กางแผนที่ ชี้ทิศ "อุตสาหกรรมแม่พิมพ์" เดินต่ออย่างไร? หลังโควิด
อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีลูกค้าหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์มากถึง 75% ของผู้ใช้แม่พิมพ์ทั้งหมดเป็นค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งในงานโลหะและงานพลาสติก อีกราว 25% ที่เหลือมาจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรกล เครื่องจักรก่อสร้าง และเครื่องมือแพทย์
เมื่อเกิดการระบาดของโควิดจึงทำให้ผู้ผลิตแม่พิมพ์ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ญี่ปุ่น (Japan Die & Mold Industry Association: JDMIA) โดยนาย Satoru Koide ประธานสมาคม จึงได้ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์และแนวโน้มของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไว้ ดังนี้
นาย Satoru Koide ประธาน JDMIA เปิดเผยข้อมูลว่า กว่า 80% ของผู้ผลิตแม่พิมพ์ในญี่ปุ่นเป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีพนักงานไม่ถึง 20 คน และมีมูลค่าในอุตสาหกรรมรวมอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านเยน หรือราว 14,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการระบาดของโควิด ทางสมาคมฯ จึงคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2020 นี้ มูลค่ารวมของทั้งอุตสาหกรรมจะลดลงต่ำกว่า 1 ล้านล้านเยน ซึ่งในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา พบว่ามีหลายบริษัทมียอดสั่งซื้อลดลงเป็นอย่างมาก ส่วนความต้องการจากอุตสาหกรรมยานยนต์ก็มีความเหลื่อมล้ำสูง แต่ในทางกลับกัน ผู้ผลิตที่ไม่ได้รับผลกระทบก็มีอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ผลิตแม่พิมพ์สำหรับเครื่องมือแพทย์
โควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแม่พิมพ์อย่างไร?
“ผู้ผลิตแม่พิมพ์แต่ละรายย่อมได้รับผลกระทบต่างกัน ตั้งแต่กระทบเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงรุนแรง ยกตัวอย่างเช่นผู้ผลิตแม่พิมพ์สำหรับตัวถังยานยนต์ แม้ในภาพรวมจะสาหัส โดยเฉพาะผู้ผลิตแม่พิมพ์สำหรับงานชิ้นส่วนอะลูมิเนียมของเครื่องยนต์ที่หยุดการผลิตไปหลายรายจนถึงตอนนี้ แต่ก็มีผู้ผลิตบางส่วนที่ได้รับออเดอร์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเนื่องจากความต้องการแม่พิมพ์สำหรับยานยนต์โมเดลใหม่”
คิดว่าความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของผู้ผลิตแม่พิมพ์ จะส่งผลอย่างไรในอนาคต?
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีที่ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) รถยนต์เซลล์พลังงานเชื้อเพลิง (Fuel Cell Vehicles: FCV) และกระทั่งแนวคิดเรื่อง Ride Sharing ทำให้สภาพแวดล้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีแม่พิมพ์มีความไม่แน่นอน และการระบาดของโควิดที่ทำให้ความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรมยานยนต์รุนแรงขึ้นก็ย่อมส่งผลต่ออุตสาหกรรมแม่พิมพ์โดยตรง ซึ่งสิ่งที่ผู้ผลิตทำได้ก็คือการรอดูแนวโน้มที่ชัดเจนหลังจากนี้ และเตรียมความพร้อมในระยะยาว
ความต้องการแม่พิมพ์ที่รองรับวัสดุใหม่ ๆ และเทคโนโลยีซิมูเลชัน (Simulation) จะเป็นสิ่งทีเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์อย่างแน่นอนภายใน 30 ปีหลังจากนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรทดลองอะไรหลาย ๆ อย่างเพื่อให้พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง
กำลังจะบอกว่า “ต้องพร้อมปรับตัวตามความต้องการใหม่ ๆ” ใช่หรือไม่
อุตสาหกรรมแม่พิมพ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดก็ขึ้นกับความต้องการของลูกค้า สิ่งที่ทำได้ในทันทีคือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการตลาด และการหาลูกค้ารายใหม่ ๆ และการส่งออก
ปัจจุบันอุตสาหกรรมแม่พิมพ์มีอุปสรรคอะไรบ้าง?
ปัญหาใหญ่ในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ขณะนี้คือปัญหาด้านบุคลากร เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีคนให้ความสนใจน้อย ทำให้การหาพนักงานที่มีทักษะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในญี่ปุ่นที่หลายบริษัทไม่สามารถหาผู้สืบทอดได้ ซึ่งผมมองว่า สิ่งที่จำเป็น คือการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในธุรกิจแม่พิมพ์ให้มีมาตรฐาน หรือมีการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม