เชลล์รุก “พลังงานสะอาด” เปิดกลยุทธ์ “More and Cleaner”

อัปเดตล่าสุด 16 ก.ค. 2561
  • Share :
  • 404 Reads   

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “นายอัษฎา หะรินสุต” ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้ออกมาประกาศทิศทางอนาคตและวิสัยทัศน์ธุรกิจเชลล์ที่มุ่งจะดำเนินกลยุทธ์ “More and Cleaner Energy” หรือพลังงานสะอาดเพิ่มประสิทธิภาพและดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้อไปกับนโยบายการดำเนินธุรกิจเดิมของเชลล์ที่มุ่ง “เติมความสุข ให้ทุกชีวิต หรือ “Making Life”s Journey Better”


ความท้าทายพลังงานโลก

นายอัษฎาเล่าว่า แนวโน้มว่าจะมีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น ตามตัวเลขคาดการณ์จำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นจาก 7,800 เป็น 9,800 ล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า และในส่วนของไทยก็มีการใช้พลังงานมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนที่มีมากถึง 38 ล้านคัน และเฉพาะปีนี้ยอดจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 18%

ฉะนั้น ทำอย่างไรที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานทางเลือก ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายยุทธศาสตร์ชาติที่นำไปสู่ความมั่นคง ความมั่งคั่ง ยั่งยืนในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งมีการพูดถึงหลักการผลิตพลังงาน 4.0 ที่เน้นการผลิตพลังงานทางเลือก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น รวมถึงการประหยัดพลังงาน

3 องค์ประกอบในกลยุทธ์   กลยุทธ์นี้มีองค์ประกอบ 3 เรื่อง คือ

  1. การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ 
  2. ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 
  3. การพัฒนาบุคลากรมาช่วยผลักดันในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

โดยในส่วนของการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ มี 2-3 เรื่อง คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเครื่อง และการสร้างถนนยางมะตอยที่ช่วยดูดซับสารพิษจากท่อไอเสีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ช่วยลดมลพิษ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สำหรับการผลักดันเรื่องพลังงานชีวภาพไม่เพียงจะช่วยยกระดับรายได้เกษตรกร ลดการพึ่งพาต่างประเทศ และลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการพัฒนาไบโอดีเซล 100 หรือ B100 จากปาล์มน้ำมัน ซึ่งเชลล์ได้ทำโครงการ RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ที่นำร่องใน จ.กระบี่ และสุราษฎร์ธานี มีเกษตรกรเข้าร่วม 1,000 คน ตอนนี้ได้ประมาณ 20-25% ของน้ำมันที่ขายในประเทศ การผลิตเอทานอล 100% สำหรับใช้ในรถไฟฟ้า (EV) หรือที่เรียกว่า “ไบโอเอทานอลฟิวเซลล์” แทนแบตเตอรี่ การพัฒนาการใช้ LNG เติมในเรือ การวิจัยและพัฒนาการสกัดขยะทางการเกษตรมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป และการสร้างถนนยางมะตอยเพื่อดูดซับสารพิษที่ปล่อยออกมาจากท่อไอเสีย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนานวัตกรรมจำเป็นต้องอาศัยกลยุทธ์การสร้างความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน โดยยกตัวอย่างเช่น การผลิตพลังงานชีวภาพ ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ค้าน้ำมัน และผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ ก็มาช่วยกันคิดแนวทางที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และกลยุทธ์ที่การพัฒนาบุคลากร ตั้งแต่เยาวชน การศึกษา เพื่อให้เขามีความสนใจเข้ามาในการทำธุรกิจพลังงานมากขึ้น มีทักษะความรู้ มีเวทีที่จะสนุกกับการเรียนรู้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการเชลล์อีโคมาราธอน การส่งเสริมการสร้างความปลอดภัยจากการขับขี่ ลดอุบัติเหตุ


