EEC-A กับการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยาน

อัปเดตล่าสุด 2 ส.ค. 2561
  • Share :

อุตสาหกรรมอากาศยานถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย และจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการขยายตัวของจำนวนเที่ยวบิน การขนส่งสินค้าทางอากาศ และจำนวนผู้โดยสาร ตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวในไทยที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการขยายเส้นทางการบินของสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งจะเพิ่มความต้องการใช้ชิ้นส่วนอากาศยาน รวมไปถึงธุรกิจด้าน MRO (Maintenance, Repair and Operating) หรือศูนย์ซ่อมอากาศยานและการบำรุงรักษา 
 
หลังจากที่รัฐบาลได้กำหนดให้พื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รวมทั้งได้กำหนดเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก” (Eastern Airport City หรือ EEC-A) บีโอไอก็ได้เปิดให้การส่งเสริมใน EEC-A ด้วย 

นอกจากนี้ บีโอไอยังจัดให้มีกิจกรรมสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูงก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในอนาคต โดยได้เชิญบริษัทชั้นนำทั้งในและจากต่างประเทศ อาทิ โบอิ้ง แอร์บัสกรุ๊ป โรสรอยส์ ไทรอัมพ์กรุ๊ป และซีเนียร์ แอโรสเปซ มาร่วมพบปะและเจรจากับบริษัทรับช่วงการผลิตของไทย

และเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามข้อตกลงร่วมทุนก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) กับบริษัท แอร์บัส เพื่อดำเนิน โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทันสมัยระดับโลก สามารถซ่อมได้ทั้งการซ่อมบำรุงใหญ่ (Heavy maintenance) และการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด โดยสามารถซ่อมให้แล้วเสร็จได้ที่อากาศยาน (Line services) สำหรับเครื่องบินลำตัวกว้างทุกประเภท โดยจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการบำรุงรักษาเครื่องบิน ตลอดจนเทคนิคการตรวจสอบ รวมถึงการใช้โดรนตรวจสอบโครงสร้างของเครื่องบินอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีโรงซ่อมอากาศยานเฉพาะด้าน ได้แก่ ศูนย์ซ่อมโครงสร้างคอมโพสิต และศูนย์ฝึกอบรมการซ่อมบำรุงที่ครบวงจรสำหรับช่างเทคนิคทั้งจากในประเทศไทยและต่างประเทศ

ขณะนี้ปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เริ่มส่งสัญญาณเชิงบวกแก่อุตสาหกรรมอากาศยานของไทยแล้ว เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 2561 จะมีข่าวดี ๆ ตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็นการขยายเส้นทางการบินของสายการบินชั้นนำ หรือการลงทุนของบริษัทชิ้นส่วนอากาศยานระดับโลก