เจาะลึก 3 ค่าย TOYOTA-ISUZU-HINO รวมพลังดันเทคโนโลยี CASE สู่ยานยนต์เชิงพาณิชย์

เจาะลึก 3 ค่าย TOYOTA-ISUZU-HINO รวมพลังดันเทคโนโลยี CASE สู่ยานยนต์เชิงพาณิชย์

อัปเดตล่าสุด 16 เม.ย. 2564
  • Share :
  • 2,494 Reads   

♦ Toyota, Isuzu, Hino ร่วมก่อตั้ง Commercial Japan Partnership Technologies Corporation เพื่อเร่งพัฒนาเทคโนโลยี CASE มาใช้ในยานยนต์เชิงพาณิชย์

♦ อีซูซุและฮีโน่ถือหุ้นบริษัทละ 10% และโตโยต้าถือหุ้น 80% 

♦ เป้าหมายสำคัญ คือ มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และอุปสรรคต่าง ๆ ในการขนส่งโลจิสติกส์

Advertisement

เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2021 โตโยต้า (Toyota) อีซูซุ (Isuzu) ฮีโน่ (Hino) ได้บรรลุข้อตกลงก่อตั้ง Commercial Japan Partnership Technologies Corporation โดยอีซูซุและฮีโน่ถือหุ้นบริษัทละ 10% และโตโยต้าถือหุ้น 80% เพื่อเร่งพัฒนาเทคโนโลยี CASE มาใช้ในยานยนต์เชิงพาณิชย์ ด้วยเป้าหมายมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และอุปสรรคต่าง ๆ ในการขนส่งโลจิสติกส์

เทคโนโลยี CASE : Connected, Autonomous, Shared, Electric จะเข้ามาช่วยลดภาระ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดียิ่งขึ้น

Mr. Akio Toyoda ประธานบริษัทโตโยต้า แสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไม่อาจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ และเข้าสู่ยุค Carbon Neutral ได้หากไม่มีการร่วมมือระหว่างบริษัท โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งการบรรลุข้อตกลงในครั้งนี้ จะช่วยให้การพัฒนายานยนต์ในระยะยาวตามแนวคิด CASE สามารถบรรลุผลได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งโตโยต้าจะรับหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างอีซูซุและฮีโน่ซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งกัน

โดยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โตโยต้ามีความพยายามผลักดันแนวคิด CASE เป็นอย่างมาก และได้ร่วมลงทุนกับหลายบริษัท เช่น มาสด้า, ซูซูกิ, ฮอนด้า, ซูบารุ, และไดฮัทสุ ซึ่ง Mr. Akio Toyoda ประธานบริษัทโตโยต้า ย้ำว่า การพัฒนายานยนต์ และเทคโนโลยีตามแนวคิด CASE ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยบริษัทเดียว

โดยเมื่อปี 2006 โตโยต้าเคยเข้าถือหุ้นอีซูซุแล้วเป็นสัดส่วน 5.89% อย่างไรก็ตาม โตโยต้าได้ยุติความร่วมมือลงในปี 2018 ซึ่ง Mr. Akio Toyoda ประธานบริษัทโตโยต้ากล่าวว่า ปัจจุบันภาระของทั้งสองบริษัทได้หมดสิ้นลงแล้ว จึงอยากกลับมาร่วมมือพัฒนาการคมนาคมขนส่งด้วยกันอีกครั้ง

Mr. Masanori Katayama ประธานบริษัทอีซูซุ แสดงความเห็นเช่นเดียวกันว่า นับตั้งแต่ยุติความร่วมมือเมื่อปี 2018 อีซูซุก็มีความสนใจที่จะกลับมาร่วมมือกับโตโยต้าอีกครั้ง

ทางด้านอีซูซุเปิดเผยว่า การร่วมมือกับโตโยต้าจะเป็นผลดีต่อการพัฒนารถบรรทุกเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง (Fuel Cell Truck) เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการซัพพลายระบบเซลล์ และระบบขับขี่อัตโนมัติ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยลดต้นทุนการพัฒนารถบรรทุก และโครงสร้างพื้นฐานลงได้เป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาอุตสากรรมโลจิสติกส์ต่อไป

เจาะลึก 3 ค่าย TOYOTA-ISUZU-HINO รวมพลังดันเทคโนโลยี CASE สู่ยานยนต์เชิงพาณิชย์

รถบรรทุกเซลล์พลังงานเชื้อเพลิงของโตโยต้าและฮีโน่

เจาะลึก 3 ค่าย TOYOTA-ISUZU-HINO รวมพลังดันเทคโนโลยี CASE สู่ยานยนต์เชิงพาณิชย์

รถบรรทุกไฟฟ้าขนาดเล็กของอีซุซุ

ปัจจุบันการพัฒนารถบรรทุกให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้ามีความล่าช้ากว่าการพัฒนารถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นอย่างมาก และเป็นไปได้ยากมากที่อีซูซุและฮีโน่จะประสบความสำเร็จด้วยการพัฒนาเพียงลำพัง

