‘โรงงานจีน’ ดิ้นสู้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและเทคโนโลยีไฮเทค
โรงงานจีนกำลังเจอปัญหาขาดแคลนแรงงาน Blue collar อย่างรุนแรง ท่ามกลางคอขวดทางเทคโนโลยีที่ถูกกีดกันจากชาติตะวันตก นี่จะเป็นความท้าทายในการเดินสู่เป้าหมาย Made in China 2025 ของอุตสาหกรรมการผลิตจีน
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2023 สำนักข่าว South China Morning Post รายงานถึงความไม่พอดีระหว่างภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง และความต้องการของประชากรอายุน้อยที่กำลังหางาน โดยอ้างอิง Zheshang Securities ว่า การจัดหาเทคโนโลยีหลักและมิดเดิลแวร์ที่สำคัญในภาคการผลิตของจีนต้องพึ่งพิงต่างประเทศเป็นอย่างมาก พร้อมยกตัวอย่างถึงกรณีของเมืองเทียนจิน เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจีน ซึ่งแม้จะมีการผลิตชิ้นส่วนโลหะจากเตาเผาอย่างแม่นยำ แต่ข้อมูลที่ได้กลับถูกส่งให้วิศวกรในเยอรมนีตรวจสอบ
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เกิดจากปัญหาแรงงาน แม้ว่าประเทศจีนยังอัตรามีค่าแรงในระดับต่ำ แต่กลับขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง
ปัจจุบัน ระบบอัตโนมัติกำลังแพร่หลายมากขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิต แต่ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคยังคงมีความสำคัญในการใช้งานและซ่อมแซมเครื่องจักร และหากโรงงานไม่สามารถหาแรงงานที่มีทักษะได้ โรงงานนั้นอาจประสบปัญหาและกดดันให้สูญเสียคำสั่งซื้อ ซึ่งความพยายามที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากสามปีที่มีมาตรการ zero-COVID อาจทำให้แนวโน้มนี้ขยายวงกว้างออกไปในระดับประเทศก็เป็นได้
พนักงานจากบริษัทในภาคการผลิตรายหนึ่งที่เมืองเทียนจินเผยว่า บริษัทเป็นหนึ่งในผู้รับผลกระทบจากการจัดหาแรงงานมีทักษะที่ยากยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มในจีนซึ่งงานที่คนหนุ่มสาวกำลังมองหาและงานที่มีความต้องการสูงไม่สอดคล้องกัน
แม้ว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษามากถึง 95% ของจีนจะสามารถหางานทำได้ทันที แต่ผู้ผลิตก็ยังประสบกับความยากลำบากในการจ้างแรงงานในระดับ Blue collar โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งปัญหานี้กลายเป็นประเด็นในช่องทางออนไลน์ของจีน และค่าตอบแทนแรงงานในกลุ่มนี้มีราคาพุ่งสูงมากกว่า 10,000 หยวน (1,450 ดอลลาร์สหรัฐ)
Advertisement | |
นาง Cindy Zheng CFO บริษัท Wago Electric Tianjin ผู้ผลิตขั้วต่อไฟฟ้า แสดงความเห็นว่า ในจีนมีคนตามหาตำแหน่งงานจำนวนมาก แต่การหาคนที่มีทักษะเพียงพอเป็นเรื่องยาก ซึ่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2023 นาง Zheng ได้กล่าวในงานอีเวนต์ของหอการค้ายุโรปว่า บริษัทประสบปัญหาการจัดหาแรงงานเป็นช่วงสั้น ๆ ในปีที่ผ่านมาเพื่อผลิตสินค้าให้ทันกับยอด Backlog โดยแสดงความเห็นว่า คนหนุ่มสาวชอบงานที่มีความยืดหยุ่น ในขณะที่คนอายุหลัก 20 คิดว่าการทำงานในโรงงานเป็นเรื่องน่าอับอาย และมีความเสี่ยงที่แนวโน้มนี้จะส่งผลกระทบต่อแผน “Made in China 2025” ของจีน
นาง Zheng กล่วต่อว่า อุตสาหกรรมต้องการแรงงานที่มีทักษะมากขึ้นจึงจะก้าวสู่การผลิตที่ทันสมัยได้ และบริษัทกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในตำแหน่งพนักงานควบคุมเครื่อง CNC เป็นอย่างมาก
กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคมของจีนคาดการณ์ว่า ในปี 2025 อุตสาหกรรมการผลิตจีนจะขาดแคลนแรงงานเกือบ 30 ล้านตำแหน่ง หรือราวเกือบครึ่งหนึ่งของภาคการผลิต นอกจากนี้ ผลสำรวจในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 ยังพบว่า เกือบครึ่งของ 100 อาชีพที่ขาดแคลนแรงงานรุนแรงที่สุดมาจากภาคการผลิตอีกด้วย
