ส่องแผน BCP เมื่อญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉิน

อัปเดตล่าสุด 13 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 746 Reads   

ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศที่ประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาดูกันว่า แผน BCP (Business Continuity Plan) ของประเทศญี่ปุ่นในแต่ละด้านมีแนวคิดอย่างไร

การคมนาคม และโลจิสติกส์

อาคาร Marunouchi Japan Railways Group 

เมื่อวันที่ 6 เมษายน กลุ่มผู้ให้บริการรถไฟในประเทศญี่ปุ่นยืนยันว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนตารางเวลาเดินรถ แม้ผู้ใช้บริการจะลดลงก็ตาม โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Japan Railways Group รายงานว่า “บริษัทไม่อาจตัดสินใจลดจำนวนเที่ยวรถไฟด้วยตัวเองได้ เนื่องจากจะทำให้เกิดการหยุดชะงักในหลายด้าน” ซึ่ง West Japan Railway Company และผู้ให้บริการด้านการคมนาคมของเอกชนก็ได้แสดงความเห็นในทิศทางเดียวกัน

โดยแต่ละบริษัท มีแผน BCP เป็นการลดจำนวนพนักงานให้เหลือเท่าที่จำเป็น เพื่อลดความเสี่ยง และมีพนักงานพร้อมหมุนเวียนในกรณีมีพนักงานต้องสงสัยว่าติดโรค อย่างไรก็ตาม หากยังคงมีผู้ใช้บริการหนาแน่นตามปกติ ความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคก็จะสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องให้ข้อมูล และขอความร่วมมือจากผู้ใช้บริการให้ปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐ

ส่วนด้านโลจิสติกส์นั้น หลายบริษัทตัดสินใจให้บริการตามปกติ อย่างไรก็ตาม ปัญหาความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าจากต่างประเทศนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และพร้อมปรับเปลี่ยนแนวทางการให้บริการหากมีความจำเป็น

โทรคมนาคม

ศูนย์ปฏิบัติการณ์ KDDI (สนับสนุนภาพโดย KDDI)

อุตสาหกรรมโทรคมนาคม กลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญลำดับต้น ๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ สืบเนื่องจากการปรับเปลี่ยนมาทำงานทางไกล หรือ Work From Home ในหลายบริษัท ทำให้การสื่อสารทางไกลกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจขาดได้ จึงมีการจัดเวรพนักงานเพื่อให้พร้อมแก้ปัญหาตลอด 24 ชม. โดยแบ่งการทำงานของพนักงานออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ เช้า บ่าย และค่ำ โดย KDDI ตั้งข้อสังเกตว่า ในเดือนมีนาคม ปริมาณการรับส่งข้อมูลในช่วงเช้าลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงจากพฤติกรรมการทำงาน 

NTT Docomo คาดการณ์ว่า ปริมาณการรับส่งข้อมูลจะเพิ่มขึ้นอีกหลังจากนี้ จึงพิจารณาการเพิ่มช่องสัญญาณเพื่อให้แต่ละธุรกิจสามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดขัด และเตรียมพร้อมแก้ปัญหาตลอด 24 ชม. เช่นเดียวกัน

ค้าปลีก และ SME

การสต็อกของให้ตรงตามต้องการคือกุญแจสำคัญของธุรกิจค้าปลีก

ร้านค้าปลีก เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อมีการประกาศสภาวะฉุกเฉิน ในขณะเดียวกัน ร้านค้าปลีกก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการควบคุมโรค ซึ่งอุปสรรคสำคัญของร้านค้าปลีกในเวลานี้ คือการขาดแคลนแรงงาน ที่จำเป็นต่อการทำงานภายในร้าน รวมถึงการปรับเปลี่ยนมาทำค้าส่งด้วยตนเองอีกด้วย

ส่วนในกรณีของร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้านั้น แต่ละร้านมีลูกค้าต่างประเภทและความต้องการที่แตกต่างกัน การหาแนวทางที่เหมาะสมจึงต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของแต่ละร้านเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ควรทำในขณะนี้ คือการสต็อกสินค้าที่เก็บได้นาน และมีความต้องการสูง

พลังงาน

อุตสาหกรรมพลังงาน เป็นอีกอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมพร้อมสำหรับแก้ไขปัญหาจากปริมาณการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นในแต่ละครัวเรือน ซึ่งนอกจากการสลับพนักงานทำงานเป็นกะเท่าที่จำเป็นแล้ว ยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาอีกด้วย ซึ่งกลุ่มธุรกิจพลังงานในญี่ปุ่น ได้ออกมาตรการให้พนักงานในแต่ละกะหลีกเลี่ยงกันให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันการระบาดของโรค

การเงิน

3 ธนาคารใหญ่ประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ MUFG Bank, Sumitomo Mitsui Banking Corporation, และ Mizuho Bank ประกาศเปิดให้บริการสาขา และตู้ ATM ตามปกติ โดย Mr. Kanetsugu Mike ประธานสมาคม Japanese Bankers Association แสดงความเห็นว่า การเงินเป็นพื้นฐานของสังคม ธนาคารจึงต้องเปิดบริการต่อให้ได้

ในอีกด้านหนึ่ง Sumitomo Mitsui Banking Corporation แสดงความไม่แน่ใจว่าจะสามารถให้บริการตามปกติได้หรือไม่ แต่ประกาศเปิดให้บริการต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งเพิ่มเติม ลดจำนวนพนักงานในสาขา และอยู่ระหว่างพิจารณาการปิดสาขาบางแห่ง และลดจำนวนเอกสารลง

นอกจากนี้ ธนาคารทั้ง 3 ยังแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้การทำธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อผ่านธนบัตรอีกด้วย