ด้วยเหตุนี้ การบรรลุข้อตกลงกับโตโยต้าจึงเป็นก้าวสำคัญสู่สังคมปลอดคาร์บอน โดยอีซูซุได้วางกรอบเวลาสำหรับการตั้งเป้าหมายในช่วงปี 2030-2040 ไว้และอยู่ระหว่างรอดูนโยบายที่เกี่ยวข้องจากรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมในไตรมาสที่ 3 ปี 2021 นี้

Advertisement

นอกจากการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว อีกปัญหาที่ทั้งสามบริษัทให้ความสำคัญคือการทดแทนแรงงาน เนื่องจากในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง การพัฒนารถบรรทุกที่เป็นอัตโนมัติ หรือลดภาระคนขับได้จึงเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องปรับตัวตามการบังคับใช้กฎหมายแรงงานฉบับแก้ไขของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งมีการจำกัดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาของคนขับรถบรรทุกโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2024 เป็นต้นไป

สำหรับแนวคิด CASE ทางอีซูซุมีความเห็นว่า แนวคิดดังกล่าวมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมาก เช่นเดียวกับที่ Digital Transformation ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิต และนอกจากการแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ความร่วมมือนี้จะยังนำไปสู่การแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์อีกด้วย

Mr. Yoshio Shimo ประธานบริษัทฮีโน่ แสดงความเห็นว่า ยิ่งรู้ความเป็นไปในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาเหล่านั้นให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และได้ก่อตั้งบริษัท NEXT Logistics Japan เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ผลักดันการแลกเปลี่ยนข้อมูล และสนับสนุนการใช้รถบรรทุกให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งอีซูซุได้แสดงความเห็นตรงกัน และเริ่มร่วมมือกับผู้ผลิตแชสซีรถบรรทุกในการนำเทคโนโลยี Connected Car มาใช้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สัมภาษณ์พิเศษ : เจาะลึกความร่วมมือระหว่าง Toyota - Isuzu - Hino

เป้าหมายในการร่วมมือครั้งนี้คืออะไร?

Mr. Akio Toyoda ประธานบริษัทโตโยต้า “จากแนวคิด CASE ทำให้สถานการณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และโลจิสติกส์เปลี่ยนไปมาก การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานไม่อาจแยกจากกันได้ โดยเฉพาะถ้ามองจากมุมของลูกค้า เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือเพื่อให้รถบรรทุกไฟฟ้าเป็นที่แพร่หลาย”

Mr. Yoshio Shimo ประธานบริษัทฮีโน่ “อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีจำนวนแรงงานลดลง โดยเฉพาะคนขับรถบรรทุก อีกทั้งมาตรการต่าง ๆ อย่างเช่นการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ก็เข้ามาบีบให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ต้องเร่งพัฒนาเร็วกกว่าเดิม ซึ่งเป็นเรื่องยากหากทำโดยลำพังเพียงบริษัทใดบริษัทหนึ่ง”

ทำไมโตโยต้าและอีซูซุจึงยุติความร่วมมือเมื่อปี 2018?

Mr. Akio Toyoda ประธานบริษัทโตโยต้า “ก่อนหน้านี้โตโยต้าและอีซูซุเคยร่วมกันพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก และได้แยกย้ายกันหลังการพัฒนาแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม เราได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นถึงอนาคตของการคมนาคมขนส่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมคาดการณ์ว่านโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออไซด์ จะสามารถสร้างตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ถึง 5.5 ล้านตำแหน่ง เราจึงกลับมาร่วมมือกันอีกครั้งโดยอาศัยจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายให้เป็นประโยชน์”

Mr. Masanori Katayama ประธานบริษัทอีซูซุ “ผมคิดว่าธุรกิจโลจิสติกส์ส่วนมากใช้รถบรรทุกทั้งอีซูซุและฮีโน่ และคงมีไม่มากนักที่เลือกใช้แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง ผมเลยคิดว่า หากรถบรรทุกของทั้งสองค่ายสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้ามากขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราเป็นคู่แข่งกับฮีโน่ การที่ได้โตโยต้ามาเป็นคนกลางจึงจะช่วยให้การร่วมพัฒนาเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น”

บทบาทของ Commercial Japan Partnership Technologies Corporation คืออะไร?

Mr. Hiroki Nakajima ประธานบริษัท Commercial Japan Partnership Technologies Corporation “เราจะมุ่งสร้างบริษัทที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของลูกค้า และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ด้วยการนำรถบรรทุกที่พัฒนาขึ้นมาผนวกเข้ากับเทคโนโลยีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของโตโยต้า”

เจาะลึก 3 ค่าย TOYOTA-ISUZU-HINO รวมพลังดันเทคโนโลยี CASE สู่ยานยนต์เชิงพาณิชย์