เปิดมาตรฐาน AS9100 “จิสด้า” อัพเกรดอุตฯ การบิน

อัปเดตล่าสุด 8 ก.ค. 2561
  • Share :
  • 464 Reads   

ถือเป็นก้าวแรกในการยกระดับไทยเป็นฮับการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในกลุ่มประเทศอาเซียน เมื่อบริษัท Lloyd's Register ได้ประกาศรับรองมาตรฐาน AS9100 หรือระบบการจัดการคุณภาพ-ข้อกำหนดสำหรับองค์กรการบิน อวกาศและการป้องกันประเทศให้กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับเป็นหน่วยงานแรกของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการหรือแล็บทดสอบวัสดุอากาศยานด้านความแข็งแรง และโครงสร้างให้บริการแก่ผู้ประกอบการด้านชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่มีหลายรายในประเทศ

ดร.ดำรงฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (new S-curve) เพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมที่หลายคนให้ความสนใจและอยากลงทุนคือ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีบทบาทในการสนับสนุนโดยตรง แต่ก็มีหลายหน่วยงานที่มีส่วนร่วมผลักดันอุตสาหกรรมนี้ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ส่งเสริมการลงทุนด้วยการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีกับอุตสาหกรรมการบินในระดับสูงสุด หรือ CAAT ที่เป็นผู้กำหนดข้อกฎหมายและกฎการบินสำหรับประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ร่วมส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งอุตสาหกรรมการบินโดยเฉพาะการซ่อมบำรุงอากาศยาน มุ่งเน้นการลงทุนจากต่างชาติในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น โครงการเมืองการบินอู่ตะเภา

หากประเมินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐาน AS9100 มากที่สุด ตามมาด้วยมาเลเซียและไทย

ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล รักษาการหัวหน้าฝ่ายพัฒนาและเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมอวกาศและหัวหน้าห้องปฏิบัติการแกแล็กซี่ของจิสด้า กล่าวว่า ไทยมีผู้ประกอบการจำนวน 32 หน่วยกว่า 20 บริษัท ที่ได้รับการรับรอง AS9100 ส่วนมากจะเป็นผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนหรือซ่อมบำรุงอากาศยานจากต่างประเทศที่มาลงทุนในไทย บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องหาซัพพลายเออร์ในประเทศไทย ซึ่งซัพพลายเออร์ในไทยเหล่านี้ก็ต้องพยายามอัพเกรดตัวเองให้สามารถรับบริการในอุตสาหกรรมการบินจากบริษัทข้ามชาติเหล่านั้นได้ แน่นอนบริษัทไทยจำเป็นต้องขอการรับรอง AS9100 ด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไป

“กลุ่มเป้าหมายหลักของห้องปฏิบัติการเราคือ บริษัทผู้ผลิตหรือซ่อมชิ้นส่วนอากาศยาน นอกจากนี้เมื่อเราได้รับการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการแล้ว ก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนอยู่ในฐานข้อมูลโลก เปิดโอกาสให้บริษัททั่วโลกเห็นและเลือกที่จะใช้บริการ คาดหวังว่า มาเลเซียและสิงคโปร์จะเป็นลูกค้าต่างชาติกลุ่มแรกที่จะเข้ามาใช้บริการ แล็บเราเปิดให้บริการโดยใช้เวลาทดสอบไม่เกิน 7 วัน อัตราค่าบริการต่ำกว่าแล็บต่างประเทศถึง 50% จึงช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดต้นทุน”

ขณะที่ ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ให้ความเห็นในตอนท้ายว่า ในอนาคตไทยจะเป็นผู้นำในการทดสอบชิ้นส่วนอากาศยานของอาเซียน และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานตามเป้าหมายอุตสาหกรรมใหม่ (new S-curve) ที่รัฐบาลไทยกำลังผลักดันให้เขตอีอีซี มีโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานขนาดใหญ่ด้วย