Machine Tools ถดถอยจากการชะลอตัวสมาร์ทโฟนและสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

อัปเดตล่าสุด 31 ก.ค. 2561
  • Share :
  • 483 Reads   

กระแสความกังวลที่ผู้ผลิตญี่ปุ่นมีต่อการถดถอยของ Machine Tools กำลังสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากปริมาณความต้องการจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนในประเทศจีนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงยังมีกรณีที่ผู้ผลิตเครื่อง CNC ระดับแนวหน้าอย่าง Fanuc ที่แสดงความกังวลถึงประเด็นปัญหาจากสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ และประเทศจีน นอกจากนี้ ความต้องการหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสมาร์ทโฟนก็ลดลงเช่นเดียวกัน จึงสามารถมองได้ว่า ยอดออเดอร์ที่ดีมาโดยตลอดในอุตสาหกรรมนี้กำลังเข้าสู่ขาลงแล้ว

Machine Tools และ ความมั่นคงจากอุตสาหกรรมเครื่องจักรทั่วไปและยานยนต์
ก่อนหน้านี้ ยอดออเดอร์ Machine Tools ที่ดีในช่วงครึ่งแรกของปี 2018 ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรม Machine Tools ประเทศญี่ปุ่นปรับแก้ยอดคาดการณ์ให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอดจากประเทศจีนในเดือนมิถุนายนได้ลดลงมาต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และมีผู้ที่มองว่ายอดออเดอร์จากอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นยอดส่วนใหญ่กำลังเข้าสู่ขาลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยอดจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ Precision Part เพื่อสมาร์ทโฟน ซึ่งลดลงต่ำกว่าปีก่อนถึง 61.7%

อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมเครื่องจักรทั่วไปและอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงมีความมั่นคง ซึ่งหากไม่นับยอดจากอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนแล้วพบว่ามีสถานการณ์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศจีน โดย Tsugami ซึ่งเป็นผู้นำด้านนี้ในประเทศจีน ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “ตลาดของเรายังคงมั่นคงไม่แปรเปลี่ยน” ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Amada ยังแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันนี้ไว้ ณ การประชุมผู้รับผิดชอบฐานการผลิตนอกประเทศญี่ปุ่นไว้ว่า “มีผู้ที่แสดงความเห็นว่าสถานการณ์ตลาดดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

หากไม่นับผู้ผลิตญี่ปุ่นบางส่วน จะพบว่าผู้ผลิตรายที่มีการส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ นั้นมีจำนวนน้อย ทำให้ได้รับผลกระทบการขึ้นภาษีจากสงครามการค้าสหรัฐฯ - จีน ไม่มากนัก และปัญหาที่เกิดขึ้นโดยอ้อมนั้นมาจากสภาวะตลาดที่เกิดการชะลอตัวแทนที่ ซึ่งสำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้ว ปัญหาในครั้งนี้ต่างไปจากครั้งอื่น ๆ เนื่องจากการผลิต Machine Tools ในประเทศจีนนั้นมีมูลค่าเพิ่มต่ำแล้ว การผลิต Machine Tools ในจีนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อย จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าญี่ปุ่นจะใช้วิธีใดในการก้าวข้ามปัญหาในครั้งนี้

คาดยอดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมลดลงแค่ในระยะสั้น

จากรายงานของ Japan Robot Association (JARA) ระบุว่ายอดออเดอร์หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายนลดลง 0.6% หลังจากไม่ลดลงมาตลอด 2 ปี ซึ่งแม้ยอดในไตรมาสที่ 2 จะเพิ่มขึ้น 3.8% แต่หากแบ่งเป็นเดือนจะพบว่าในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.9% แต่ในเดือนพฤษภาคมลดลง 0.5%

โดยสาเหตุหลักที่ส่งผลให้ยอดออเดอร์ลดเกิดจากการชะลอตัวของความต้องการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และ EMS (Electronics Manufacturing Service) เพื่อสมาร์ทโฟน ซึ่ง Nachi-Fujikoshi ได้แสดงความเห็นในที่ประชุมสรุปผลประกอบกอบการเดือนธันวาคม 2017 - พฤษภาคม 2018 ว่า “เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเกิดจากความล่าช้าของโครงการต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งผู้บริหารบริษัทหุ่นยนต์ญี่ปุ่นสาขาประเทศจีนรายหนึ่งได้แสดงความเห็นว่า “ในปี 2018 ที่ออเดอร์จากอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนลดลงเช่นนี้ จะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับบริษัทที่ไม่มียอดจากอุตสาหกรรมยานยนต์หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ มาทดแทน”

ในอีกด้านหนึ่ง Mr. Yoshiharu Inaba ประธานบริษัท Fanuc ได้กล่าวในงานสรุปผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2018 ว่า “โครงการต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังถูกเลื่อนออกไปเล็กน้อย” โดยมีโครงการในสหรัฐฯ ที่ถูกเลื่อนออกไปถึงครึ่งปีจากอิทธิพลของตลาด และมีลูกค้าในจีนมองว่า “เราอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังสงครามการค้าสหรัฐฯ - จีน” ซึ่งผลประกอบการในไตรมาสนี้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน 41.5% แต่ยังคงวิเคราะว่า “มีความจำเป้นต้องเฝ้าระวังการชะลอตัวหลังจากนี้” ส่วนทางด้าน Kawasaki Heavy Industries นั้น Mr. Yasuhiko Hashimoto  ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า ด้วยความต้องการระบบอัตโนมัติในโรงงานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ “จะส่งผลให้แม้ยอดจะตกลงในระยะสั้น แต่จะมีความมั่นคงในระยะยาวแทน”