อุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก รวมพลัง ใช้เทคโนโลยี สู้โควิด

อัปเดตล่าสุด 14 เม.ย. 2563
  • Share :

อาจเรียกได้ว่าการระบาดของโรคอุบัติใหม่ โควิด-19 คือ หนึ่งในหายนะของโลก ทุกฝ่ายจึงไม่อาจเพิกเฉย และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อยับยั้ง และควบคุมการระบาดของโรคให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเองก็มีผู้คิดเห็นเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของความพยายามในหลายบริษัท ที่นำเทคโนโลยีการผลิตเข้าช่วยแบ่งเบาภาระงานด้านสาธารณสุข หมายกู้สถานการณ์ในสภาวะวิกฤต ทำให้หลายเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ และได้โอกาสแจ้งเกิดในวิกฤตครั้งนี้อีกด้วย

3D Printing

Photo: General Electric

เป็นที่ทราบกันดีว่า ขีดความสามารถในการผลิตของ 3D Printer เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงหลังมานี้ ซึ่ง General Electric ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ซึ่งผลักดันการนำเทคโนโลยีการผลิตแบบเพิ่มเนื้อวัสดุ หรือ Additive Manufacturing (AM) มาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ได้ผันตัวมาเร่งผลิตหน้ากากสำหรับใช้คู่กับหน้ากาก N95 ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานของหน้ากากเดิมให้ยาวนานขึ้น โดยเลือกใช้วัสดุ Acrylonitrile Butadiene Styrene ซึ่งมีความยืดหยุ่นเมื่อได้รับความร้อน และทนทานเมื่อแข็งตัว โดยปัจจุบัน หน้ากากของ GE ยังอยู่ในกระบวนการทดสอบ ยังไม่พร้อมผลิตจำนวนมาก และใช้เวลาถึง 40 นาทีต่อการผลิตหน้ากากหนึ่งชิ้น แต่ทางบริษัทคาดการณ์ว่า สามารถลดเวลาที่ต้องใช้ให้เหลือ 5 นาทีได้ หากนำเทคโนโลยี Water Jet เข้ามาช่วย

Ubricum บริษัทสัญชาติโปแลนด์ เป็นอีกรายที่มีแนวทางตรงกับ GE ด้วยการตั้งโครงการ VentilAid โครงการพัฒนาเครื่องช่วยหายใจแบบ Open Source ซึ่งสามารถผลิตได้ด้วย 3D Printer ทั่วไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา และการทดลองตามมาตรฐานทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ทีมพัฒนาแสดงความเห็นว่า เครื่องช่วยหายใจจาก 3D Printer ควรเป็นทางออกสุดท้ายเมื่อเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐานไม่เพียงพอเท่านั้น

Photo: VentilAid

หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ

Photo: Blue Ocean Robotics 

Blue Ocean Robotics ผู้ผลิตหุ่นยนต์สัญชาติเดนมาร์ก เร่งผลิต “UVD Robot” หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อที่ได้รับรางวัล IREA Award จาก IEEE และ IFR ในปี 2019 ซึ่งใช้รังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวีในการฆ่าเชื้อ ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อโรคในห้องผู้ป่วยได้เกิน 90% ด้วยเวลาเพียง 10 นาทีต่อห้อง ซึ่งนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ประเทศจีนได้สั่งซื้อ UVD Robot กว่า 2,000 เครื่อง เพื่อใช้ในการฆ่าเชื้อไวรัสในเขตอู่ฮั่น รวมถึงโรงพยาบาล อาคารสำนักงาน สนามบิน และอื่น ๆ 

ส่วนในประเทศไทยเอง ก็มีการใช้งานหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น “Germ Saber Robot” จากศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ “PINTO” หุ่นยนต์จากโครงการ CU-RoboCovid โครงการพัฒนาหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนันสนุนการแพทย์จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

ระบบขับขี่อัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์

Photo: Mayo Clinic 

เทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เข้ามามีส่วนช่วยในสถานการณ์นี้คือยานยนต์อัตโนมัติ โดย Mayo Clinic องค์กรการแพทย์ไม่หวังผลกำไร ร่วมกับ Beep ธุรกิจคมนาคมจากสหรัฐอเมริกา และ NAVYA ผู้พัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติสัญชาติฝรั่งเศส นำโครงการ “Ultimate Urban Circulator program” โครงการพัฒนาเครือข่ายยานยนต์อัตโนมัติ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนามาตลอด 3 ปี มาดัดแปลงเป็นจุดตรวจคัดกรองโรคเคลื่อนที่ และทดลองใช้งานจริงที่รัฐฟลอริดาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา โดยใช้เจ้าหน้าที่จำนวนน้อยที่สุด คือ คนขับรถนำขบวนหนึ่งคน และพนักงานคัดกรอง และลำเลียง ซึ่งยานยนต์อัตโนมัติคันอื่น ๆ จะขับตามคันหน้าสุด โดยเว้นระยะห่าง และทำงานด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ ทำให้ไม่มีพนักงานนั่งภายในรถ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และยังช่วยกระจายงการคัดกรองโรคให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานจริงแล้ว 4 คัน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีอื่น ๆ อีกเช่นการนำใบพัดเครื่องยนต์มาผลิตเป็นหน้ากากโดย Ford หรือการนำชิ้นส่วนยานยนต์มาผลิตเป็นเครื่องช่วยหายใจโดย Tesla อีกด้วย