Akarin Hemyoo, Cerathai ผู้บริหารรุ่นใหม่ อัครินทร์ เหมอยู่ ทายาทบริษัทเซราไทย

Digitalization ชี้ชะตา ไม่เปลี่ยนถูกทิ้ง โอกาสทองคนรุ่นใหม่ อัครินทร์ เหมอยู่ ทายาทเซราไทย

อัปเดตล่าสุด 6 พ.ย. 2563
  • Share :

สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซัพพลายเชนของเทคโนโลยีด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่สนับสนุนการผลิตในโรงงานจึงมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดทิศทางและการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพรวม โดยเฉพาะในยุค Digitalization ที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

หนึ่งในผู้จัดหาเทคโนโลยีที่คร่ำหวอดในแวดวงอุตสาหกรรมการผลิตมายาวนานเกือบ 3 ทศวรรษอย่าง บริษัท เซราไทย จำกัด (Cerathai) โดย นายอัครินทร์ เหมอยู่ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และเป็นทายาทผู้รับไม้ต่อได้พูดคุยกับ “M Report” ถึงประเด็นด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอุตสาหกรรม 

Digitalization ชี้ชะตา ใครจะไปต่อ ใครจะถูกทิ้ง

ในยุคดิจิทัลเช่นนี้ สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้แปรเปลี่ยนเป็นข้อมูล ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมและผลตอบรับของผู้บริโภค ข้อมูลเหล่านี้เดินทางอย่างรวดเร็ว ถูกแบ่งปันและแทรกซึมไปยังห่วงโซ่ธุรกิจแบบเรียลไทม์ นำสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ธุรกิจที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้จะมีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวตามความต้องการของตลาดได้อย่างทันท่วงที เช่นเดียวกับฝั่งผู้ผลิตที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้สามารถผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของผู้บริโภค  ซึ่งการตระหนักรู้ถึงความต้องการเหล่านี้เองที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตไม่เพียงแต่ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการ แต่ยังทำให้มีช่องทางจำหน่ายที่มากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งช่วยให้สามารถบริหารต้นทุนและเวลาได้ตามเป้าหมาย เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ธุรกิจได้

ปัจุจบัน บริษัทเซราไทยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในหลายด้าน ทั้งการเพิ่มช่องทางออนไลน์สำหรับลูกค้าติดต่อรับบริการและสั่งซื้อสินค้า การดูแลลูกค้าและให้บริการหลังการขาย ระบบบริหารจัดการภายในองค์กรทั้งการทำงาน การวัดและประเมินผลงาน การเงินและบัญชี เพื่อให้การทำงานในทุกแผนกขององค์กรมีความน่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยข้อมูลหลายส่วนถูกนำขึ้นบนระบบคลาวด์ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้แบบเรียลไทม์ นำมาซึ่งความแม่นยำถูกต้อง สามารถตัดสินใจและดำเนินการได้อย่างเหมาะสม

“ ความได้เปรียบที่ชัดเจนของ Digitalization คือ เวลา 
ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากเรียลไทม์ ”

ยกตัวอย่างเช่น การเข้าให้บริการที่หน้าไซต์งานของลูกค้า ซึ่งหลายครั้งจะเป็นการแก้ปัญหาทางวิศวกรรมที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการเข้าใจและวิเคราะห์ปัญหา ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารในยุค Digitalization ผ่าน VDO call ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถเห็นปัญหาหน้างานจริง และพูดคุยรายละเอียดกับผู้ปฏิบัติงานได้ทันที ซึ่งกรณีนี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาช่วยงานบริการของเซราไทยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีที่สนับสนุนการทำงานทางไกล (Remote working) เป็นตัวช่วยชั้นดีสำหรับการทำงานในช่วงล็อกดาวน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด และเมื่อเทคโนโลยี 5G เป็นที่แพร่หลาย ก็จะช่วยให้การทำงานทางไกลมีศักยภาพมากขึ้น เช่น การนำมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) 

จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีดิจิทัลอยู่รอบตัวเรา ในฝั่งของเซราไทยนั้น เราเห็นเทรนด์ของเทคโนโลยีดิจิทัล 3 มิติ (3D Digital Technology) ซึ่งมีแอปพลิเคชันที่หลากหลายออกมาให้ได้ใช้กัน ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineering) การควบคุมคุณภาพ (Quality Control) รวมถึงความจริงเสมือน (Augmented and Virtual Reality) และอื่น ๆ ซึ่งหลายเทคโนโลยีได้เป็นที่รู้จักและนำมาใช้งานในบางส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทยบ้างแล้ว

3D Digital Technology

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าของงานวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineering) มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยมีเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นไปอย่างรวดเร็ว หน่วยงานภาคสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หน่วยงานภาคการศึกษา ได้มีการลงทุนด้าน 3D Printing อย่างแพร่หลาย หลายแห่งมีความคืบหน้าไปถึงเทคโนโลยี AM (Additive Manufacturing) ซึ่งเป็นการขึ้นรูปชิ้นงานด้วยการเติมเนื้อวัสดุหรือผงโลหะ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแนะนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าสู่สายการผลิตจริงในระยะถัดไป

การใช้เทคโนโลยี AM ผลิตชิ้นส่วนจริงในสายการผลิตนั้นไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวนัก แม้ว่าปัจจุบันต้นทุนการผลิตชิ้นงานแบบ AM จะยังมีราคาสูงอยู่ แต่ในหลายประเทศที่อุตสาหกรรมการผลิตพัฒนารุดหน้าเร็วกว่าไทย อย่างในญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐฯ ซึ่งมีการผลิตสินค้าแบบ Mass Customization สำหรับตลาดพรีเมี่ยมอยู่พอสมควรนั้น รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทน ความต้องการเหล่านี้จะไม่สามารถตอบสนองได้ดีด้วยการผลิตแบบดั้งเดิม ก็จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี AM ซึ่งนอกจากการลงทุนตั้งเครื่อง AM ไว้ในโรงงานแล้ว ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีบริการ Pay-Per-Use สำหรับการผลิตชิ้นงานแบบ AM อีกด้วย ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็อาจเป็นต้นแบบที่เราสามารถนำมาต่อยอดในการแนะนำเทคโนโลยี AM ให้แพร่หลายในภาคการผลิตไทยมากยิ่งขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมา เซราไทยได้นำ HP 3D Printer ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์ 3 มิติจากแบรนด์ HP (Hewlett-Packard) สหรัฐอเมริกา รองรับการผลิตระดับอุตสาหกรรมทั้งงานโลหะและพลาสติก มาแนะนำให้เป็นหนึ่งในตัวเลือกของอุตสาหกรรมไทย

นอกจากนี้แล้ว 3D Digital Technology ยังเกื้อหนุนต่อความก้าวหน้าในการควบคุมคุณภาพ (Quality Control) หนึ่งระบบสำคัญที่เคียงคู่กับระบบ Automation ซึ่งเป็นความท้าทายของหลายโรงงานที่กำลังเดินทางสู่โรงงานอัจฉริยะ Smart Factory ในเร็ววัน ในฐานะที่เซราไทยเป็นคู่คิดของลูกค้าเพื่อสร้าง Automation Journey โดยริเริ่มนำเสนอการใช้โคบอทสู่ตลาดอุตสาหกรรมไทยด้วย Cobot จาก Universal Robot พร้อมอุปกรณ์เฉพาะทาง Tool Changer ปลายแขนหุ่นยนต์จาก OnRobot และโซลูชั่นระบบความปลอดภัยในสายการผลิตอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้เพื่อผนวกเข้ากับระบบ Quality Control 

สำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่อย่าง “อัครินทร์ เหมอยู่” แล้ว Digitalization เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งทางบริษัทเซราไทยมีความพร้อมในการเป็นคู่คิดและให้การสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ร่วมในเส้นทางแห่งยุคดิจิทัลด้วยบุคลากร องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญจากเจ้าของเทคโนโลยี