3 ยักษ์เวียดนามท้าชน "ซัมซุง" เดินเกมรุกสมาร์ทโฟน "ราคาประหยัด"

อัปเดตล่าสุด 12 ก.ค. 2561
  • Share :

"เวียดนามเป็นตลาดสมาร์ทโฟนที่โตเร็วที่สุดในอาเซียน และยังคงมีแนวโน้มการเติบโตสดใสอีก 5 ปีข้างหน้า" ข้อมูลจากนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ระบุไว้ ทำให้เวียดนามกลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือดของทั้งแบรนด์สมาร์ทโฟนข้ามชาติและแบรนด์ท้องถิ่น  

นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า "ซัมซุง" ถือเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดสมาร์ทโฟนเวียดนามถึง 46.5% จากตลาดรวมปีที่ผ่านมา15 ล้านเครื่อง นอกจากนี้ซัมซุงกลายเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดในเวียดนาม มีรายได้ถึง 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017 โดยยอดการส่งออกของซัมซุงคิดเป็น 1 ใน 4 มูลค่าการส่งออกของเวียดนามทั้งหมด และล่าสุดมีแผนขยายฐานในเวียดนาม ให้เป็นศูนย์การผลิตและส่งออกสมาร์ทโฟนราคาประหยัดไปยังประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และยุโรป  

และการขยายตัวของตลาดสมาร์ทโฟนในเวียดนาม ทำให้บริษัทเวียดนามก็มองเห็นถึงโอกาสที่ต้องการเข้ามาช่วงชิงกับแบรนด์ข้ามชาติทั้งหลาย ล่าสุดบริษัทสัญชาติเวียดนาม 3 ราย ที่ประกาศแผนรุกตลาดสมาร์ทโฟน ในเวลาใกล้ ๆ กัน ประกอบด้วย Vingroup, Asanzo และ Bkav กระโดดเข้าสู่สนามสมาร์ทโฟนราคาถูก ฟังก์ชั่นการใช้งานครบ เพื่อเจาะกลุ่มคนรายได้น้อยที่ยังมีสัดส่วนสูง 

สำหรับ "Vingroup" เป็นบริษัทนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ประกาศจะเริ่มผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติเวียดนาม ภายใต้แบรนด์ "Vsmart" ภายในปีนี้ หลังจากได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทชื่อว่า "Vinsmart" ขึ้นมาดูแล ด้วยทุนจดทะเบียน 131 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยจะสร้างโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไฮฟองตามแผน "Vsmart" จะผลิตสมาร์ทโฟนเพื่อเจาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก่อน ที่จะขยายฐานจับกลุ่มลูกค้าระดับชนชั้นกลางถึงสูง ซึ่งเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา Vinsmart ได้จับมือร่วมกับ BQ บริษัทเทคโนโลยีจากสเปน ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์กับ Qualcomm และ Google เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและผลิตสมาร์ทโฟนแบรนด์เวียดนามมาตรฐานยุโรปร่วมกัน

ขณะที่ "Asanzo" ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน ตั้งเป้าเพิ่มการลงทุน 8.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสมาร์ทโฟนเป็น 600,000 เครื่องในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 50 เท่า จากปริมาณการผลิตในปีที่ผ่านมา ที่เพิ่งเริ่มชิมลางผลิตและทำตลาดไปเพียง 12,000 เครื่องเท่านั้น  

โดยบริษัทมีแผนเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ทุก ๆ ไตรมาส เน้นกลยุทธ์การแข่งขันด้านราคาเป็นหลัก โดยมีราคาเครื่องละ 1 ล้านด่อง (ราว 43 ดอลลาร์สหรัฐ)

แต่มีฟังก์ชั่นพื้นฐานครบ เมื่อเทียบกับราคาของ "ซัมซุง" ที่วางจำหน่ายในเวียดนามสำหรับรุ่นที่มีฟังก์ชั่นใกล้เคียงกัน อยู่ที่เครื่องละ 2.5 ล้านด่อง (108 ดอลลาร์สหรัฐ) โดย Asanzo ตั้งเป้าเพิ่มรายได้สมาร์ทโฟนเป็น 30% ในปี 2020 จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้น้อยกว่า 1% โดยรายได้หลักยังคงมาจากทีวี

ขณะที่ "Bkav" บริษัทซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยชั้นนำของเวียดนาม เคยผลิตสมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรกภายใต้แบรนด์ "Bphone" ในปี 2015 ได้ประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า บริษัทกำลังศึกษาและเตรียมพัฒนาสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ภายในปี 2018 ซึ่งจะเน้นที่ฟังก์ชั่นมากขึ้น แต่ระดับราคาเท่าเดิม นอกจากนี้ บริษัทจะรุกตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับสมาร์ทโฟนมากขึ้น พร้อมกล่าวว่า

ปัจจุบันไม่ใช่แค่แอปเปิลและซัมซุง ที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่สำคัญในตลาดไฮเอนด์แต่สมาร์ทโฟนราคาต่ำฟังก์ชั่นพื้นฐาน ก็ถูกแบรนด์ข้ามชาติใหม่ ๆ เข้ามาครอบครองมากขึ้นเช่น ออปโป้ และเสี่ยวมี่ เป็นต้น
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ในวงการไอทีของเวียดนามมองว่า ศักยภาพของตลาดสมาร์ทโฟนในเวียดนามมีอยู่สูง ยอดขายแต่ละปีเติบโตราว ๆ 5-10% อย่างไรก็ตาม คู่แข่งทางธุรกิจ

ที่น่ากลัวไม่ใช่แค่เพียงซัมซุงที่มีมาร์เก็ตแชร์เกือบครึ่ง แต่ยังมีแบรนด์ข้ามชาติอื่น ๆ เช่น ออปโป้ สมาร์ทโฟนจากจีนที่ครองส่วนแบ่งอันดับ 2 ที่ 19.4%และแอปเปิล 9.2% 

ดังนั้นการคว้าโอกาสให้สำเร็จได้นั้นพาร์ตเนอร์ที่เชี่ยวชาญจากต่างประเทศก็สำคัญ แม้ว่าเวียดนามถือเป็นหนึ่งในชาติที่โดดเด่นในด้านเทคโนโลยีก็ตาม