วิกฤตซัพพลายเชนโลก: ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อธุรกิจ
การระบาดของ COVID-19 ไม่เพียงแต่คุกคามระบบสาธารณสุข ทำให้พวกเรามุ่งมั่นต่อสู้กับโรคร้ายเพื่อรักษาชีวิตและสุขภาพของผู้คนตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ทว่า “ผลกระทบจากโควิด 19 ต่อธุรกิจ” ยังมีอีกหลายมิติจนถูกยกระดับสู่ “วิกฤตซัพพลายเชน”
Advertisement | |
วิกฤตซัพพลายเชนเกิดจากอะไร?
เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา Guy Platten เลขาธิการหอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce: ICC) เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า
ปัญหาด้านซัพพลายเชนในครั้งนี้มาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่การขึ้นราคาวัตถุดิบ, ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น, การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า, และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และลูกเรือ ซึ่งปัจจุบัน สินค้ากว่า 90% ของโลกถูกขนส่งทางเรือ และมีการขาดแคลนลูกเรือมากถึง 100,000 ตำแหน่ง ซึ่งรุนแรงกว่าช่วงล็อคดาวน์ในปี 2020 ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนสินค้าทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก น้ำมัน ไปจนถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
“วิกฤตซัพพลายเชน” กำลังสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก
ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาและจีนซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมแล้วมากกว่า 40% ของโลกต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตซัพพลายเชนในครั้งนี้ หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและเศรษฐกิจในประเทศอื่น ๆ ได้
Chris Williamson หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสำนักวิเคราะห์ IHS Markit แสดงความเห็นว่า สิ่งที่น่ากังวลคือกำลังการผลิตในระยะสั้น เนื่องจากหากกำลังการผลิตลดต่ำลง ก็จะยิ่งทำให้สินค้าต่าง ๆ มีราคาสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการสินค้ามีสูงกว่าปริมาณสินค้าในตลาด ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นพบว่าธุรกิจต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและแรงงานอย่างต่อเนื่อง
Union Pacific ผู้ให้บริการการขนส่งทางรถไฟหนึ่งในสองรายใหญ่จากสหรัฐฯ จำเป็นต้องหยุดให้บริการขนส่งสินค้าจากท่าเรือชิคาโก้เป็นการชั่วคราวเพื่อให้มีเวลาระบายตู้สินค้าในท่าเรือ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายรายแสดงความเห็นว่า การหยุดให้บริการขนส่งสินค้าก็จะเป็นภาระต่อท่าเรือแห่งอื่นแทน
ส่วนในจีนนั้น เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม สมาคมท่าเรือจีน (China Ports and Harbours Association) รายงานว่าจีนเองก็ประสบปัญหาติดขัดด้านการขนส่งสินค้าเช่นเดียวกัน โดยเป็นผลจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และภูมิภาคอื่น ๆ ที่ทำให้มียอดสั่งซื้อสินค้าเข้ามายังประเทศจีนจำนวนมาก
ฝั่งภูมิภาคแอฟริกาใต้ ยังมีประเด็นการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งอาจจะส่งผลให้สถานการณ์ซัพพลายเชนที่ร้ายแรงอยู่แล้วเลวร้ายลงไปอีก
นอกจากนี้ ยังมีมหาอุทกภัยในยุโรปช่วงเดือนกรกฎาคม 2021 โดยเฉพาะในเยอรมนีที่เสียหายอย่างหนัก ทำให้ซัพพลายเชนที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนักจากการระบาดของโควิดระลอกแรกในปีที่ผ่านมาได้รับความเสียหายมากยิ่งขึ้น โดยนับตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม การขนส่งทางถนนในเยอรมนีล่าช้าลงเป็นอย่างมาก โดย FourKites แพลตฟอร์มด้านการติดตามสินค้ารายงานว่า การขนส่งสินค้าในเยอรมนีล่าช้ากว่าช่วงก่อนน้ำท่วมถึง 15%
Nick Klein รองประธานฝ่ายขาย OEC Group บริษัทโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ซึ่งรับขนส่งสินค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและไต้หวัน รายงานว่า ปัจจุบันมีสินค้าตกค้างที่ท่าเรือจำนวนมาก และอาจต้องใช้เวลาไปจนถึงเดือนมีนาคม 2022 จึงจะสามารถจัดส่งได้ทั้งหมด
“ภาคอุตสาหกรรม” ดิ้นสู้วิกฤตฯ
วิกฤตซัพพลายเชนได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างชัดเจน และยังไม่จบลงง่าย ๆ โดยโตโยต้าจำเป็นต้องหยุดการผลิตยานยนต์ในโรงงานหลายแห่งเนื่องจากการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ได้ตามความต้องการ ซึ่งเมื่อผนวกกับการระบาดของโควิดทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม
Stellantis เป็นอีกบริษัทที่ได้รับผลกระทบ จนต้องหยุดการผลิตยานยนต์ในโรงงานที่อังกฤษเช่นเดียวกัน
- วิกฤตชิปรถยนต์ ไม่จบง่าย อยู่ยาวถึงปี 2022
- อุตฯ ยานยนต์วิกฤตหนัก หลายชิ้นส่วนขาดตลาด กระทบการผลิตทั่วโลก
ผู้บริหารบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์รายหนึ่งจากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ให้กับฟอร์ด รายงานว่า ปัญหาด้านโลจิสติกส์ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะสินค้าที่มีเหล็กกล้าเป็นส่วนประกอบ โดยมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 10%
อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเองก็ประสบปัญหาซัพพลายเชนที่รุนแรงไม่แพ้กัน โดย Electrolux ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดจากยุโรปได้รายงานว่ามีปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนจนส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิต
หรือกระทั่งในอุตสาหกรรมอาหารเองก็เริ่มส่งผลด้วย เช่น Domino's Pizza ซึ่งเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า วิกฤตซัพพลายเชนส่งผลกระทบต่อการจัดส่งเครื่องจักรสำหรับใช้งานในร้านสาขาต่าง ๆ
#ผลกระทบจากโควิด 19 ต่อธุรกิจ #วิกฤตซัพพลายเชน 2021 #วิกฤตซัพพลายเชน #Supply Chain Crisis 2021 #โลจิสติกส์ #ตู้สินค้าขาดแคลน #ชิ้นส่วนขาดตลาด #ชิปขาดตลาด #วิกฤต ชิป #ชิป รถยนต์ ขาดตลาด #Semiconductor ขาดตลาด #ผลกระทบ ชิปขาดแคลน #ขึ้นราคา #ราคาวัตถุดิบ #สินค้าราคาแพง #ซัพพลายเชน #ปัญหาการขนส่งสินค้า #น้ำท่วมเยอรมัน #M Report #Mreport #ข่าวออนไลน์ เอ็ม รีพอร์ต #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรมการผลิต
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- นิยามใหม่ SME ปี 63 ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- 8 แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในอนาคต (8 Industry’s Mega Trend)
- 10 รับเหมาฝ่าวิกฤตโกยรายได้ปี”62 ITD ยืนหนึ่ง “ซิโน-ไทยฯ” แซงหน้า “ช.การช่าง”
- บอร์กวอร์เนอร์ (BorgWarner) ฉลองเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่นิคมฯ อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง)
- เซ็นแล้ว! 'อู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก' เฟสแรกเสร็จปี 67
- ยอดขายรถยนต์เมษายน 2564
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH