ส่องภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก ช้ำแค่ไหนจากโควิดระลอกใหม่

ส่องภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก ช้ำแค่ไหนจากโควิดระลอกใหม่

อัปเดตล่าสุด 8 ก.พ. 2564
  • Share :

♦ การระบาดของโควิดระลอกใหม่ในหลายภูมิภาค ทำให้เป็นการเริ่มต้นปีที่ไม่ดีนักสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชน
♦ ภาพรวมยุโรป ดัชนี PMI เดือนมกราคม 2021 ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีแนวโน้มการเติบโตอยู่ 
♦ ฝั่งเอเชีย ผู้ส่งออกชิปรายใหญ่อย่างเกาหลีใต้และไต้หวัน รับอานิสงส์จากความต้องการคอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์ IT 

 

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานความเคลื่อนไหวภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกตลอดช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เผยการระบาดของโควิดระลอกใหม่ในหลายภูมิภาค ทำให้เป็นการเริ่มต้นปีที่ไม่ดีนักสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต 

Claus Vistesen ประธาน Pantheon Macroeconomics สำนักวิเคราะห์การตลาดในเครือ Wall Street Journal surveys แสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมการผลิตในภาพรวมยังไม่มีปัญหามากนัก ความต้องการและกำลังผลิตยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่จุดที่ได้รับผลกระทบคือการซัพพลายสินค้าที่ยังมีจำกัด

ในภูมิภาคยุโรป สำนักการตลาด IHS Markit รายงานว่าดัชนี PMI ในอุตสาหกรรมการผลิตเดือนมกราคม 2021 ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยและแสดงแนวโน้มการเติบโตอยู่ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขในเดือนมกราคมนี้ลดลงจากเดือนธันวาคม 2020 มาอยู่ที่ 54.8 จุด

สำหรับประเทศอังกฤษ มีรายงานว่าอุตสาหกรรมการผลิตมีการชะลอตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 3 เดือน ซึ่งเป็นผลจาก Brexit ทำให้การส่งออกและซัพพลายเชนยังไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ส่วนในเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป พบว่ามียอดสั่งซื้อสินค้าจากต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิดระลอกใหม่ส่งผลให้เกิดการล็อคดาวน์ภายในประเทศ ทำให้ไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ตามต้องการ

ในทางกลับกัน ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีความคึกคักในอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น 

ทางฟากเอเชีย ผู้ส่งออกชิปรายใหญ่อย่างเกาหลีใต้และไต้หวัน ยังคงเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากความต้องการคอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์ IT ที่เพิ่มขึ้น จากความต้องการ Work From Home ที่กลับมาอีกครั้ง โดยเกาหลีใต้มีการเติบโตของกิจกรรมในโรงงานสูงสุดในรอบ 10 ปี และมีการเติบโตของการส่งออกถึง 11.4% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2020

ส่วนประเทศที่มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วตลอดปี 2020 อย่างจีน พบว่าการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้ยอดส่งออกสินค้า และดัชนี PMI ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเดือนมกราคม 2021 ลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ในขณะที่ญี่ปุ่นมีสถานการณ์ที่ไม่ต่างกันมากนักจากการประกาศสภาวะฉุกเฉิน

Alex Holmes นักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียจากสำนักวิเคราะห์ Capital Economics แสดงความเห็นว่า ดัชนี PMI ในอุตสาหกรรมการผลิตเอเชีย ประจำเดือนมกราคม 2021 สะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมในภาพรวมยังคงมีการปรับตัวดีขึ้น โดยมีความต้องการชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์เป็นแรงผลักดันหลัก และมีแนวโน้มว่าจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตไปอีกหลายเดือน

Takeshi Okuwaki นักเศรษฐศาสตร์จาก Dai-ichi Life Research Institute แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ญี่ปุ่นอาจจำเป็นต้องลดกำลังผลิตลงจากสภาวะฉุกเฉินในครั้งนี้ และต้องใช้เวลาอีกมากในการแก้ปัญหาการขาดแคลนชิป ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นอย่างรุนแรง

ส่วนในอินเดีย มีการเติบโตสูงสุดในรอบ 3 เดือน สืบเนื่องจากการฟื้นตัวของตลาด

ทางด้านอินโดนีเซีย ก็เป็นอีกประเทศที่อุตสาหกรรมการผลิตเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม มาเลเซียยังคงชะลอตัวอยู่ ส่วนเวียดนามมีการฟื้นตัวแต่เป็นไปในอัตราที่ไม่รวดเร็วนัก