สเต็ปต่อไปเชลล์

ในส่วนของแผนการลงทุนขยายปั๊ม ในปีนี้จะเพิ่มประมาณ 60 ปั๊ม ซึ่งสัดส่วนมีทั้งเป็นการลงทุนเอง และดีลเลอร์ลงทุนด้วย โดยมีเป้าหมายให้เพิ่มจำนวนปั๊มจาก 500 เป็น 800 แห่งในปี 2020 ควบคู่กับการขยายร้านสะดวกซื้อแบรนด์ “ซีเล็ค” และร้านกาแฟเดลี่คอฟฟี่ให้ครอบคลุมปั๊มน้ำมันทุกสาขา โดยจะมีการเจรจาเพื่อดึงร้านค้าใหม่ๆ มาเป็น magnet นอกจากนี้ยังพัฒนาการให้บริการห้องน้ำสะอาดที่ร่วมดำเนินการกับเอสซีจี

ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในปีที่ผ่านมา “น้ำมันเชลล์วีพาวเวอร์ทั้งเบนซิน และดีเซล” โดยกลุ่มเชลล์วีพาวเวอร์เบนซิน ช่วยลดการเสียดสีในกระบอกสูบลมได้ 3 เท่า และทำความสะอาดง่ายขึ้น 20% ส่วนเชลล์วีพาวเวอร์ดีเซล ช่วย คืนพลังได้ 100% และช่วยลดควันดำ ซึ่งลูกค้าจะสามารถประหยัดน้ำมันมากขึ้น และมีน้ำมันเครื่อง ช่วยลดการเสียดสีได้ 32 % ลดการละเหยได้ 50%

ล่าสุดขณะนี้เชลล์สนใจนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะทำให้มีการสร้างถนนเพิ่มขึ้น ซึ่งเชลล์มีเทคโนโลยียางมะตอยของเชลล์ก็มีหลายรูปแบบที่เป็นประโยชน์แต่ก็ขึ้นอยู่กับ “หลักเกณฑ์พิจารณาสเป็กของภาครัฐ” ว่าจะกำหนดเงื่อนไขอย่างไร

อย่างไรก็ตาม อนาคตการเปลี่ยนผ่านนโยบายการพลังงานปัจจุบันให้เป็นพลังงานสะอาดยาวนานเพียงใด หรือต้องลงทุนเท่าไรนั้น ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับ “ทิศทางนโยบายของรัฐบาล” ซึ่ง “เชลล์” พร้อมจะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดโดยกลยุทธ์นี้ 


นวัตกรรมเชลล์ข้ามชอต

การศึกษาการนำขยะเมืองหรือขยะเกษตรเอามากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป โดยใช้ห้องปฏิบัติการของเชลล์ในเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย หากสำเร็จจะเป็นทางเลือกในการต่อยอดอุตสาหกรรมเกษตร ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบในระยะยาวได้อาจจะเรียกว่า 100% เชลล์แง้มว่า “อนาคตเชลล์อาจลงทุนในไทยหรือจะหาคู่ค้าในเมืองไทยที่มีความชำนาญเรื่องขยะเกษตร” ขณะนี้ก็มีการหารือกับคู่ค้า สถาบันปิโตรเลียม โดยมีแผนจะจัดสัมมนาเรื่องนี้ใน 2-3 เดือนข้างหน้า มุ่งหวังให้เป็นโครงการแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลจะมีการส่งเสริมการวิจัยเรื่องนี้หรือไม่ เพราะหลายประเทศที่เป็นเกษตรกรรมก็สนใจเช่นกัน

ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่ใช้เอทานอล 100% ซึ่งปัจจุบันนิสสันมีการทดลองที่บราซิล 2 คัน ซึ่งในส่วนการทดลองในไทย ขณะนี้ได้ประสานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอุตสาหกรรมน้ำมัน เข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และขอรับการสนับสนุนของภาครัฐในแง่ของภาษี หากสำเร็จจะช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรปลูกพืชพลังงาน โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างใหม่เลย เพราะเดิมไทยมีโครงสร้างที่รองรับเรื่องนี้อยู่แล้ว หากเทียบกับใช้แบตเตอรี่รัฐจะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับรถไฟฟ้ามหาศาล อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้ยังต้องได้รับการพัฒนาเพื่อลด “ค่าใช้จ่าย”