ปลดล็อก SMEs ไทย ปรับตัวอย่างไรให้เติบโต

อัปเดตล่าสุด 10 ม.ค. 2562
  • Share :
  • 366 Reads   

คอลัมน์ ระดมสมอง
โดย ศราวัลย์ อังกลมเกลียว, ฐิตา เภกานนท์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท. 
 
SMEs มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และชีวิตคนไทยจำนวนมากเกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs ทั้งในฐานะเจ้าของกิจการและลูกจ้าง แต่ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจ SMEs ต้องเผชิญความท้าทายจากเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ รวมถึงสภาพการแข่งขันจากโครงสร้างเศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ธปท.ได้สำรวจ SMEs กว่า 2,400 รายทั่วประเทศ เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และการปรับตัวเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและช่วยเหลือ SMEs ให้ตรงจุด


โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากธนาคารพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ในการกระจายแบบสำรวจให้แก่ SMEs ในไตรมาส 1 ปี 2561


ข้อสรุปสำคัญจากการสำรวจ


1. ผลสำรวจพบว่า SMEs เผชิญกับ 2 อุปสรรคหลัก คือ (1) ต้นทุนธุรกิจสูง ทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนทางการเงิน ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่งค่าสาธารณูปโภค ในขณะที่กฎระเบียบภาครัฐสร้างต้นทุนแฝงให้แก่ SMEs และ (2) การแข่งขันรุนแรงที่มาจากรอบด้าน ทั้งจาก SMEs ด้วยกันเอง จากธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายสาขาไปทุกพื้นที่ และมีบริการที่ครบวงจร จากธุรกิจ e-Commerce ที่ทำให้ลูกค้า มีทางเลือกในการบริโภคสินค้าและบริการที่มีราคาและคุณภาพหลากหลาย


2.SMEs ส่วนใหญ่เมื่อเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง มักใช้กลยุทธ์ด้านราคาดึงดูดลูกค้าและเพิ่มปริมาณขาย อย่างไรก็ตาม การแข่งด้วยราคาโดยไม่ได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ หรือแตกต่างจากคู่แข่ง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 70 ของ SMEs ที่เน้นแข่งขันราคาเป็นหลักประสบกับภาวะยอดขายลดลง


3.SMEs อีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้การปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหา มีแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจ ดังนี้


(1) เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและควบคุมต้นทุน ปรับเปลี่ยนการพึ่งพาแรงงานมาเป็นใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยี นำระบบ IT มาใช้ในการวางแผนธุรกิจ จัดทำบัญชีและบริหารสต๊อกสินค้า


(2) พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้แตกต่างจากคู่แข่ง ใช้โอกาสจากโลกออนไลน์ เพิ่มช่องทางการขายและขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ


ทั้งนี้ การที่ SMEs ปรับตัวและพัฒนาต่อเนื่อง ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น ต้นทุนการบริหารจัดการลดลง ผลประกอบการปรับดีขึ้น ภาระต้นทุนทางการเงินบรรเทาลง SMEs ที่ปรับตัวจึงเห็นว่าต้นทุนการเงินไม่ใช่ปัญหาหลัก กลุ่มนี้เห็นว่าภาระต้นทุนทางการเงินเป็นปัญหาเพียงร้อยละ 31 น้อยกว่า กลุ่มที่ปรับตัวไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเห็นว่าภาระต้นทุนการเงินยังเป็นปัญหาถึงร้อยละ 64

4.การที่ SMEs ปรับตัวเข้าสู่ตลาดออนไลน์ แต่ยังคงขายสินค้าและบริการที่ไม่มีเอกลักษณ์ ไม่เพียงพอจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้ เนื่องจากตลาดออนไลน์แข่งขันรุนแรงและเน้นแข่งขันด้วยราคา การมุ่งยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการให้แตกต่างจากคู่แข่ง จึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจในระยะยาว

5.ในมิติพื้นที่ SMEs ในเมืองรองมีความท้าทายมากกว่า SMEs ในเมืองหลัก จาก

(1) ขนาดตลาดที่เล็ก ทำให้ต้องแข่งขันรุนแรงกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายเข้ามาในพื้นที่ อาทิ modern trade ห้างสรรพสินค้า โรงแรมที่พักที่มีเครือข่ายจากส่วนกลาง ซึ่งได้เปรียบด้านการแข่งขันสูงกว่า SMEs ในท้องถิ่น

(2) SMEs เมืองรองเผชิญต้นทุนแรงงานสูงเพราะขาดแคลนแรงงาน จากแรงงานท้องถิ่นอพยพเข้าสู่หัวเมือง แรงงานฝีมือหายาก แรงงานรุ่นใหม่ต้องการทำงานในสำนักงาน

(3) โครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้ออำนวย อาทิ ถนนชำรุดคับแคบ ต้นทุนค่าขนส่งแพงกว่าคู่แข่งในเมืองหลัก ไฟฟ้าดับบ่อย เครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่เสถียร ต้องถอดบทเรียนจากผลสำรวจเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและการช่วยเหลือที่ตรงจุดภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว SMEs ต้องเผชิญความท้าทายที่ซับซ้อน จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขัน ขณะเดียวกัน การสนับสนุนให้ SMEs ปรับตัว และใช้เทคโนโลยีด้วยต้นทุนที่ต่ำลง มีภาระด้านต้นทุนกฎเกณฑ์และขั้นตอนการทำธุรกิจที่ลดลง จะช่วยขยายโอกาสและสร้างความเท่าเทียมแก่ SMEs ให้มากขึ้น โดยเฉพาะ SMEs ในจังหวัดเมืองรอง


สำหรับ ธปท.ต้องมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินกลางให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมทางการเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบการเงิน และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

ประการแรก ผู้ประกอบการ SMEs ต้องเร่งปรับตัวเพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขัน พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้แตกต่างจากคู่แข่ง และเป็นที่ต้องการของตลาด เตรียมความพร้อมเพื่อประยุกต์ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี ปรับปรุงกระบวนการผลิต การบริหารจัดการภายใน รวมถึงเพิ่มช่องทางการตลาดผ่านโลกออนไลน์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค

ประการที่สอง ภาครัฐควรสนับสนุนให้ SMEs ปรับตัวและใช้เทคโนโลยีด้วยการจัดทำหรือสนับสนุนภาคเอกชนให้จัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อาทิ cloud,software สำเร็จรูป หรือ web services สำหรับใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีในต้นทุนที่ต่ำลง รวมทั้งให้ความรู้ ทักษะที่จำเป็นในการนำเทคโนโลยีมาใช้

นอกจากนี้ พบว่า SMEs ต้องการให้เพิ่มการฝึกอบรมแรงงานโดยเฉพาะทักษะที่ขาดแคลน อาทิ ทักษะภาษาอังกฤษ การใช้เครื่องจักร การซ่อมแซมและบำรุงรักษา การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ให้สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง

ประการที่สาม ภาครัฐควรพิจารณาลดกฎเกณฑ์และขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนเพื่อลดต้นทุนแฝงให้แก่ SMEs รวมถึงเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการภาครัฐจากการเชื่อมโยงฐานข้อมูล ช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่าย

ประการที่สี่ ภาครัฐควรขยายโอกาสและสร้างความเท่าเทียมให้แก่ SMEs โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำจากการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนและเทคโนโลยี รวมถึงนโยบายที่ช่วยเร่งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม จูงใจให้แรงงานทำงานในท้องถิ่น ช่วยลดปัญหาด้านแรงงานให้ SMEs ในเมืองรอง ยกระดับมาตรฐานระบบสาธารณูปโภค รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตในเมืองรองให้ทัดเทียมเมืองใหญ่

ประการสุดท้าย ธปท.ต้องมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินกลาง เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยต้นทุนที่เหมาะสม โดย ธปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดันและส่งเสริม SMEs ให้ใช้ระบบ prompt pay และ QR payment ให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนและสร้างข้อมูลที่เป็น track record ที่สถาบันการเงินสามารถใช้ประกอบการให้บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ SMEs มากขึ้น

อีกทั้งปฏิรูปกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่สร้างภาระต้นทุนทางการเงินที่ไม่จำเป็น อาทิ ค่าใช้จ่ายในการประเมินหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อ สามารถประเมินหลักประกันเพียงครั้งเดียว สามารถยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้หลายแห่ง จากเดิมที่ต้องมีการประเมินใหม่ทุกครั้ง

นอกจากนี้ ธปท.สนับสนุนให้เกิด information-based lending มากขึ้น ด้วยการอนุญาตให้สถาบันการเงินใช้ข้อมูลอื่น (alternative data) อาทิ ข้อมูลการให้คะแนน rating ของผู้ใช้บริการ ข้อมูลคะแนนเครดิต ข้อมูลค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าโทรศัพท์ เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น