการเข้าร่วมเจรจา CPTPP กล่าวได้ว่า จะแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่แต่ละประเทศต้องสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในประเทศของตนเอง โดยออสเตรเลียแสดงความยินดีที่ไทยจะพิจารณาเข้าร่วมเจรจา CPTPP โดยให้ความเห็นว่า การที่จะทำให้เกิดการยอมรับ CPTPP ควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล  การเข้าถึงข้อมูลการเจรจา การสังเคราะห์ข้อบทต่างๆ ในภาษาที่เข้าใจง่าย และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ทุกภาคส่วนยอมรับการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP

Mr. Ryohei Gamada (เรียวเฮ กามาดะ) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส (เอเชีย) จาก JETRO กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีการวิเคราะห์อย่างเป็นทางการว่า CPTPP ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นปีที่ผ่านมาเติบโต 1.5% หรือคิดเป็น 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยญี่ปุ่นมองว่าการเข้าร่วม CPTPP ทำให้ญี่ปุ่นมีประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแคนาดา และนิวซีแลนด์ ที่ญี่ปุ่นยังไม่มี FTA ร่วมกัน หากเมื่อเทียบกับกรอบ FTA ที่ญี่ปุ่นมีกับไทย (JTEPA) หรือญี่ปุ่นกับอาเซียน (AJCEP) พบว่า CPTPP มีอัตราการลดภาษีที่ครอบคลุมมากกว่า อีกทั้ง ในเรื่องการรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร CPTPP มีกลไกที่ดีกว่า ในส่วนของผลกระทบด้านลบ ภาคเกษตรคือภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งญี่ปุ่นพยายามแก้ปัญหาโดยการเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานการผลิต รวมทั้งการมี FTA หลายอันอาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการใช้แบบฟอร์มต่างๆ ได้ โดยญี่ปุ่นมีการทำ CPTPP Guideline เพื่อให้ข้อมูลที่เข้าใจง่าย และการจัดสัมมนาทั่วประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจ CPTPP มากขึ้น

อ่านต่อ
ญี่ปุ่นมั่นใจ ไทยร่วม CPTPP จะเป็นผลดีต่อซัพพลายเชน อุตฯ ยานยนต์แปซิฟิก
กกร.ยังคง GDP -5% ถึง -3% ตามเดิม พร้อมหนุนไทยร่วมเจรจา CPTP