คาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว หลังโอลิมปิค 2020

อัปเดตล่าสุด 21 ก.ค. 2561
  • Share :

การเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่

สำหรับโอลิมปิคฤดูร้อนกำลังจะมาถึงในอีก 2 ปีข้างหน้า พบว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการท่องเที่ยวจะมีมูลค่ารวมสูงถึง 32 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าความต้องการด้านอสังหาริมทรัพย์จะลดลงหลังการแข่งขันโอลิมปิค ทำให้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นขาดไปไม่ได้ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้เล็งที่จะทุ่มเทให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์อัตโนมัติ ร่วมกับสนับสนุนการท่องเที่ยวและการลงทุน เพื่อบรรเทาผลจากความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นนี้ 

1.5 เท่าของยุคฟองสบู่

หลังรายละเอียดของโอลิมปิคฤดูร้อน 2020 เป็นที่แน่ชัดแล้ว ผลกระทบทางเศรษฐกิจจึงมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งจาก Mitsui & Co. กลับมาดำเนินโครงการพัฒนาอาคารระฟ้าในโอเทมาจิ ณ กรุงโตเกียวอีกครั้ง  เพื่อให้แล้วเสร็จในปี 2020, East Japan Railway Company ที่เร่งก่อสร้างสถานีและสิ่งก่อสร้างใหม่ในบริเวณของสถานีชินากาวะเพื่อเปิดให้บริกาณในปีเดียวกัน ซึ่งเทศบาลโตเกียวคาดว่าจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นเป็นมูลค่ารวม 32 ล้านล้านเยนในช่วงระยะเวลา 18 ปี ตั้งแต่ปี 2013 - 2030 ซึ่งในจำนวนนี้ คาดการณ์ว่าจะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานถึง 27 ล้านล้านเยน

อย่างไรก็ตาม มีผู้แสดงความกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังโอลิมปิค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยในปี 2019 ราคาที่ดินสาธารณะในกินซ่าได้พุ่งขึ้นสูงถึงตารางเมตรละ 55.5 ล้านเยน ซึ่งมากกว่าเมื่อยุคฟองสบู่ถึง 1.5 เท่า ซึ่งเป็นปริมาณที่มากเกินไปสำหรับสำนักงานและที่อยู่อาศัย และคาดการณ์ว่าจะไม่เป็นที่น่าแปลกใจหากราคาตกลงมาหลังโอลิมปิค ซึ่ง Mitsubishi UFJ Research and Consulting คำนวนว่าอัตราการเติบโตของ GDP ในปีงบประมาณ 2020 จะลดลง 0.1%

การเติบโตที่มั่นคง

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังโอลิมปิคก็มีอยู่บ้าง เช่น ประเทศอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้เดินหน้านโยบายด้านเทคโนโลยีและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและการลงทุน ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งใจใช้อังกฤษเป็นแบบอย่างเพื่อการเติบโตที่มั่นคงต่อไป

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ได้ถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่หลังปี 2020 เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์อัตโนมัติ, AI, และหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูงในประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างญี่ปุ่น ซึ่งผู้เกี่ยวข้องของรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวแสดงความเห็นว่า “เป็นไปได้ยากที่ AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์อย่างที่หลายประเทศมีความกังวล”

สู่มหาอำนาจด้านหุ่นยนต์

ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าให้บริการยานยนต์อัตโนมัติในบางพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนคนขับรถในปี 2020 และได้ประสานความร่วมมือไปกับทางผู้ผลิตยานยนต์แล้ว

นอกจากนี้ ในพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรน้อยนั้น นอกจากผู้สูงอายุแล้ว การช่วยเหลือผู้พิการและผู้ทุพพลภาพยังเป็นโอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่อีกด้วย รวมไปถึงภาคโลจิสติกส์ซึ่งมีปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้เอง หุ่นยนต์จึงกลายเป็นที่จับตามองมากยิ่งขึ้น ซึ่งญี่ปุ่นได้เล็งใช้สถานที่ต่าง ๆ เช่นท่าอากาศยานในการเป็นโชว์เคสเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และก้าวขึ้นเป็น “มหาอำนาจด้านหุ่นยนต์”