เศรษฐกิจจีนฟื้น จัดซื้อภาคผลิต-ส่งออก-จ้างงานโตต่อเนื่อง 4 อุตฯ หลัก ทำกำไรเพิ่ม
เศรษฐกิจจีนได้พลิกจากการหดตัว 6.8% กลับมาเติบโต 3.2% ในไตรมาส 2 เช่นเดียวกับการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีสำคัญหลายตัวในเดือนสิงหาคม ทั้งการจัดซื้อภาคผลิต (PMI) การส่งออก และการจ้างงาน ขณะที่ธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 4 เซกเตอร์ทำกำไรเพิ่มขึ้นในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เปิดเผยรายงานผลกำไรรวม (Total Profit) ของธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศจีนที่มีมูลค่าสูงกว่า 20 ล้านหยวน หรือราว 2.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2020 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,102,000 ล้านหยวน หรือราว 45,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 8.1% และจากทั้งหมด 41 อุตสาหกรรมมีเพียง 4 อุตสาหกรรมหลักที่มีผลกำไรเพิ่มขึ้น ได้แก่
- อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร และอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 28.7%
- อุตสาหกรรมเครื่องมือเฉพาะทาง (Special Equipment) เพิ่มขึ้น 24.1%
- อุตสาหกรรมเครื่องจักรทั่วไป เพิ่มขึ้น 3.2%
- อุตสาหกรรมเกษตร และอาหารแปรรูป เพิ่มขึ้น 20.1%
อย่างไรก็ตาม แม้อุตสาหกรรมส่วนมากของจีนจะประสบผลกำไรลดลง แต่สถานการณ์ก็นับว่าดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันหากเทียบกับช่วงต้นปี โดยในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนได้พลิกจากการหดตัว 6.8% กลับมาเป็น GDP อยู่ในแดนบวก 3.2% และคาดว่าจะยังคงเติบโตได้ในไตรมาสนี้
ไม่เพียงแต่ตัวเลข GDP ที่เติบโตขึ้น ล่าสุดดัชนีสำคัญหลายตัวของจีนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาต่างขยับปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers Index: PMI) อยู่ที่ 51.0 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 หลังจากทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2020 ซึ่งตัวเลขนี้ แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิตจีนอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนะบุว่า ตัวเลขที่สูงกว่า 50.0 ได้สะท้อนถึงกำลังผลิตของโรงงานที่เพิ่มขึ้น
นอกจากดัชนี PMI แล้ว ดัชนีการส่งออกและดัชนีการจ้างงานของจีนในเดือนสิงหาคมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยดัชนีส่งออกเพิ่มจาก 48.4% ขึ้นมาเป็น 49.1% และดัชนีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 49.3% เป็น 49.4%
อย่างไรก็ตาม มีรายงานถึงปัญหาด้านเงินลงทุน โดยกว่า 40% ของผู้ประกอบการยังขาดเม็ดเงินลงทุน ทำให้การผลิตมีความยากลำบากกว่าในสภาวะปกติ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 50% ของธุรกิจที่นำมาคำนวนดัชนี PMI แสดงความเห็นว่าแม้จะมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ความต้องการก็ยังไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ สำนักข่าว South China Morning Post ได้รายงานความเห็นจากสถาบันวิจัย Zhongtai Securities เพิ่มเติมว่า แม้จะมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวก็เริ่มช้าลงกว่าในช่วงกลางปี การใช้จ่ายของผู้ผลิตรายเล็กหดตัว อีกทั้งการส่งออกยังมีแนวโน้มจะลดลงในอนาคตสืบเนื่องจากความต้องการระยะสั้นในหมวดหมู่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคระบาดจะลดลงหลังหลายประเทศเริ่มกลับมาเดินหน้าการผลิตด้วยตัวเองได้