อีกหนึ่งความเชื่อมั่นของบุคลากรไทย ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาค ASEAN

อัปเดตล่าสุด 30 ม.ค. 2562
  • Share :

ระหว่างวันที่ 13 – 18 มกราคม 2562 (ที่ผ่านมา) สถาบันไทย-เยอรมัน ร่วมกับ AMEICC (AEM-METI Economic and Industrial Cooperation Committee) และ The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships (AOTS), Japan ได้จัดฝึกอบรม ในหลักสูตร “Factory Maintenance Course-Electric Relay & Programing” (Basic Level) ให้กับผู้เข้าอบรมจากประเทศกัมพูชา  โดยวันนี้ได้รับเกียรติจากคุณ Tomoe Watanabe,Assistant Manager Project Coordination Group AMEICC Secretariat Support Department  และ คุณสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้

Q: รบกวนแนะนำที่มาของ AOTS และโครงการนี้ค่ะ

A: แนวคิดของ “AMEICC” หรือ AEM-METI Economic and Industrial Cooperation Committee (AMEICC) เกิดขึ้นหลังจากการประชุม ASEAN-Japan Summit ณ Kuala Lumpur, Malaysia ในปี 1997 ว่าควรต้องมีหน่วยงานที่เป็น Policy Consultation โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของการแข่งขันในกลุ่มประเทศสมาชิก ASEAN ดังนั้น AMEICC จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1998  และในส่วนของ The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships หรือ AOTS  ได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1959 โดยปัจจุบันมีบทบาทเป็นสำนักเลขาธิการของ “AMEICC” กิจกรรมต่างๆ ของ  AOTS ก็ได้รับทุนมาจาก AMEICC มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาบุคลากรของกลุ่มประเทศอาเซียน AOTS ทำกิจกรรมหลายอย่าง  เช่น 

  • กิจกรรมให้ผู้ฝึกอบรมจากต่างประเทศไปอบรมที่ญี่ปุ่น ซึ่งผลงานของปีที่แล้วอบรมไปจำนวน 4000 กว่าคนจาก  230 ประเทศ 
  • Overseas Training Programs หรือการจัดอบรม/สัมมนาที่ต่างประเทศ ในปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมประมาณ 900 คน 
  • Experts Dispatch programs  หรือ กิจกรรมส่งผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นไปให้ความรู้ในโรงงานในต่างประเทศ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นมากกว่า 340 คน

Q: รายละเอียดโครงการ The Training on Factory Maintenance Course-Electric Relay & Programing เป็นอย่างไรบ้างคะ 

A:  หลักสูตร “Factory Maintenance Course-Electric Relay & Programing” (Basic Level) ดำเนินการโดย AMEICC (AEM-METI Economic and Industrial Cooperation Committee)  และ The Association for Overseas Technical Cooperation and Sustainable Partnerships (AOTS) ประเทศญี่ปุ่น โดยร่วมมือกับ สถาบันไทย-เยอรมัน ภายใต้การสนับสนุนจาก Ministry of Economy, Trade and Industry (METI), Japan  เดิมนั้น AOTS จะมีกิจกรรมเกี่ยวกับการฝึกอบรม AOTS จะส่งวิทยากรที่เป็นชาวญี่ปุ่นมาอบรมในประเทศต่างๆ เช่น ไทย ลาว พม่า หรือ กัมพูชา และในทางกลับกันก็นำผู้เข้าฝึกอบรมจาก ไทย,ลาว พม่า หรือ กัมพูชา ไปอบรมที่ญี่ปุ่น โดยทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นระยะเวลาหลายปี แต่ในตอนนี้ AOTS ก็ได้มองเห็นศักยภาพ และเชื่อมั่นในองค์กรไทย และบุคลากรของไทยที่พัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีและทักษะต่างๆ  หน่วยงานไทยมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้กับอุตสาหกรรมในภูมิภาค ASEAN ได้แล้ว ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญในไทยนั้นไม่ได้มีแค่ถ่ายทอดในประเทศเท่านั้น ยังสามารถถ่ายทอดในลักษณะเดียวกันกับ Japanese MONOZUKURI ให้กับผู้เข้าอบรมจากประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย

Q: เหตุผลที่เลือก TGI เป็นสถานที่ฝึกอบรมคืออะไรบ้างคะ

A: เพราะว่า TGI มีเทคโนโลยีขั้นสูง, วิทยากรก็มีทักษะและความรู้ , มีหลักสูตรที่หลากหลาย และจุดแข็งของ TGI นั้นก็คือมีออุปกรณ์สำหรับการฝึกอบรมจึงเป็นลักษณะ On the Job Training หรือ OJT ได้ ซึ่งหน่วยงานฝึกอบรมทั่วไปนั้น ไม่ได้มีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรม จุดเด่นของการฝึกอบรมของ TGI จะทำให้ผู้เข้าอบรมเข้าใจง่าย และสามารถนำสิ่งที่เรียนกลับไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ การที่ผู้เข้าอบรมได้ฝึกปฏิบัติจะทำให้ไม่น่าเบื่อ และมีความต้องการฝึกอบรมมากขึ้น อีกทั้งหลักสูตรนี้สามารถเป็นต้นแบบสำหรับอบรมวิศวกร หรือ ช่างเทคนิค ในกลุ่มประเทศ ASEAN ได้อีกด้วย และ AOTS ก็มีแผนที่จะนำผู้เข้าอบรมจากประเทศลาว และพม่า มาอบรมที่ TGI ในอนาคตอีกด้วย

ในด้านของสถาบันไทย-เยอรมัน ได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมของ TGI และประโยชน์ของโครงการนี้เช่นกัน 

Q: บทบาทของสถาบันในการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมมีปรับเปลี่ยนตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมมาอย่างไรบ้างคะ

A: สถาบันไทย-เยอรมันนั้น เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยมีอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิมารองรับการดำเนินงาน  บริการของ TGI มีการปรับเปลี่ยนไปตามอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องของ อุตสาหกรรม 4.0 โดยเน้นเรื่องหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น แต่ว่าบทบาทหลักคือของเราก็คือการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตของไทย การพัฒนาบุคคลากรก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรม เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน บุคลากรก็ต้องเปลี่ยนตาม คือต้องมีความรู้ทักษะและความสามารถในเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปมากขึ้น ด้วยประสบการณ์ที่ดำเนินงานมามากกว่า 20 ปี TGI นั้นมีความพร้อมทางด้าน ความรู้และเทคโนโลยี เมื่อ AOTS ได้ติดต่อเข้ามาเรื่องการพัฒนาบุคลากรกลุ่มประเทศ CLMV  สถาบันฯ ก็มีความพร้อมและมีความยินดีที่จะเป็นส่วนนึงในการพัฒนาบุคลากรนี้เช่นกัน

Q: ความพร้อมของสถาบันฯ ที่รองรับการพัฒนาบุคลากร

A: ก็อย่างที่บอกไป เรื่องของ เทคโนโลยี , วิทยากร ,อุปกรณ์การฝึกอบรม รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ของสถาบันฯ จะเห็นได้ว่า ลูกค้าก็ได้ใช้บริการหอพักที่สถาบันฯ มีบริการนี้รองรับให้กับผู้เข้าอบรมไว้ด้วย

Q: ประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการนี้มีอย่างไรบ้างคะ

A: ประโยชน์ของผู้เข้าอบรม ก็จะได้ความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ  ในส่วนของ TGI เองก็ได้ประโยชน์ในหลายด้าน ตามที่บทบาทเน้นการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมการผลิตของไทย สำหรับโครงการนี้ที่เราได้ทำงานกับชาวต่างชาตินี้ TGI จะการทาง AOTS เลือกมาอบรมที่เรานั้น ก็แสดงว่าลูกค้ามีความเชื่อมั่นว่า TGI มีความสามารถ ที่จะพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการ ทำให้ TGI เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าส่วนใหญ่ของ TGI นั้นเป็นบริษัทญี่ปุ่นหรือมีความสัมพันธ์กับบริษัทญี่ปุ่นเองก็ตาม ก็จะทำให้สัมพันธภาพของ TGI และลูกค้าญี่ปุ่นดีขึ้นไปอีกขั้น  อีกด้านนึง TGI ได้พัฒนาบุคลากรของ TGI เองด้วย โดยเฉพาะวิทยากร จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการที่ได้สอนผู้ที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างจากอุตสาหกรรมการผลิตไทย เราจะได้เรียนรู้ในจุดนั้นด้วย  และประการสุดท้าย ปีนี้ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ประเทศไทยจะช่วยพัฒนากลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV

จากความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตมามากกว่า 20 ปี สถาบันไทย-เยอรมัน กับความพร้อมทั้งหลักสูตรที่หลากหลายสำหรับอุตสาหกรรมที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ,วิทยากรที่มีทักษะและความสามารถ และอุปกรณ์การฝึกอบรมที่ครบครัน ที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาเคียงคู่กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยให้ทัดเทียมและสามารถแข็งขันได้ในระดับสากล