ปลดล็อกเศรษฐกิจโลก 5 ปัจจัยชี้วัด “วิกฤตซัพพลายเชน” คลี่คลาย
เผย 5 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อซัพพลายเชนโลกท่ามกลางหมอกโควิดที่ยังปกคลุมในหลายพื้นที่ จึงเป็นที่จับตาและเฝ้ารอให้วิกฤตครั้งนี้คลี่คลายลง เพื่อปลดล็อกเศรษฐกิจโลก
Advertisement | |
เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2021 สำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยว่า ปัญหาท่าเรือ ค่าขนส่ง และการขาดแคลนชิป กำลังเป็นที่กังวลของหลายฝ่าย โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งอเมริกาซึ่งสอบถามผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจพบว่า วิกฤตด้านซัพพลายเชนส่งผลต่อรายได้ของบริษัทมากกว่าปี 2020 ถึง 412% ซึ่งในขณะนี้มีบางตัวชี้วัดที่เริ่มส่งสัญญาณที่ดีส่งผลให้สถานการณ์ด้านซัพพลายเชนมีแนวโน้มดีขึ้น
1. เรือและท่าเรือ
ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดัชนีค่าระวางเรือ หรือ Baltic Dry Index (BDI) ซึ่งจัดทำโดย Baltic Exchange Dry index (.BADI) มีการปรับขึ้นลงอย่างมาก โดยดัชนีได้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 และลดลงมา 1 ใน 3
Rebecca Galanopoulos หัวหน้าฝ่ายวิจัยจาก Alibra Shipping คาดการณ์ว่า ในปีหน้าการขนส่งสินค้าทางเรือจะลดความแออัดลงเมื่อเทียบกับปีนี้ซึ่งท่าเรือประสบปัญหาอย่างหนัก
ปัจจุบันท่าเรือจีนได้ผ่านพ้นวิกฤตปัญหาต่าง ๆ สืบเนื่องจากโควิดแล้ว โดยสามารถระบายเรือขนส่งสินค้าที่ตกค้างได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม Michael Tran นักวิเคราะห์จาก Royal Bank of Canada รายงานว่าท่าเรือลอสแองเจลิส และท่าเรือลองบีช สองท่าเรือใหญ่ของสหรัฐฯ ยังคงมีตู้สินค้าตกค้างมากถึง 222,000 TEU
โดยภาพรวมการจัดส่งสินค้าทางเรือจึงยังมีความล่าช้าอยู่ โดย Royal Canadian Bank รายงานว่า ปัจจุบันระยะเวลาที่ใช้ในการจัดส่งจากท่าเรือสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 7.5 วันซึ่งยาวนานกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิดซึ่งใช้เวลาเพียง 3.5 วันเท่านั้น โดยคาดการณ์ว่า ระยะเวลาจัดส่งสินค้าทางเรือจะสามารถกลับสู่สภาวะปกติได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2022
2. สต๊อกสินค้า
Refinitiv ผู้ให้บริการข้อมูลตลาดการเงินและโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผยว่า ในเดือนตุลาคม 2021 ดัชนีระยะเวลาส่งมอบ (Delivery Time Index) ประจำภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกอยู่ที่ 34.8 จุด สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความล่าช้าในการจัดส่ง และเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดประจำเดือนตุลาคมนับตั้งแต่ที่เคยจัดทำสถิติมา
ทางด้าน Jefferies analysts หนึ่งในสำนักวิเคราะห์ทางการเงิน คาดการณ์ว่า ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนจะรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2021 ซึ่งความต้องการสินค้าจะพุ่งสูงในช่วงเทศกาลปีใหม่ และสต๊อกสินค้าจะลดลงหลังผ่านพ้นช่วงเทศกาล ทำให้เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสแรกปี 2022
Paul Donovan หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก UBS Global Wealth Management แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันความต้องการสินค้าต่าง ๆ พุ่งสูงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสินค้าที่มีอายุการใช้งานยาวนาน และคาดการณ์ว่าผู้บริโภคจะเริ่มเปลี่ยนแนวทางจากการซื้อสินค้าไปเป็นการใช้บริการ
3. ชิปเซมิคอนดักเตอร์
ในขณะที่สถานการณ์ท่าเรือและการขนส่งสินค้าเริ่มฟื้นตัว แต่วิกฤตชิปขาดตลาดกลับสวนทางแย่ลง โดย IHS Markit คาดการณ์ว่าในปี 2021 ยอดผลิตยานยนต์ทั่วโลกจะลดลง 5 ล้านคัน ในขณะที่ค่ายรถคาดการณ์ว่าปัญหานี้จะยืดยาวไปตลอดปี 2022
อย่างไรก็ตาม Kazunari Kumakura ผู้บริหารโตโยต้าแสดงความเห็นว่า สถานการณ์ชิปขาดตลาดพ้นจุดต่ำสุดแล้ว
Capital Group แสดงความเห็นว่า ค่ายรถที่ได้รับผลกระทบรุนแรง คือ ค่ายรถที่ยกเลิกการสั่งซื้อชิปไปเมื่อโควิดเริ่มระบาด เนื่องจากความต้องการชิปจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่พุ่งสูง โดยเฉพาะจากกลุ่ม Gaming PC และกลุ่ม Cloud Computing ซึ่งกว่าที่ผู้ผลิตชิปจะกลับมาผลิตชิปยานยนต์ได้จำเป็นต้องใช้เวลามากถึง 4 เดือน
อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง คือ การระบาดของโควิดในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาเลเซียซึ่งเป็นฐานการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง ทั้งยังเป็นผู้ผลิตชิปยานยนต์สัดส่วน 13% ของตลาดโลก
ซัพพลายเออร์ชิปรายหนึ่งจากมาเลเซีย คาดการณ์ว่าตลาดชิปอาจต้องใช้เวลาอีก 2 - 3 ปีจึงจะกลับสู่สภาวะปกติ ในขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (SIA) รายงานว่าในไตรมาสที่ 3 ปี 2021 ที่ผ่านมานี้ยอดขายชิปพุ่งสูงถึง 145,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
4. ไม้ กระดาษ และโลหะ
Fitch Ratings Inc. บริษัทจัดอันดับเครดิตจากสหรัฐอเมริกา แสดงความเห็นว่าการชะลอตัวของจีนอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะส่งผลให้ราคาเหล็กตกต่ำ
อย่างไรก็ตาม วิกฤตขาดแคลนพลังงานในจีน ทำให้โรงงานหลายแห่งประสบปัญหาพลังงานไม่เพียงพอ ส่งผลให้ราคาถ่านหินไปจนถึงราคาพลังงานพุ่งสูง ภาคการผลิตต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก นำไปสู่การขึ้นราคาโลหะและวัตถุดิบหลายชนิด
นอกจากนี้ ราคากระดาษในจีนยังพุ่งสูงในช่วงต้นปีนี้จนถึงเดือนพฤษภาคมราคาได้ตกลง 30% ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนบรรจุภัณฑ์
สำหรับไม้ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในงานก่อสร้างก็มีราคาลดลงเช่นเดียวกับกระดาษ โดยพบว่าปัจจุบันราคาไม้ในสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงฤดูใบไม้ผลิถึง 60%
5. โควิด
ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมอย่างมาเลเซียและไต้หวัน ซึ่งมีการกระจายวัคซีนอย่างแพร่หลายและมีประสิทธิภาพ จึงคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศเหล่านี้จะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา
UBS Group ธนาคารเพื่อการลงทุนข้ามชาติ คาดการณ์ว่าเวียดนาม ไต้หวัน และมาเลเซีย จะมีการฉีดวัคซีนในสัดส่วนประชากรมากถึง 80% ภายในเดือนมกราคม 2022
Jack Janasiewicz นักวิเคราะห์จาก Natixis แสดงความเห็นว่า ตราบใดที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ สถานการณ์ด้านซัพพลายเชนก็จะไม่แย่ลงไปมากกว่านี้ แต่ในทางกลับกัน หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ โลกก็จะต้องพบกับคลื่นวิกฤตซัพพลายเชนลูกถัดไปอย่างแน่นอน
#ซัพพลายเชน #โลจิสติกส์ #ชิปยานยนต์ #ชิปขาดตลาด #วิกฤตชิปขาดตลาด #ชิปเซมิคอนดักเตอร์ #ผลกระทบ COVID-19 ต่อธุรกิจ #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- ส่งออกไทย 2564 เดือน มิ.ย. ขยายตัว 43% สูงสุดรอบ 11 ปี อีกครั้ง
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- สรุปยอดขายรถยนต์ 2564 ครึ่งปีแรก
- วิกฤตซัพพลายเชนโลก: ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อธุรกิจ
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH