ผู้ผลิตยานยนต์ “ลดต้นทุนอีวี” อย่างไร?

ผู้ผลิตยานยนต์ “ลดต้นทุนอีวี” อย่างไร?

อัปเดตล่าสุด 4 เม.ย. 2566
  • Share :
  • 35,463 Reads   

แม้อียูจะอนุมัติให้ขายรถที่ใช้ e-Fuels แล้ว แต่รถอีวีก็จะยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และค่ายรถยังคงแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือ “การลดต้นทุนอีวี” 

โตโยต้าตั้งเป้า EV แบรนด์ Lexus ปี 2026

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 นายโคจิ ซาโตะ ซึ่งในขณะนั้นเป็นว่าที่ประธานบริษัทโตโยต้า กล่าวว่าโตโยต้าจะทำการพัฒนาแพลตฟอร์มรถอีวีหรูและแบตเตอรี่ภายใต้แบรนด์เล็กซัส โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ปี 2026 ซึ่งผู้เกี่ยวข้องเผยว่า การประกาศครั้งนี้เป็นการปรับเป้าหมายให้เร็วขึ้นหนึ่งปีจากแผนเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2027 

Lexus RZ450e รถอีวีรุ่นแรกภายใต้แบรนด์เลกซัส

“e-TNGA” แพลตฟอร์มอีวีของโตโยต้ามีแนวคิดในการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันกับยานยนต์ปัจจุบันบนสายการผลิตเดิมที่มีอยู่ ทำให้สามารถลดเงินลงทุนช่วงแรกลงได้ อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มนี้ทำให้รถอีวีของโตโยต้ามีข้อจำกัดในการออกแบบ ในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์แสดงความเห็นว่า แนวคิดนี้ “ทำให้อีวีโตโยต้ามีสมรรถนะด้อยกว่าอีวีเทสล่าที่พัฒนาให้รถน่าใช้งาน”

อย่างไรก็ตาม โตโยต้าจะยังคงความหลากหลายของตัวเลือกยานยนต์ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้านพลังงานในแต่ละตลาด ซึ่งในอนาคตบริษัทก็จะเข้าสู่ธุรกิจแบบ “EV First” ในที่สุด 

Advertisement

ปัจจุบัน โตโยต้าอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์ม e-TNGA ซึ่งมีแผนเปิดตัวในช่วงปี 2024 - 2025 ฝ่ายบริหารของโตโยต้ารายหนึ่งเผยว่า แพลตฟอร์มนี้จะมีการติดตั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จำเป็นสำหรับยุคอีวี

ในฟากตลาดสหรัฐฯ โตโยต้าเองยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเดินสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่โรงงานในรัฐเคนตักกี้ ภายในปี 2025 - 2026 แม้แผนนี้ยังไม่กำหนดตายตัว แต่เป็นที่คาดว่าจะมีกำลังผลิตรถอีวี 100,000 - 200,000 คัน เนื่องจากในมุมหนึ่ง เทสล่า Model Y สามารถทำยอดขายในสหรัฐฯ ได้ 200,000 คันในปี 2022 ที่ผ่านมา แต่ในทางกลับกัน อีวีโมเดลหลักของฟอร์ดทำยอดขายได้เพียง 50,000 คันเท่านั้น

ในอีกด้านหนึ่ง กฎหมาย Inflation Reduction Act ของสหรัฐฯ ซึ่งกระตุ้นให้ค่ายรถผลิตและจัดหาวัตถุดิบในอเมริกาเหนือ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องแสดงความเห็นว่าโตโยต้าควรเลื่อนแผนผลิตอีวีในสหรัฐฯ ให้เร็วขึ้นและเริ่มผลิตในปี 2024 แทน ซึ่งผู้บริหารของโตโยต้ารายหนึ่งเผยว่า บริษัทจำเป็นต้องประเมินอย่างรอบคอบก่อนว่า จะสามารถคาดหวังยอดขายได้หรือไม่ และจะปรับตัวตามกฎหมายนี้อย่างไร

ผู้ผลิตเครื่องจักรกลรายหนึ่งเผยว่า ปัจจุบันโตโยต้ากำลังพิจารณาจัดหาเครื่องเพรสขนาดใหญ่กว่า 4,000 ตัน เพื่อรวมชิ้นส่วนต่าง ๆ ของตัวถังให้เป็นชิ้นส่วนเดียวกันเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดต้นทุนการผลิตให้น้อยลง 

นิสสันลดต้นทุน มุ่งใช้ ‘ชิ้นส่วนร่วมกัน’

นิสสัน เป็นอีกบริษัทที่มีแนวทางคล้ายคลึงกัน ด้วยการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ร่วมกันในรถหลายรุ่น ซึ่งกุญแจสำคัญในการลดต้นทุนของนิสสัน คือระบบ “e-POWER” เทคโนโลยีรถยนต์ไฮบริด (HV) ที่มีเอกลักษณ์ คือ การใช้เครื่องยนต์ในการผลิตพลังงานเท่านั้น และขับเคลื่อนยานยนต์ด้วยมอเตอร์ ทำให้รถของนิสสันสามารถใช้ชิ้นส่วนสำคัญร่วมกันได้ เช่น Sakura และ Note ที่ใช้มอเตอร์แบบเดียวกัน

สายการผลิตมอเตอร์จากโรงงานโรงงานนิสสัน โยโกฮะมะ

ในส่วนของเทคโนโลยีเพื่อรถอีวี นิสสันได้เผยแนวทางใหม่ในการพัฒนาระบบส่งกำลังด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเรียกว่า “X-in-1” แบ่งเป็นระบบส่งกำลังยานยนต์แบบ 3-in-1 ซึ่งเปลี่ยนมอเตอร์ อินเวอร์เตอร์ และรีดิวเซอร์เป็นระบบโมดูล และระบบส่งกำลัง 5-in-1 ซึ่งเพิ่มเติมเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเครื่องช่วยเพิ่มกำลังจากระบบ 3-in-1 ตั้งเป้าลดต้นทุน 30% ในปี 2026 

ซึ่งนายโทชิฮิโระ ฮิราอิ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กล่าวว่า นิสสันตั้งเป้าใช้แนวคิดเครื่องยนต์นี้ร่วมกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่โซลิดสเตต เพื่อลดต้นทุนการผลิตรถอีวีให้เหลือใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2030

นอกจากนี้ นิสสันยังมีแผนใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ร่วมกับ Renault มากขึ้นในอนาคต ไปจนถึงการใช้แบตเตอรี่และมอเตอร์แบบเดียวกับรถปลั๊กอินไฮบริด (PHV) ของมิตซูบิชิอีกด้วย ซึ่งนายทาคาโอะ คาโตะ ประธานบริษัทมิตซูบิชิเผยว่า บริษัทกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะสามารถใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ร่วมกับนิสสันมากขึ้นได้อีกหรือไม่

Honda ร่วม GM ใช้ชิ้นส่วนและสายการผลิตร่วมกัน

ฝั่งฮอนด้าได้ร่วมพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและตัวถังยานยนต์กับ General Motors และตั้งเป้าเริ่มจัดจำหน่ายในปี 2024 และมีแผนพัฒนารถอีวีให้มีราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้นเพื่อเปิดตัวสู่ตลาดโลกภายในปี 2027 หรือหลังจากนั้น โดยออกแบบยานยนต์ให้ใช้สายการผลิตร่วมกันได้ ซึ่งวางเป้าหมายยอดการผลิตไว้หลักหลายล้านคัน

เทสล่าสู้ หั่นต้นทุนด้วยกระบวนการผลิตใหม่

สำหรับรายใหญ่ของตลาดอีวีอย่างเทสล่า ได้มีการปรับปรุงสายการผลิตและกระบวนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ แบ่งยานยนต์ออกเป็น 6 ส่วน เพื่อประกอบส่วนย่อยต่าง ๆ เข้าด้วยกันก่อนประกอบเป็นยานยนต์สำเร็จรูป หั่นต้นทุนการผลิตลงราวครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับ Model Y

ปัจจุบัน เทสล่ายังมีกระบวนการปั๊มชิ้นส่วน ประกอบตัวถัง ทำสี และการประกอบส่วนตกแต่งขั้นสุดท้ายเหมือนกับค่ายรถอื่น ๆ แต่ในอนาคต บริษัทได้ตั้งเป้าพัฒนากระบวนการเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 40%

นอกจากนี้ เทสล่ายังมีแผนลงทุนโรงงานแห่งใหม่ในเม็กซิโก ซึ่งจะติดตั้งสายการผลิตที่ใช้แนวทางนี้เช่นกัน โดยนายมาซาโตชิ โยชิคาวะ เจ้าหน้าที่บริหารสำนักวิจัย MarkLines แสดงความเห็นว่า กระบวนการผลิตนี้ยังมีอุปสรรคอยู่ แต่หากทำได้สำเร็จจะเป็นการปฏิวัติกระบวนการผลิตยานยนต์ครั้งใหญ่

โดยเดิมทีเทสล่าตั้งใจพัฒนาตัวถังรถอีวีให้ทนทานกว่ารถหรูอย่าง BMW และนำเครื่องฉีดอะลูมิเนียมไดคาสติ้งมาใช้ในการผลิตโครงสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งแนวคิดนี้ประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนและเพิ่มความคงทนของตัวถังยานยนต์เป็นอย่างมาก

นายมาซาโตชิ โยชิคาวะ อธิบายต่อว่า โดยทั่วไปแล้ว ค่ายรถหน้าใหม่มักเลือกใช้กระบวนการผลิตตามค่ายเดิมที่อยู่ในอุตสาหกรรมมายาวนาน แต่เทสล่ามีความแตกต่าง คือ พยายามพัฒนากระบวนการผลิตที่ทันสมัยด้วยตัวเอง และเป็นเรื่องแปลกมากที่ค่ายรถจะพัฒนาชิ้นส่วนต่าง ๆ ใหม่เอง เช่น การออกแบบแผงวงจรและเซมิคอนดักเตอร์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งแนวทางนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการสร้างความคุ้นเคยกับการผลิตอย่างเต็มรูปแบบต่างจากผู้ผลิตรถยนต์หลายราย

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าค่ายอื่น ๆ จะน้อยหน้า ยกตัวอย่างเช่น BMW และนิสสันซึ่งมีเทคโนโลยีด้านรถยนต์ไฟฟ้าไม่ด้อยไปกว่ากัน อีกทั้งยังประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้บริหารค่ายรถรายหนึ่งวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ยอดขายรถอีวีของค่ายรถเหล่านี้ยังทิ้งห่างกันมาก คือ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งเทสล่าได้สร้างจุดขายที่ต่างกับค่ายอื่นได้ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การอัปเดตรถอีวีด้วย Over-the-air ทำให้เทสล่าได้กลุ่มลูกค้าที่ต่างไปจากผู้ผลิตรายอื่นด้วย

BYD เป็นอีกค่ายที่โดดเด่นด้วยการพัฒนาแบตเตอรี่และเซมิคอนดักเตอร์ด้วยตนเอง ซึ่งนายมาซาโตชิอธิบายว่า เป็นแนวทางที่คล้ายคลึงกับเทสล่า คือ การพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองเพื่อให้ได้ยานยนต์ในแบบที่บริษัทต้องการมากที่สุด พร้อมแสดงความเห็นว่า แม้อียูจะอนุญาตให้ขายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปจาก E-Fuels หลังปี 2035 แต่นโยบายที่มุ่งไปยังการลดก๊าซคาร์บอนยังคงเป็นนโยบายสำคัญ และคาดหวังว่าค่ายรถญี่ปุ่นจะมุ่งพัฒนาอีวีต่อไป

 

#รถยนต์ไฟฟ้า #ลดต้นทุน #ยานยนต์ #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH