ทำไม Cobot ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น?
โคบอท (Cobot) หรือ หุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน กำลังเข้าครองส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยอัตราการเติบโตที่เร็วกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จของเรื่องนี้
- Cobots (โคบอทส์) คืออะไร คลิก
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2022 สำนักข่าวรอยเตอร์ เปิดเผยถึงแนวโน้มและการลงทุนหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเกือบ 40,000 ตัวในอเมริกาเหนือในปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยจัดการกับความต้องการที่สูงเป็นประวัติการณ์และการขาดแคลนแรงงานจากโรคระบาด หุ่นยนต์ไปทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้การลงทุนหุ่นยนต์พุ่งทะยานยิ่งกว่าเมื่อครั้งประวัติศาสตร์ของภาคยานยนต์
ในปี 2021 บริษัทต่าง ๆ ในอเมริกาเหนือมีการลงทุนหุ่นยนต์รวมแล้ว 39,708 ตัว เพิ่มขึ้น 28% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นเป็นมูลค่าราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขนี้ทำลายสถิติสูงสุดเมื่อปี 2017 ได้สำเร็จ ข้อมูลนี้รวบรวมโดยสมาคมด้านออโตเมชั่น (Association for Advancing Automation หรือ A3)
ทาง A3 ยังเปิดเผยถึงแนวโน้มการเติบโตของหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนหุ่นยนต์มากที่สุดคือยานยนต์ โดยมีการลงทุนมากเป็น 2 เท่าของทุกอุตสาหกรรมรวมกัน จนกระทั่งปี 2020 อุตสาหกรรมการผลิตอื่นเริ่มมีการลงทุนหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นทำให้มีจำนวนรวมกันมากกว่าฝั่งยานยนต์ ซึ่งคำสั่งซื้อหุ่นยนต์ที่เติบโตเร็วที่สุดอยู่ในอุตสาหกรรมโลหะ อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค และอีคอมเมิร์ซ
อีกแนวโน้มที่ต้องจับตามองคือ ส่วนแบ่งของหุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้นคือ "โคบอท" หุ่นยนต์สายพันธุ์ใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ในสายการผลิต
Joe Campbell ผู้จัดการอาวุโสด้านการพัฒนาแอปพลิเคชัน Universal Robots อธิบายว่า ปัจจัยขับเคลื่อนอันดับหนึ่งสำหรับออโตเมชั่นคือการขาดแคลนแรงงานในสายการผลิต และการระบาดใหญ่ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง แต่ยังรวมไปถึงการเกษียณของพนักงาน Gen B หรือพนักงานยุคเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งคาดการณ์ว่าในอุตสาหกรรมการผลิตมีพนักงานเกษียณมากถึง 2,000 คนต่อวัน ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในโรงงานเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ Cobot ยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่แต่เดิมไม่นิยมใช้ระบบอัตโนมัติ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างเริ่มมีใช้โคบอทมาทำหน้าที่ติดตั้งกำแพงบนอาคารสูง ซึ่งแต่เดิมเป็นงานที่ลำบากและเสี่ยงอันตรายต่อคนงานเป็นอย่างมาก
ฟากอุตสาหกรรมยานยนต์ก็เช่นกัน ปัจจุบันมีการใช้งานโคบอทส์มากขึ้น เช่น Stellantis ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้นำโคบอทมาใช้ในการผลิตรถอีวี Fiat 500 โดยทำหน้าที่ขันน็อตลงบนชิ้นส่วนที่เคลื่อนไปตามสายการผลิต
ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น อีลอน มัสก์ CEO บริษัทเทสล่ายังเปิดเผยว่า บริษัทมีแผนเปิดตัวหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ “Optimus” เพื่อใช้ทำงานในโรงงานภายในปี 2023 ซึ่งเบื้องต้นจะทำหน้าที่ขนของต่าง ๆ ในโรงงานแทนพนักงาน
อย่างไรก็ตาม แม้การลงทุนหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมจะมากขึ้น ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สอดรับกับเทคโนโลยี แต่ไม่ได้หมายความว่าคนจะตกงานมากขึ้น โดยตัวเลขอัตราการว่างงานเป็นหนึ่งสิ่งบ่งชี้เรื่องดังกล่าว ซึ่งสหรัฐฯ มีอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาลดลงต่ำกว่า 3% เป็นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงปี 1950 และมีตำแหน่งงาน 1.7 ตำแหน่งต่อแรงงาน 1 คน
สรุปบทความ
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Cobot เข้ามาทำงานในโรงงานมากขึ้น คือ การทำงานที่ต้องใช้ทักษะของแรงงาน ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในหลายประเทศก็หนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อแรงงานยุคเบบี้บูมเมอร์เริ่มหายไปจากตลาดแรงงาน ภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถฝึกฝนและสร้างแรงจูงใจให้แรงงานยุคใหม่เข้ามาทำงานได้ ตำแหน่งงานพวกนี้จึงเป็นที่นั่งสำหรับ “โคบอทส์” หุ่นยนต์สายพันธุ์ใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ในสายการผลิต
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH