โตโยต้าลงทุนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

โตโยต้าลงทุน ‘แบตเตอรี่อีวี’ อัดฉีด 5.6 พันล้านเหรียญ ขยายสายการผลิตในญี่ปุ่น-สหรัฐฯ

อัปเดตล่าสุด 7 ก.ย. 2565
  • Share :

โตโยต้าอัดฉีด 5.6 พันล้านเหรียญ ขยายสายการผลิตแบตเตอรี่รถอีวีในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตสูงสุดขึ้นไปอยู่ที่ 40 GWh ตอบสนองความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ที่เพิ่มมากขึ้น

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2022 โตโยต้า (Toyota) ประกาศลงทุนการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 7.3 แสนล้านเยน หรือราว 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งเป้าเดินสายการผลิตในช่วงปี 2024-2026  

Advertisement

การลงทุนครั้งนี้จะทำให้โตโยต้ามีกำลังการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ รวมแล้วขึ้นไปอยู่ที่ 40 GWh โดยใช้ระบบการผลิตของโตโยต้า (Toyota Production System) และสร้างสายการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแบตเตอรี่ และการส่งต่อทักษะการผลิตในแบบ Monozukuri 

ในญี่ปุ่นจะมีการลงทุน 4 แสนล้านเยน หรือราว 3,068 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่โรงงาน Himeji Plant ของบริษัท Prime Planet Energy & Solutions ซึ่งเป็นบริษัทแบตเตอรี่รถอีวีที่เกิดจากร่วมทุนระหว่างโตโยต้าและพานาโซนิค

ส่วนในสหรัฐอเมริกาจะมีการลงทุน 3.25 แสนล้านเยน หรือราว 2,493 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่โรงงาน Toyota Battery Manufacturing รัฐนอร์ทแคโรไลนา เพื่อเพิ่มการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์

โตโยต้าตั้งใจที่จะสานต่อความพยายามในการสร้างระบบการจัดหาที่สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของรถ BEV ในภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงการจัดหาแบตเตอรี่รถยนต์จากพันธมิตร

โดยโตโยต้าเชื่อว่า มีทางเลือกมากกว่าหนึ่งทางในการทำให้คาร์บอนเป็นกลาง และยังมีวิธีการลดการปล่อย CO2 ให้มากที่สุดและเร็วที่สุด พร้อมไปกับการปกป้องชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศและภูมิภาค ด้วยความคิดเช่นนี้ โตโยต้าจะพยายามทุกวิถีทางในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างยืดหยุ่น โดยนำเสนอระบบส่งกำลังที่หลากหลายและมอบทางเลือกให้มากที่สุด

หลายสื่อตั้งข้อสังเกตว่าความเชื่อของโตโยต้าที่ระบุว่า มีทางเลือกมากกว่าหนึ่งทางในการทำให้คาร์บอนเป็นกลาง ได้เป็นความพยายามปรับตัวตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมด้วยแนวทางอื่นนอกเหนือจากรถยนต์ไฟฟ้า โดยเว็บไซต์ Toyota Europe ระบุว่า เครื่องยนต์สันดาปภายในจะยังเป็นชิ้นส่วนขับเคลื่อนยานยนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในอีก 20-30 ปีข้างหน้า

CNN ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาโตโยต้ามีการลงทุนในเซลล์พลังงานเชื้อเพลิงมากกว่าแบตเตอรี่ไฟฟ้า ในขณะที่ CNBC แสดงความเห็นว่าการลงทุนด้านแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเข้าสู่ตลาดอีวีอาจมีอุปสรรค เห็นได้จากการเรียกคืนรถอีวีรุ่นแรกของค่ายอย่าง bZ4X ราว 2,000 คันในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH