Standard cognition ท้าชน Amazon Go
คอลัมน์สตาร์ตอัพ “ปัญหา” ทำ “เงิน”
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ
ตอน Amazon Go เปิดตัวร้านค้าอัจฉริยะที่ไม่ใช้พนักงานเป็นแห่งแรกนั้น เรียกเสียงฮือฮาของผู้คนทั่วโลกได้อย่างล้นหลาม
ยิ่งเห็นภาพที่ลูกค้าเดินสวย ๆ ทั่วร้าน ชอบใจสินค้าก็แค่กรีดนิ้วหยิบใส่กระเป๋า แล้วก็สะบัดบ๊อบออกจากร้านได้โดยไม่ต้องยืนต่อคิวจ่ายเงินให้เมื่อยน่อง ทำเอาใคร ๆ ก็อยากไปลองใช้
แต่ในขณะที่มีเสียงชื่นชมปรีดาจากผู้นิยมความไฮเทค ก็มีเสียงบ่นระงมจากร้านค้าปลีก เพราะลำพังโดน e-Commerce แย่งลูกค้าไปทุกวันก็แทบบักโกรกแล้ว นี่ยังโดนฉกลูกค้าตัวเป็น ๆ จากหน้าร้านเข้าไปอีก ทำเอาค้าปลีกหลายรายถึงกับถอดใจ อยากปิดกิจการให้มันสิ้นเรื่องสิ้นราวไป
แต่ Standard cognition สตาร์ตอัพที่จะนำเสนอในวันนี้ มีโซลูชั่น ที่จะมาช่วยร้านค้าให้ต่อกรกับยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ได้อย่างสมศักดิ์ศรี
นั่นคือ ระบบ autonomous checkout คล้ายกับที่ Amazon Go ใช้เพียงแต่มาในต้นทุนที่ประหยัดกว่า แถมยังอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่ยังนิยมใช้เงินสด หรือรูดบัตร
autonomous checkout หรือ cashierless store ของ Amazon Go ใช้กล้องทั่วร้าน สอดส่องว่าลูกค้าคนไหนหยิบสินค้าชิ้นใดออกไปบ้าง เพื่อแจ้งระบบส่วนกลางให้คำนวณเงินแล้วหักบัญชีลูกค้า ซึ่งจะส่องให้ละเอียดลออทุกองศาความเคลื่อนไหว ต้องติดตั้งกล้องเป็นร้อยตัวถึงจะเอาอยู่
แต่ระบบของ Standard cognition ออกแบบให้ใช้กล้องแค่ 27 ตัว ก็เพียงพอที่จะระบุรูปร่างและความเคลื่อนไหวของลูกค้า ประเภทสินค้าที่ถูกหยิบออกจากชั้นได้ โดยบริษัทเคลมว่าระบบนี้แม่นยำถึง 99%
ขณะที่ลูกค้าของ Amazon Go ต้องดาวน์โหลดแอปก่อนถึงจะเข้าใช้บริการได้ เพราะระบบตัดยอดเงินจากบัตรที่ผูกไว้กับแอปทันทีที่ก้าวออกจากร้าน แต่บริการของ Standard cognition อนุญาตให้ลูกค้าเลือกโหลดแอปเพื่อให้ระบบหักค่าสินค้าก็ได้ หรือจะไม่โหลดแล้วไปจ่ายที่ตู้คีออสก์ก่อนออกจากร้านก็ได้ เพื่อเอาใจลูกค้าที่ยังนิยมจ่ายเป็นเงินสด หรือรูดบัตรนั่นเอง เนื่องจากเป็นบริการรายเดือน แบบ software as a service (SAAS) เจ้าของร้านเปลี่ยนผังการจัดวางสินค้าได้ตามใจชอบ เพราะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมไว้ในค่าบริการแล้ว
ซึ่งค่าบริการจะแตกต่างตามขนาดของร้าน ปริมาณของสินค้า และความถี่ในการเปลี่ยนประเภทหรือยี่ห้อสินค้า
ใส่ใจในรายละเอียดแบบนี้ ทำให้ Standard cognition ได้รับการติดต่อให้ไปติดตั้งระบบให้ drug store ชื่อดังของญี่ปุ่น อย่าง Yakuodo มาแล้ว เพราะเห็นว่าบริการของ Standard cognition เหมาะกับสังคมผู้สูงอายุ
ของญี่ปุ่นที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก อีกทั้งคนจำนวนมากยังติดนิสัยจ่ายเป็นเงินสดอยู่ จึงตอบโจทย์อย่างเหมาะเหม็ง
ตอนนี้บริษัทเพิ่งระดมมาได้ 40 ล้านเหรียญ มีลูกค้าเป็นร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ 4 ราย อนาคตแพลนจะขยายทีมงานเจาะค้าปลีกรายย่อยเพิ่ม
แน่นอนว่าทุกอย่างต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ระบบ cashierless หรือ autonomous checkout ก็เช่นกัน
ในสายตาของเจ้าของกิจการ ระบบนี้ช่วยลดต้นทุนค่าจ้างแรงงานและช่วยต่อชีวิตให้กับกิจการที่กำลังซวนเซได้มาก สำหรับลูกค้าก็ช่วยอำนวยความสะดวกและประหยัดเวลาอย่างยิ่ง
แต่สำหรับพนักงาน การมาของเทคโนโลยีเหล่านี้หมายถึงการต้องตกงานและขาดรายได้เลี้ยงดูครอบครัว
ถึงเจ้าของเทคโนโลยีจะพยายามบอกว่า ร้านค้าโยกเจ้าหน้าที่แคชเชียร์ไปทำหน้าที่อื่นในร้าน เช่น ดูแลลูกค้า คอยให้ข้อมูลต่าง ๆ ระหว่างช็อปปิ้ง แต่ท้ายที่สุดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องมีการลดการจ้างงานในอนาคตอยู่ดี เพราะตำแหน่งที่เคยจำเป็นต้องมี ได้ถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีไปหมดแล้ว
เหรียญยังมี 2 ด้าน นวัตกรรมบนโลกก็มีทั้งให้คุณและโทษ ขึ้นอยู่กับว่าจะมองจากมุมไหน และจะปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร