ฟ้าหลังฝน อุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ สดใส หลังโควิด
หลังจากที่หลายฝ่ายต่างเฝ้ารอการมาถึงของเทคโนโลยีเครือข่าย 5G ในปี 2020 นี้ การระบาดของโควิด-19 กลับทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตต้องหยุดชะงัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งโรงงานในหลายประเทศจำเป็นต้องปรับลด หรือหยุดผลิตเพื่อป้องกันการระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี 5G จะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็จะต้องฟื้นตัวกลับมาด้วย ด้วยเหตุนี้เอง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จึงยังสามารถคาดหวังกับคลื่นลูกนี้ได้แน่นอน ซึ่งนักวิเคราะห์จากหลายสถาบันได้ประเมินแนวโน้มของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ออกมาในทิศทางเดียวกัน
เริ่มฟื้นตัวต้นปีหน้า
Goldman Sachs สถาบันการเงินรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา รายงานยอดขาย และการคาดการณ์จากผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ 21 บริษัท ระหว่างไตรมาสที่ 1 ปี 2020 ถึง ไตรมาสที่ 1 ปี 2021 ว่า ยอดขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสแรกปีนี้ ลดลงเฉลี่ย 8% และคาดการณ์ว่าจะลดลง 18% ในไตรมาสที่ 2, 25% ในไตรมาสที่ 3, ก่อนเริ่มฟื้นตัวเล็กน้อย และลดลง 11% ในไตรมาสที่ 4, จากนั้นจึงจะเพิ่มขึ้น 7% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2021
ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ค่ายญี่ปุ่น 2 ราย คือ Murata Manufacturing และ TDK คาดการณ์แนวโน้มตรงกันกับข้อมูลชุดนี้ แต่มีรายละเอียดตัวเลขที่แตกต่างออกไปบ้าง ซึ่ง Mr. Hiroki Takayama หัวหน้าแผนกวิจัยจาก Goldman Sachs แสดงความเห็นว่า “เป็นการคาดการณ์ที่อ้างอิงจากภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ไอที ( I.T. bubble) และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์”
Thermal Sensitive Resistor จาก Murata Manufacturing
Rakuten Securities สำนักวิเคราะห์ค่ายญี่ปุ่น คาดการณ์ว่า ปัจจัยหลักที่จะกระตุ้นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คือสมาร์ทโฟน ในขณะที่ยานยนต์ยังต้องประเมินสถานการณ์อีกมาก โดย Mr. Yasuo Imanaka หัวหน้านักวิเคราะห์ แสดงความเห็นว่า “ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะเริ่มฟื้นตัวในเดือนมิถุนายน ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับยอดขายสมาร์ทโฟน 5G ของประเทศจีนในไตรมาสที่ 2 ของนี้”
ในทางกลับกัน Goldman Sachs คาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 2 ความต้องการจะยังไม่ฟื้นตัว แต่เห็นตรงกันว่าสมาร์ทโฟน 5G จะเป็นการลงทุ้นที่คุ้มค่าที่สุด
Mitsubishi UFJ Securities สถาบันการเงินค่ายญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าความต้องการจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 โดย Mr. Akihiko Uchino นักวิเคราะห์อาวุโสแสดงความเห็นว่า “ผลิตภัณฑ์แรกที่จะฟื้นตัวคือสถานีฐานสำหรับ 5G, Data Center, และผลิตภัณฑ์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทาง IT จากนั้นจึงตามด้วยคอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนเป็นลำดับสุดท้าย”
ปีนี้มีโอกาส 2 ครั้ง
The Wall Street Journal สำนักข่าวระดับโลกจากสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2020 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีโอกาสฟื้นตัว 2 ครั้ง ครั้งแรกคือในไตรมาสที่ 2 ซึ่งจีนกำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาด และครั้งที่ 2 คือเมื่อ iPhone รุ่นใหม่วางจำหน่าย โดยสำนักข่าวรายงานว่า Apple มีกำหนดการวางจำหน่าย iPhone โมเดลใหม่ทั้งหมด 4 รุ่นในปีนี้ โดยมีทั้งหมด 3 ขนาด ส่วนหนึ่งใช้เทคโนโลยี 5G และทุกรุ่นใช้จอภาพ OLED
ซึ่งแม้ว่าความต้องการสมาร์ทโฟนจะลดลงจากการระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อเทียบกับความต้องการยานยนต์แล้ว พบว่าสมาร์ทโฟนมีโอกาสฟื้นตัวสูงกว่ามาก โดย Kyocera คาดการณ์ว่ารายได้ของบริษัทจะลดลง 12% ในปีงบประมาณ 2020 ซึ่ง Mr. Hideo Tanimoto ประธานบริษัทแสดงความเห็นว่า “รายได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์จะลดลงถึง 30% แต่ปัจจุบัน บริษัทยังได้รับออเดอร์จากผู้ผลิตสมาร์ทโฟน 5G, คอมพิวเตอร์, และแท็บเล็ตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์, สถานีฐาน, และตัวเก็บประจุเซรามิคแบบหลายชั้น (MultiLayer Ceramic Capacitors: MLCC)”
โดยสาเหตุที่ความต้องการ MLCC เพิ่มสูงขึ้นนั้น สืบเนื่องจากสมาร์ทโฟน 5G ใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ขึ้น จึงจำเป็นต้องลดขนาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ และในสมาร์ทโฟน 5G หนึ่งเครื่อง มี MLCC เป็นส่วนประกอบ 500 - 1000 ชิ้น ซึ่ง Murata Manufacturing ได้แสดงความเห็นตรงกัน และรายงานว่าความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้มากที่ว่า Apple จะชะลอการผลิต และการจำหน่าย iPhone รุ่นใหม่เหล่านี้ออกไป ซึ่งเป็นผลจากการหยุดชะงักของสายการผลิตและซัพพลายเชนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่ง Mr. Hiroki Takayama จาก Goldman Sachs แสดงความเห็นว่า “เราจะต้องเฝ้าดูครึ่งปีหลังจากนี้กันต่อไป”
คาดการณ์ยอดขาย 170 ล้านเครื่อง
Goldman Sachs คาดการณ์ยอดขายสมาร์ทโฟน 5G ในปี 2020 จะอยู่ที่ 170 ล้านเครื่องทั่วโลก ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่คำนึงถึงผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว และยอดขายจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดไปอยู่ที่ 450 ล้านเครื่องทั่วโลกในปี 2021 อย่างไรก็ตาม Mr. Hiroki Takayama ย้ำว่า ตัวเลขเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ ขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมโรคทั่วโลก
MM Research Institute สำนักวิเคราะห์อีกรายจากญี่ปุ่น แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ในช่วงแรก สมาร์ทโฟน 5G จะมีราคาแพง ซึ่งจากแบบสอบถามพบว่า 73.7% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่สนใจซื้อสมาร์ทโฟน 5G และแสดงความกังวลต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานว่า การระบาดของโรคจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานล่าช้า เมื่อโครงสร้างล่าช้าแล้ว สมาร์ทโฟน 5G ก็จะใช้งานจริงได้แค่ในไม่กี่พื้นที่ ซึ่งจะทำให้ยอดขายลดลงจากที่คาดการณ์ไปอีก