เข้าร่วม CPTPP จำเป็นหรือไม่ และ เมื่อไหร่? ทุกการตัดสินใจ ต่างมีผลกรรม

เข้าร่วม CPTPP จำเป็นหรือไม่ และ เมื่อไหร่? ทุกการตัดสินใจ ต่างมีผลกรรม

อัปเดตล่าสุด 7 ส.ค. 2563
  • Share :
  • 693 Reads   

“การเข้าร่วม CPTPP มีต้นทุน แต่การไม่เข้าร่วมก็มีต้นทุน และการเข้าร่วมช้า ก็มีต้นทุนเช่นเดียวกัน”

ภายในงานเสวนา “ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และ ประสบการณ์จากประเทศภาคี” ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมบรรยาย กล่าว ไว้ว่า สิ่งที่คนพูดถึงกันน้อยที่สุด คือ ประเทศไทยจะเสียอะไร หากตัดสินใจ “ช้า” ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ในขณะที่ นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตั้งประเด็นชวนคิดในงานเสวนาเดียวกันนี้ว่า “สิ่งที่ควรถามคือ ไม่ใช่ไทยพร้อมหรือไม่ แต่เป็นจำเป็นหรือไม่”

l การดิสรัปของเทคโนโลยี 

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม นำเสนอการดิสรัปของเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะเทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการผลิตในทุกภาคส่วน ทำให้แต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องทำทุกหน้าที่ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการผลิต แต่สามารถเลือกได้ว่าจะทำหน้าที่ในกระบวนการใด เลือกเป็นผู้ผลิตทรัพยากร เลือกเป็นผู้แปรรูปหรือผลิตสินค้าด้วยแรงงานตามทักษะต่ำ กลาง สูง ตามความเหมาะสมของประเทศนั้น ๆ 

ที่ผ่านมา ประเทศไทยเองก็มีการพัฒนาจนสามารถผันตัวมาเป็นผู้ขายแรงงานราคาถูกผ่านการรับจ้างผลิตสินค้า ทำให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง กระทั่งยกระดับเป็นผู้ขายแรงงานทักษะปานกลาง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสถานะจากประเทศในลำดับที่ 1 มาเป็นลำดับที่ 2 - 3 ตามกราฟด้านล่างนี้ 

Photo: ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากงานเสวนา “ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และประสบการณ์จากประเทศภาคี” เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2020

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีในปัจจุบันมีความคืบหน้ารวดเร็วเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ผลิตหลายรายมองว่า แรงงานทักษะต่ำและแรงงานทักษะปานกลางไม่จำเป็นเท่าที่ผ่านมา เนื่องจากเทคโนโลยีที่เข้ามาสนับสนุน การทำงานจากระยะไกลและระบบอัตโนมัติ Remote Controlling และ Factory Automation สามารถเข้ามาแทนที่ได้โดยตรง และในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีราคาถูกลงไปอีก ทำให้ประเทศที่มีทรัพยากรไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานราคาถูกอีกต่อไป หรือประเทศที่มีทรัพยากรมากก็สามารถส่งวัตถุดิบไปให้ผู้ผลิตโดยตรง ทำให้ไทยที่เป็นผู้ขายแรงงานทักษะปานกลางอยู่ในจุดที่ประสบความลำบากมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การแข่งขันทางการค้าระหว่างขั้วอำนาจต่าง ๆ ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องหาแนวทางสนับสนุนการค้าและการลงทุนให้ขยายขอบเขตมากขึ้น เนื่องจากไม่มีประเทศใดในโลกที่อยู่ได้โดยลำพัง ซึ่งการยอมรับกติกาภายนอกผ่านข้อตกลงฉบับต่าง ๆ ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่จะช่วยให้ไทยเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains: GVCs) ได้ ซึ่งจะช่วยสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

l ประเทศไทยจะเสียอะไร หากตัดสินใจ “ช้า” ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม แสดงความเห็นว่า การเข้าร่วมข้อตกลงการค้าทุกฉบับย่อมมีเรื่องต้องสูญเสีย และไม่มีประเทศใด หรือสัญญาฉบับใดที่จะมีแต่ได้ทั้งหมด หรือเสียทั้งหมด และประเทศที่หวังแต่จะได้ทั้งหมด ก็จะไม่มีประเทศใดเจรจาด้วย แต่สิ่งที่ควรทำ คือ “เจรจาอย่างไร” 

ซึ่งหากไทยตัดสินใจเข้าร่วมในช่วงเวลานี้ที่หลายประเทศภาคีสมาชิกแสดงความประสงค์ให้ไทยดำเนินการเจรจาความตกลงกับคณะทำงาน CPTPP ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากทุกประเทศภาคีสมาชิก จึงเป็นโอกาสที่ดี เมื่อไทยเป็นสมาชิก CPTPP นอกจากการได้เปิดเสรีทางการค้ากับเหล่าประเทศสมาชิกด้วยกันเองแล้ว ไทยยังสามารถมีบทบาทในการพิจารณาให้ความเห็นต่อข้อเสนอจากประเทศที่ต้องการจะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในภายหลังอีกด้วย

สำหรับประเทศสมาชิกเข้าใหม่นั้น จะมีระยะเวลาปรับตัวเพื่อเข้าสู่ข้อผูกพัน ข้อยกเว้น และความยืดหยุ่นตามมาตรฐานของ CPTPP ซึ่งระยะเวลาปรับตัวจะมาจากผลการเจรจาเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยประเทศไทยอาจเทียบเคียงได้กับประเทศในอาเซียนซึ่งเข้าร่วมแล้ว อาทิ มาเลเซียได้ระยะเวลาปรับตัว 15 ปี และเวียดนาม 21 ปี หรือกระทั่งสามารถเปลี่ยนการตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นสมาชิกในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมย่อมมีข้อเสีย โดยเฉพาะการเข้าร่วมในทันที ซึ่งอาจหมายถึงการต้องใช้เงินเยียวยาจำนวนมหาศาลให้กับผู้ได้รับผลกระทบ และก็ต้องคิดให้ดีก่อนเข้าร่วม เนื่องจากหากรีบตัดสินใจโดยไม่ศึกษาผลกระทบให้ละเอียดในทุกเซกเตอร์เสียก่อน ก็อาจทำให้ผลกระทบทางลบรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ก็เป็นได้

ส่วนในกรณีที่ไม่เข้าร่วม รศ.ดร.ปิติ กล่าวว่า ประเทศไทยจะเข้าไม่เข้าร่วม CPTPP ก็ไม่สำคัญเท่าเราปรับตัวตามมาตรฐานได้ไหม ซึ่งหากประเทศไทยสามารถพัฒนาจนเป็นประเทศระดับแนวหน้าของโลกได้ ก็ย่อมไม่จำเป็นต้องเข้าร่วม CPTPP แต่อย่างใด เนื่องจากศักยภาพจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้ประเทศอื่นมาหาเราเอง รวมถึงยังมี FTA ฉบับอื่น ๆ อีกมากที่ประเทศไทยสามารถเข้าไปร่วมเจรจาได้ นอกจากนี้ หากตัดสินใจไม่เข้าร่วม CPTPP ธุรกิจที่หวังพึ่งพาลูกค้าในต่างประเทศก็ยังสามารถเลือกมุ่งตลาดส่งออกได้ ส่วนธุรกิจที่ไม่สนใจลูกค้าต่างชาติก็จะไม่ต้องรับภาระในการลงทุนพัฒนาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การจะขึ้นไปเป็นแนวหน้าของโลกย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน และต้องยอมรับว่าไทยจะสูญเสียโอกาสและศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออกที่อาจสูญเสียลูกค้าเป็นอย่างมากหากไม่สามารถพัฒนาตามมาตรฐานได้ 
และในกรณีที่ตัดสินใจช้าจะทำให้อำนาจต่อรองของไทยลดลง เนื่องจาก CPTPP อาจมีสมาชิกเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการแสดงความสนใจของอังกฤษ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ และจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะมีอำนาจต่อรองเป็นอย่างมาก ในทางกลับกัน การเข้าร่วมช้าก็จะช่วยให้ไทยมีเวลาในการพิจารณาตัวเลือกต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

l ไทยจำเป็นหรือไม่ ต่อการเข้าร่วม CPTPP?

นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโลก และในโลกนี้เอง ก็ไม่เคยมีประเทศใดที่มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่นเมื่อครั้งไทยเข้าเป็นสมาชิก WTO หรือกระทั่งอาเซียน ซึ่งการมาของโควิด-19 ในปีนี้เอง ที่เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าในความเป็นจริงยังมีอีกหลายอย่างที่ไม่อาจคาดการณ์ และเตรียมพร้อมล่วงหน้าได้ ซึ่งแม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจเองก็ยังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งนางวิลาวรรณ แสดงความเห็นว่า 

“สิ่งที่ควรถามคือ ไม่ใช่ไทยพร้อมหรือไม่ แต่เป็นจำเป็นหรือไม่”