ซึ่งการขาดแคลนวิศวกรที่มีทักษะนี้กำลังเป็นปัญหาที่เพิ่มแรงกดดันให้กับผู้ผลิต อีกทั้งยังส่งผลต่อความพยายามของจีนในการสนับสนุนภาคการผลิตอัจฉริยะ (intelligent manufacturing) ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
นาย Christoph Schrempp ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์ประกอบและส่งมอบอากาศยาน C&DC เมืองเทียนจิน บริษัทแอร์บัส (Airbus) แสดงความเห็นว่า รัฐบาลควรมีพื้นที่ให้กับแรงงานที่มีทักษะ เพื่อรองรับทั้งความก้าวหน้าทางวิชาชีพ สถานะทางสังคม และความเคารพที่มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคมในภาพรวม และย้ำว่าเปลี่ยนการรับรู้ของสาธารณชนเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สังคมรู้ว่าแรงงานในระดับ Blue collar ต่างกับเมื่อ 50 ปีที่แล้ว
บริษัทผลิตเรืออีกรายในเทียนจินมีความกังวลต่อการขาดแคลนแรงงานเช่นเดียวกัน โดยเผยว่ามีคนอายุน้อยยินดีทำงานในอู่ต่อเรือน้อยลงเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าแรงเพื่อให้ผลิตตามออเดอร์ได้ทัน และแสดงความเห็นว่า หากค่าแรงสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้น และอาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งเจ้าของบริษัทแสดงความเห็นว่า หากบริษัทไม่มีกำไร ธุรกิจก็จะหดตัว และทำให้แรงงานหางานได้ยากขึ้นในอนาคต
รายงานการจ้างงานเดือนธันวาคม 2022 เผยว่า ประเทศจีนมีจำนวนแรงงานในปี 2021 กว่า 400 ล้านคน ซึ่งเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรจีนวัยทำงาน อย่างไรก็ตาม มีแรงงานที่ทักษะไม่เพียงพอต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตจีนมากถึงหลายล้านตำแหน่ง
ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นอีกส่วนที่มีผลต่อการจ้างงาน มีความไม่พอดีกันระหว่างผู้หางานรุ่นใหม่ที่ไม่เต็มใจทำงานในตำแหน่งแรงงาน และบริษัทในภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างที่ขาดแคลนแรงงาน ทำให้เยาวชนจีนมีอัตราการว่างงานสูง นอกจากนี้ นักศึกษาอาชีวะในจีนยังมีความไม่พอใจที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมในภาคปฏิบัติซึ่งจะทำให้พวกเขาได้รับประสบการณ์จริงอย่างเพียงพออีกด้วย
ในการประชุมรัฐสภากรุงปักกิ่งที่จบไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตัวแทนของหน่วยงานด้านกฎหมายจีนเสนอให้รัฐออกมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยคิดค้นแพลตฟอร์มการจ้างงาน รวมถึงการจับคู่แรงงานที่มีศักยภาพกับนายจ้าง
ในอีกด้านหนึ่ง คอขวดทางเทคโนโลยียังคงส่งผลกระทบต่อจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาติตะวันตกใช้มาตรการกีดกันความสามารถทางเทคโนโลยีของจีน ซึ่งในปี 2018 หนังสือพิมพ์ Science and Technology Daily จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน (MOST) ระบุ สิ่งที่เป็นคอขวดของจีนคือ ชิปเซมิคอนดักเตอร์, อากาศยาน, ซอฟต์แวร์, เซนเซอร์สัมผัส (Tactile sensors), กังหันก๊าซขนาดใหญ่, ไมโครโฟน, Lidar, Medical imaging equipment, และอื่น ๆ อีกทั้งเผยว่าบริษัทมากกว่า 30 รายไม่สามารถเข้าถึง 32% ของวัสดุสำคัญ นอกจากนี้ ชิปไฮเทคมากถึง 95% ยังถูกนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการอัปเดตตัวเลขนี้
#จีน #ขาดแคลนแรงงาน #madeinchina #china2025 #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH