3 บิ๊กโลจิสติกส์ไทย รุก EEC

อัปเดตล่าสุด 27 ส.ค. 2561
  • Share :

EEC หรือ โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แผนยุทธศาสตร์ความหวังใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ และจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้เติบโตได้ 

หลังจากที่ทุนนอกอย่าง อาลีบาบากรุ๊ป บริษัท e-Commerce ยักษ์ใหญ่จากจีน ปักหมุดเตรียมแผนก่อสร้างโครงการ Smart Digital Hub ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าลงทุน 11,000 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จในปี 2019 โดย Smart Digital Hub จะประกอบไปด้วย ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ศูนย์กระจายสินค้า การขนส่งที่จับมือกับทางไปรษณีย์ไทย รวมถึงการลงทุนด้านระบบไอที ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่เปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่สามารถวางระบบได้เข้าไปร่วม เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และไปยังที่อื่นทั่วโลก

สำหรับ 3 บิ๊กโลจิสติกส์ของไทย WHA Group, TICON, และ JWD มองโอกาสและกำลังทำอะไรในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) บ้าง 

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

WHA Group ผู้นำด้านโลจิสติกส์ครบวงจร และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอุตสาหกรรม ที่มีทุนจดทะเบียน 1,567,773,018 บาท มีพื้นที่ให้เช่ากว่า 2.1 ล้านตารางเมตร การดำเนินงานของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ประกอบด้วยธุรกิจหลัก 4 ประเภท ได้แก่ โลจิสติกส์: บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ,การพัฒนาอุตสาหกรรม: บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) สาธารณูปโภคและพลังงาน: ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) แพลตฟอร์มดิจิทัล: ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท จำกัด

WHA Group ได้แสดงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนโครงการ EEC ของรัฐบาลผ่านการดำเนินกิจกรรมทั้งสี่กลุ่มธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์ของ WHA ที่ได้จัดเตรียมศูนย์โลจิสติกส์ขนาดใหญ่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง  มีพื้นที่รวมขนาด 800,000 ตร.ม. เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในเขต EEC ซึ่งให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 700 รายที่ตั้งอยู่ในเขต EEC  “ด้วยทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ของเรา ประกอบกับการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและมาตรการจูงใจต่าง ๆ เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า EEC จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และบรรลุเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลได้ในที่สุด" นางสาวจรีพร กล่าว

กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ของ WHA วางแผนที่จะเพิ่มพื้นที่ให้เช่าขึ้นอีกร้อยละ 11 ในปี 2561 จากเดิม 2,151,000 ตร.ม. เป็น 2,391,000 ตร.ม. โดยจะเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมบริการที่สร้างมูลค่าสูง อาทิ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และสินทรัพย์ให้เช่าที่สร้างมูลค่าสูง สอดคล้องไปกับการพัฒนาอี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce)

WHA เตรียมดำเนินการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย และกัมพูชาต่อไป โดยในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเน้นอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคภายในประเทศมีศักยภาพสูงมาก WHA ก็มีพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าแบบ Built-to-suit อยู่ 25,688 ตร.ม. ในจังหวัดบันเติง จาการ์ตาตะวันตก

“ในประเทศไทย เราตั้งตารอที่จะได้มีโอกาสช่วยผลักดันให้เกิดกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการใหม่ ๆ ใน EEC” นางสาวจรีพร กล่าว “ในอินโดนีเซียและเวียดนาม ทั้งสองประเทศต้องการพัฒนาศักยภาพด้านโลจิสติกส์ให้ทันสมัยและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเราจะใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมของเรา รวมทั้งการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ไดวะ เฮาส์ อินดัสทรี จากประเทศญี่ปุ่นด้วย” นางสาวจรีพร กล่าวอธิบาย
 
บริษัท ไทคอนอินดัสเทรียลคอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) (TICON)

TICON  ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์แนวหน้าของประเทศไทย เริ่มดำเนินการปลายปีพ. ศ. 2548 บริษัท ไทคอนโลจิสติกส์พาร์ค (TPARK) ซึ่งเป็น บริษัทย่อยของไทคอนได้ดำเนินการพัฒนาส่วนโลจิสติกส์พร้อมคลังสินค้าที่พร้อมให้เช่า ซึ่งเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ได้รับการอนุมัติจาก BOI เพื่อพัฒนา  Logistics Park แบบเต็มรูปแบบ บริการของ TPARK จะรวมไปถึงคลังสินค้าประเภทต่างๆ ได้แก่ Ready Build Warehouse (RBW) และ Built to Suit (BTS) ซึ่งมีมาตรฐานโครงสร้างคลังสินค้าที่มีเทคโนโลยีและมาตรฐานสูงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มีทุนจดทะเบียน 1,115,941,811 บาท

นายชายน้อย เผื่อนโกสุม  ประธานกรรมการเผยว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยปี 2561 และแนวโน้มการขยายตัวด้านการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรมและการค้าตามบริเวณระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC ประกอบกับทิศทางธุรกิจและการตลาดของผู้บริโภคยุคดิจิทัล จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนความต้องการเช่าโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้าประเภท Build-to-Suit มากยิ่งขึ้น และบริษัทฯ เชื่อมั่นว่าศักยภาพและความพร้อมในการลงทุนเพื่อขยายงานอย่างต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ของบริษัท ประกอบปัจจัยสนับสนุนจากภายนอกตามที่กล่าวข้างต้น จะทำให้ธุรกิจของบริษัทฯ เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)

JWD  ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2522 มีบริษัทในเครือ 18 บริษัท มีพื้นที่คลังและลานให้บริการจัดเก็บสินค้าประมาณ 800,000 ตรม. และมีสำนักงานสาขากระจายอยู่ใน 32 ประเทศทั่วโลก ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจร ครอบคลุมคลังสินค้าทุกประเภท คลังสินค้าปลอดภาษี สำหรับสินค้าทั่วไป สินค้าเคมีภัณฑ์และวัตถุอันตราย สินค้าควบคุมอุณหภูมิแช่เย็นแช่แข็งสินค้า กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ  มีทุนจดทะเบียน 510,000,000 บาท

สำหรับ JWD นั้น ได้แสดงความสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการบริหารท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่า 155 พันล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในการลงทุนสำคัญในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของรัฐบาล

ธุรกิจโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนของ JWD  มีทั้งหมด 1,001,491 ตารางเมตร  ในประเทศไทย 987,343 ตารางเมตร และได้มีการขยายฐานคลังสินค้าออกไปนอกประเทศทั้งหมด  14,148 ตารางเมตร ใน 4 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย 

ธุรกิจคลังสินค้าในต่างประเทศ JWD อันได้แก่ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา มีความต้องการใช้บริการห้องเย็นสูงและมีอัตราการใช้พื้นที่เกือบเต็ม ประมาณ 80-90%  และยังวางแผนขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง และ ภายในปี 2563 จะขยายการลงทุนในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะมีฐานธุรกิจโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนครบ 9 ประเทศ (ยกเว้นประเทศบรูไน)

ธุรกิจขนส่งของ JWD เป็นอีกธุรกิจของบริษัทที่เติบโตสูงถึง 15% จากงานขนส่งข้ามแดนตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่ม ประเทศ CLMV และขนส่งด่วน JWD Express ที่ได้ลูกค้าเพิ่มเติมที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ สามารถดำเนินการจัดส่งสินค้าถึงมือผู้รับปลายทาง บริษัทฯ ได้ดำเนินการเพิ่มฟลีทรถขนส่งประเภทต่าง ๆ อาทิ รถหัวลาก รถขนส่งด่วน รถห้องเย็น 


รายได้ปี 2560 ของ WHA Group, TICON, และ JWD
โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ธุรกิจดาวรุ่งอย่างโลจิสติกส์เป็นที่น่าจับตามองในปีที่ผ่านมา โดยสะท้อนผ่านรายได้ทั้งสามบริษัท 

 

 

จะเห็นได้ว่าธุรกิจด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง  และยังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตให้แก่อุตสาหกรรมอื่นๆ อีกด้วย สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการ หรือ ผู้ใช้บริการ เร็ว ๆ นี้พลาดไม่ได้กับการไปร่วมงาน TILOG-LOGISTIX 2018  ระหว่างวันที่ 29-31 สิงหาคมนี้ ณ ไบเทค บางนา โดยกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ รี้ด เทรดเด็กซ์  แนวคิดในงานครั้งนี้ คือ  “ASEAN Logistics Solutions - CLMVT Sourcing Partners” ซึ่งจัดแสดงเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ 415 แบรนด์จาก 25 ประเทศ พร้อมเครือข่ายธุรกิจด้านโลจิสติกส์ที่จัดทัพใหญ่มารวมตัวกันในงานครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมศักยภาพทางการค้าและการแข่งขันสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศ CLMV