การเปิดเสรีการค้า ลดอัตราภาษีและกำแพงกีดกัน คือสิ่งที่เป็นกฎการค้าตั้งแต่ไทยเข้าร่วม WTO เมื่อปี 1995 ซึ่งประเทศไทยก็มีความพยายามพัฒนาตามระเบียบใหม่เป็นอย่างมาก แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่อาจทำตามได้สำเร็จทุกข้อ โดยเฉพาะภาคบริการ ซึ่งไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศอื่น ๆ ด้วย จึงกล่าวได้ว่ากฎเกณฑ์การค้าของโลกไม่เคยมีความแน่นอน

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญของการค้าโลก คือ กรณีของประเทศจีนที่ก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจ โดยที่ผ่านมา จีนใช้เวลาเกือบ 10 ปีนับตั้งแต่เข้าร่วม WTO และผ่านการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การค้าโลก จนเป็นบทพิสูจน์ให้ทั่วโลกยอมรับในศักยภาพของประเทศจีน และมาตรฐานสินค้าจีน ปัจจุบันจีนขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจกำหนดมาตรฐานมากขึ้น และนำมาซึ่งการแข่งขันกับสหรัฐฯ สิ่งนี้เองที่แสดงให้เห็นว่า การจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ทางการค้าในระดับโลก และเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถตั้งกฎเกณฑ์ทางการค้าได้ ก็ย่อมต้องผ่านการเดินตามแนวทางของประเทศอื่นมาก่อนทั้งสิ้น จากแนวทางนี้เอง ที่ทำให้กลุ่มประเทศอื่น ๆ มีความพยายามในการตั้งข้อตกลงการค้าขึ้น เพื่อให้ตนมีอำนาจต่อรองเทียบเคียงกับผู้เล่นรายใหญ่ได้ ซึ่ง TPP เอง ก็เกิดขึ้นด้วยเหตุนี้ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น CPTPP หลังจากที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไป

นับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็น หรือช่วงปี 2510 ประเทศไทยเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจและข้อตกลงการค้าตามมาตรฐานโลก รวมถึงการเปิดการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ อย่างเท่าเทียม ถัดมาคือยุค WTO ที่ทำให้ประเทศไทยมีกลไกลทรัพสินย์ทางปัญญาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรมและศาลทรัพสินทางปัญญา รวมถึง พรบ. ต่าง ๆ ที่แก้ไขให้รองรับมาตรฐานสากล มาจวบจนปัจจุบัน ซึ่งการที่ไทยเคยผ่านจุดเหล่านี้มาแล้ว เป็นหลักฐานยืนยันว่า “ประเทศไทยเคยมีศักยภาพทางการค้าเป็นอย่างมาก”

การพัฒนาดังกล่าวเปรียบเสมือนการพัฒนาโรงแรมจาก 1 ดาว มาเป็น 3 ดาว ทำให้ไทยมีความได้เปรียบกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแม้จะมีเป้าหมายในการพัฒนาเดียวกันกับไทยแต่เริ่มต้นช้ากว่า CPTPP เองก็เปรียบได้กับเครือโรงแรมอีกเครือหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกในเครือนี้ 

อย่างไรก็ตาม จุดที่ทำให้ที่ไทยเสียความเชื่อมั่นคือวิกฤตต้มย้ำกุ้ง ที่ทำให้ประเทศไทยพลาดโอกาสเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย และเปลี่ยนมาเดินหน้านโยบายการค้าเชิงรับมากเกินไป ซึ่งแม้จะมีความพยายามอีกครั้งร่วมกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเปรูในช่วงปี 2001 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมหลังต้มยำกุ้งต่ำ โดยเฉพาะ SME ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีธุรกิจที่ไม่สามารถฟื้นตัวได้อีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ ภายใต้ข้อตกลง FTA ที่ไทยได้ทำไว้ในยุคหลัง แม้ไทยจะมีตลาดเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น แต่จากที่ไทยไม่มีการแก้กฎหมายภายในอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้มาตรฐานของสินค้าต่าง ๆ ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อให้มีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกตามไปด้วย ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาสินค้าของไทยจึงไม่ได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และหากยังนิ่งเฉยต่อการยกระดับมาตรฐานแล้ว ในท้ายสุดไทยก็จะไม่สามารถก้าวตามมาตรฐานการค้าโลกได้

แน่นอนว่าการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก CPTPP ไม่ใช่คำตอบเดียวของเศรษฐกิจไทย แต่เพราะการแข่งขันระหว่างประเทศมีแต่จะหนักข้อขึ้น ดังนั้น ตราบใดที่ประเทศไทยยังต้องการทำการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งที่จำเป็นต้องพิจารณาไม่ใช่เรื่องความพร้อม แต่เป็นเรื่องความจำเป็น

 

อ่านต่อ