สงครามการค้า ส่งผลอย่างไรต่ออนาคตหุ่นยนต์อุตสาหกรรม?

อัปเดตล่าสุด 14 ม.ค. 2562
  • Share :
  • 563 Reads   

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ คืออุตสาหกรรมที่มีทิศทางขึ้นอยู่กับความต้องการระบบอัตโนมัติ ด้วยเหตุนี้เอง Japan Robot Association (JARA) จึงคาดการณ์ว่า ในประเทศที่มีความต้องการระบบอัตโนมัติสูงเช่นญี่ปุ่นแล้ว จะมีการเติบโตของตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 4% ในปี 2019 หรือคิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นตัวเลขที่คำนึงถึงปัจจัยอย่างสงครามการค้าจีน - สหรัฐ แล้ว ซึ่งแม้ว่าจะคาดการณ์ตัวเลขในตลาดจีนได้ยาก แต่คาดการณ์ว่าความต้องการจากยุโรปและอเมริกาเหนือจะยังคงมั่นคง อีกทั้งด้วยปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่นับวันยิ่งรุนแรง ทำให้ค่อนข้างมั่นใจได้ว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืนแน่นอน

ยังดีอยู่

Mr. Yasuhiko Hashimoto ประธานสมาคม JARA และผู้บริหารอาวุโส Kawasaki Heavy Industries กล่าวอย่างมั่นใจในงานสังสรรค์ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มกราคมว่ายอดสั่งหุ่นยนต์ในปี 2019 จะยังคงเพิ่มขึ้น

โดยในปี 2019 นี้ ออเดอร์หลายรายการที่เข้ามานั้น แม้ว่าจะถูกชะลอออกไปจากอิทธิพลของสงครามการค้า แต่สำหรับสมาคม JARA แล้ว แม้ว่าจะมีความเห็นภายในขัดแย้งกันบ้าง แต่ก็นับว่าสถานการณ์ยังคงดำเนินไปได้ด้วยดี และมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ “สถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงกลางถึงปลายปีนี้” และคาดว่า ยอดสั่งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจากจีนจะลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

ส่วนในกรณีแบ่งตามภาคอุตสาหกรรมนั้น กลุ่มผู้ผลิตหุ่นยนต์ในประเทศญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมยานยนต์จีนในปัจจุบันสามารถคาดการณ์ได้ยาก แต่ก็ไม่คิดว่าความต้องการยานยนต์ใหม่ในจีนจะลดลงแต่อย่างใด และเล็งเห็นว่า “การลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) จะยังเป็นที่คาดหวังได้ แม้อาจจะยังไม่ใช้ในตอนนี้ก็ตาม”

ส่วนอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์นั้น ทาง JARA คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมทั้ง 2 นี้ จะลดปริมาณการพึ่งพิงหุ่นยนต์จากค่ายนอกประเทศ และเปลี่ยนไปสั่งหุ่นยนต์ค่ายจีนใช้แทน

เห็นต่าง

ส่วนในประเทศอื่น ๆ นอกจากจีนนั้น JARA คาดการณ์ว่าในปี 2019 นี้ ความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นจะเติบโตอย่างดี ส่วนในยุโรป และในอเมริกาเหนือก็จะเติบโตอย่างมั่นคง อย่างไรก็ตาม มีผู้แสดงความเห็นว่า แม้ในยุโรปจะมีการเติบโตอย่างคงที่ แต่ก็เริ่มมีการชะลอตัวปรากฏให้เห็น จึงควรใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพื่อวิเคราะห์แนวทางการลงทุนของผู้ผลิตให้แน่ชัด


ในขณะเดียวกัน Japan Machine Tool Builders’ Association (JMTBA) คาดการณ์ว่ายอดสั่ง Machine Tools ค่ายญี่ปุ่นในปีนี้จะอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านเยน ลดลงจากปีที่แล้วมากถึง 12% ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าแนวโน้มนี้สื่อถึงปริมาณการลงทุนที่ลดลงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม JARA ชี้แจ้งว่าแม้การลงทุนจะลดลง แต่ความต้องการระบบอัตโนมัติ และปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะส่งผลให้ยอดสั่งหุ่นยนต์อุตสาหกรรม โดยเฉพาะหุ่นยนต์ลำเลียง และ Cooperating Robot เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้

เพิ่มเพียง 4%

ในขณะที่หลาย ๆ ฝ่ายมีความเห็นต่อสงครามการค้าแตกต่างกัน แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนคือการชะลอตัวของตลาดจีน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ JARA คาดการณ์ว่ายอดสั่งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมค่ายญี่ปุ่นในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเพียง 4% เท่านั้น

Mr. Masahiro Ogawa เจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Yaskawa Electric กล่าวแสดงความเห็นต่อตัวเลขนี้ว่า “เป็นตัวเลขที่ดูสมเหตุสมผล แต่ก็อาจเพิ่มขึ้นได้มากกว่านี้อีก” ส่วน Mr. Akira Kunisaki เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท Nachi-Fujikoshi เอง ก็แสดงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า “มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 4% จริง”

Mr. Hashimoto ประธานสมาคม JARA กล่าวย้ำว่า “อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างจีน และสหรัฐฯ จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อทุกภาคอุตสาหกรรม” และกล่าวเตือนให้ผู้ประกอบธุรกิจระมัดระวังการลงทุนภายในช่วงปีนี้ให้ดี

เอเชียมาแรง


ความต้องการระบบอัตโนมัติทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมหุ่นยนต์คาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตของตลาดอย่างมั่นคงไปอีกเป็นระยะใหญ่ โดย International Federation of Robotics (IFR) วิเคราะห์ว่า ในปี 2021 ยอดขายหุ่นยนต์จะมีมากขึ้น 21% โดยมีลูกค้าหลักคืออุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชินส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมโลหะการและอุตสาหกรรมอาหาร

IFR คาดการณ์เพิ่มเติมว่า ประเทศที่จะมีการเติบโตของตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมคือจีน อินเดีย และเวียดนามตามลำดับ ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียจะมีการเติบโตที่ดีในภาพรวมจากความต้องการของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง IFR กล่าวแสดงความเห็นว่า “ในระยะกลาง เอเชียจะเป็นศูนย์กลางความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในระดับโลก”

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จาก IFR ยังเชื่อว่า ด้วยมาตรการ “Made in China 2025” ของรัฐบาลจีน ซึ่งครอบคลุมไปถึงการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน และปัญหาค่าแรงในประเทศแล้ว จะทำให้จีนกลายเป็นตลาดหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีหลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมบางส่วน ได้แสดงความกังวลว่า “เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว ความต้องการระบบอัตโนมัติจะเป็นอย่างไรต่อไป และมีงานส่วนใดบ้าง ที่หุ่นยนต์ไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทได้”

นอกจากนี้ Mr. Ogawa จากบริษัท Yaskawa ยังแสดงความเห็นว่า “เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผู้ใช้จะเดินไปถึงจุดอิ่มตัว และเรียกร้องหาหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีก” และคาดการณ์เพิ่มเติมว่า ในช่วงไม่กี่ปีต่อจากนี้ คงไม่มีปีที่มีออเดอร์พุ่งสูงมากเป็นพิเศษ

Cooperating Robot

ในขณะเดียวกันนี้เอง หุ่นยนต์ประเภทที่คาดว่าจะมีการเติบโตมากเป็นพิเศษคือ Cooperating Robot ซึ่งด้วยคุณสมบัติการทำงานร่วมกับคนอย่างปลอดภัย ทำให้เป็นที่ถูกจับตามองจากหลายภาคอุตสาหกรรม ซึ่ง IFR คาดการณ์ว่า ในอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์จะลงทุนซื้อ Cooperating Robot จำนวนมาก เพื่อใช้ในขั้นตอนการประกอบ และ Post Process

ด้วยแนวโน้มเช่นนี้เอง ทำให้ผู้ผลิตหุ่นยนต์ทั้งรายเก่า และรายใหม่ต่างเร่งลงทุนพัฒนา Cooperating Robot ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น Fanuc ที่พัฒนาให้สามารถรับน้ำหนักได้มาก เพื่อให้ทำงานได้หลายประเภทขึ้น, Kawasaki Heavy Industries ที่เน้นการเพิ่มจำนวนข้อต่อเพื่อให้ขยับได้มาก, Yaskawa ที่เน้นไปที่ด้านความสะดวกในการติดตั้ง และเคลื่อนย้าย, Denso Wave และ Nachi-Fujikoshi ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีต่อจากเดิม, ซึ่ง Yano Research Institute คาดการณ์ว่าตลาด Cooperating Robot จะขยายตัว 8.5 เท่า พุ่งแตะ 8.5 แสนล้านเยนภายในปี 2024

ปัญญาประดิษฐ์

IFR คาดการณ์อีกว่า พัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของความต้องการที่มากขึ้นอีก

ซึ่งในปัจจุบัน Fanuc ได้ร่วมกัย Preferred Networks พัฒนาแอพลิเคชัน AI ให้สามารถควบคุมหุ่นยนต์ให้หยิบจับสิ่งของที่วางไว้แบบไม่เป็นระเบียบได้สำเร็จแล้ว ส่วนทางด้านของ Mitsubishi Electric เอง ก็อยู่ระหว่างการพัฒนา AI ให้หุ่นยนต์สามารถทำงานประกอบชิ้นส่วนขนาดเล็กได้มากชนิดขึ้นกว่าเดิม