โตโยต้า เร่งเครื่อง Digital Transformation มุ่งสู่ Toyota Mobility
โตโยต้ากำลังมุ่งสู่สังคมโมบิลิตี้ด้วยแนวคิด Toyota Mobility วิสัยทัศน์แห่งอนาคตที่รถยนต์เชื่อมต่อกับบริการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมและมอบคุณค่าใหม่
หัวใจของสิ่งนี้คือซอฟต์แวร์ที่ให้บริการและฟังก์ชันต่าง ๆ ที่จะได้รับการอัปเดตอย่างต่อเนื่องผ่านระบบปฏิบัติการดั้งเดิม (OS) ในรถยนต์โตโยต้า ซึ่งบริษัทผลิตชิ้นส่วนในเครือโตโยต้ากำลังเร่งความคิดริเริ่มเหล่านี้ เช่น การพัฒนาที่เน้นซอฟต์แวร์และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation: DX) ในการออกแบบและการผลิต
Advertisement | |
ส่งเสริมการปฏิรูปยานยนต์ 3 ด้าน
เมื่อเดือนเมษายน 2023 นายโคจิ ซาโตะ CEO บริษัทโตโยต้า เผยวิสัยทัศน์ภายในงานแถลงข่าวประกาศทิศทางและนโยบายการบริหารใหม่ถึงแนวคิดของ Toyota Mobility คือบทสรุปของสังคมแห่งการเดินทางในอุดมคติ ที่ตั้งเป้าหมายไว้บนพื้นฐานของความเป็นกลางทางคาร์บอน และคุณค่าของการเดินทาง โดยมีถ้อยแถลงที่ชัดเจนในการส่งเสริม "การเปลี่ยนแปลงของรถยนต์" ในสามด้าน ตั้งแต่วิวัฒนาการของรถยนต์ที่มีอยู่ไปจนถึงบทบาทใหม่
ประการแรกคือ “การเพิ่มมูลค่าของยานยนต์” เช่น การใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และการใช้ข้อมูลปลายทางและข้อมูลการขับขี่อย่างชาญฉลาด ประการที่สองคือ “การใช้ประโยชน์จากโมบิลิตี้ในพื้นที่ใหม่” เช่น MaaS (Mobility as a Service) และการสัญจรทางอากาศ ประการที่สามคือ “ความคล่องตัว” ในฐานะโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่เชื่อมโยงกับบริการด้านพลังงานและโลจิสติกส์
ภายใต้แนวทางเหล่านี้นี้จะกระตุ้นให้ ซอฟต์แวร์จะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดมูลค่าของยานยนต์ตามแนวคิด Software Defined Vehicle (SDV) เช่น การอัปเดตฟังก์ชันและบริการความบันเทิงผ่านการสื่อสารระยะไกล
นายโคจิ ซาโตะ อธิบายว่า ยานยนต์ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ แพลตฟอร์มของยานยนต์ (แชสซี), ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ขับเคลื่อนยานยนต์, และซอฟต์แวร์ที่ให้บริการ ซึ่งเป้าหมายของโตโยต้า คือการสร้างมูลค่าของทั้งสามด้านในการพัฒนามัลติมีเดีย การควบคุมยานยนต์ และความปลอดภัยขั้นสูงให้ทำงานร่วมกัน ซึ่งจะสร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้นในอนาคต
โดย “Arene” แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของโตโยต้า กำหนดออกสู่ตลาดในปี 2025 เป็นกุญแจที่จะพาไปถึงเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของซอฟต์แวร์นี้ยังไม่ชัดเจนนัก นายซาโตะ อธิบายว่า Arene เปรียบได้กับระบบปฏิบัติการ (OS) ที่จะทำให้ส่วนประกอบทั้งสามรวมเข้าด้วยกันได้ ซอฟต์แวร์นี้ได้ถูกออกแบบให้มีความเปิดกว้าง รองรับการ “สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยซอฟต์แวร์จาก Third Parties” ซึ่งในอนาคต บริษัทได้ตั้งเป้าพัฒนาให้ Arene เป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถขับเคลื่อนสังคม สามารถรองรับแอปพลิเคชันในยานยนต์และไลฟ์สไตล์ เป็นแนวคิดเดียวกับ Android OS ระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนของ Google
ผู้ผลิตชิ้นส่วนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการออกแบบ ตอบสนองต่อวิวัฒนาการของโลก
บริษัทผลิตชิ้นส่วนในเครือโตโยต้าเริ่มตื่นตัวกับ SDV ที่กำลังจะมาในอนาคต ทำให้การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุนยานยนต์ บน SDV ทั้งหลายที่แบตเตอรี่ออนบอร์ดและระบบออนบอร์ดมีราคาแพงจะทำให้สายการผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถเพิ่มผลกำไรต่อคันให้สูงขึ้นได้ ซึ่งการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการออกแบบผ่าน DX ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องของบริษัทผลิตชิ้นส่วน
Tokai Rika เป็นบริษัทหนึ่งที่เริ่มกระบวนการออกแบบแม่พิมพ์พลาสติกแบบอัตโนมัติด้วยการรวมข้อมูลความคลาดเคลื่อนเข้ากับโมเดล 3D ช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการออกแบบแม่พิมพ์จากหลายวันเหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง จากวิธีการดั้งเดิมในการออกแบบแม่พิมพ์ต้องวาดแบบ 2D ใส่ค่าความคลาดเคลื่อน (tolerance) ควบคู่ไปกับการทำแบบจำลอง 3D ซึ่งพนักงานต้องมีความเข้าใจในแบบร่างเพื่อทำหน้าที่ป้อนข้อมูล
Toyoda Gosei มีแนวคิดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ DX มาใช้ และแชร์ข้อมูล 3D ของแม่พิมพ์ให้กับซัพพลายเชน เพื่อให้โรงงานทั่วโลกมีคุณภาพในการผลิตเป็นมาตรฐานเดียวกันและได้ผลผลิตสูง
แม่พิมพ์ฉีดพลาสติกของ Toyoda Gosei ที่ใช้ซอฟต์แวร์ปรับตำแหน่งเข็มกระทุ้งให้เหมาะสม
นาย Takumi Matsumoto ผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่บริหาร JTEKT แสดงความเห็นว่า แนวคิดการสร้างผลิตภัณฑ์ในช่วงที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงคุณภาพเป็นหลัก แต่ตอนนี้ได้เปลี่ยนเป็น “การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีเข้ากันได้กับซอฟต์แวร์” หรือการยืนอยู่บนแนวคิด “Software First” ที่กำลังได้รับความนิยมแพร่หลาย
โดย JTEKT ได้พัฒนา “Pair Driver” ระบบควบคุมพวงมาลัยอัตโนมัติ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของแนวคิด Software First หากระบบตัดสินแล้วว่าผู้ขับขี่ปลอดภัย และจะทำการสนับสนุนผู้ขับขี่เพิ่มขึ้นหากประเมินว่ามีความเสี่ยง ซึ่งระบบขับขี่ปลอดภัย ADAS ในปัจจุบันนี้มีเพียงฟังก์ชันเปิดปิดการทำงานเท่านั้น แต่ระบบดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ขับขี่ได้รับความปลอดภัยทั้งการขับขี่ด้วยตัวเองและการขับขี่แบบอัตโนมัติ
สำหรับบริษัท Denso ได้เร่งความเร็วในการพัฒนาด้วยการจัดตั้งหน่วยงานข้ามแผนกเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ นอกเหนือจาก Electronic Control Unit (ECU) ที่พัฒนาอยู่
นาย Shinnosuke Hayashi ว่าที่ประธานบริษัทคนถัดไปของเด็นโซ่ยอมรับว่า SDV กำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมองว่า การผสานรวมเข้ากับโลกแห่งซอฟต์แวร์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วถือเป็นภารกิจเร่งด่วนในการทำให้สังคมแห่งโมบิลิตี้เป็นจริงได้ ดูเหมือนว่าหัวใจสำคัญจะอยู่ที่วิธีการขับเคลื่อนที่รวดเร็วและคล่องตัว รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์กร
#Toyota #Mobility #DigitalTransformation #อุตสาหกรรมยานยนต์ #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม
ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH