ผู้ผลิตญี่ปุ่นเตรียมรุกตลาดอากาศยานนอกประเทศ

อัปเดตล่าสุด 20 ก.ค. 2561
  • Share :

Mr. Seiichi Suzuki ประธานบริษัท S-TEC กล่าวว่า “เราจะรับแค่งาน Process ชิ้นส่วนไม่ได้ แต่ต้องขายสินค้าของเราเองให้ได้ด้วย” และได้นำแนวคิดนี้มาใช้นับตั้งแต่ครั้งออกบูธในงานแอร์โชว์เมื่อ 8 ปีที่แล้ว จนทำให้รายได้มากกว่า 70% ของบริษัทมาจากอุตสาหกรรมอากาศยานและยานอวกาศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะทำยอดได้ดีในประเทศญี่ปุ่น แต่กลับไม่มีออเดอร์จากนอกประเทศเข้ามามากนัก

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อ 2 ปีก่อนหน้า บริษัทจึงทำการพัฒนา “Special Joint” Rotary Joint ที่ S-TEC ออกแบบขึ้นเอง ซึ่งใช้โครงสร้างแบบเดียวกับที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และเสนอขายให้กับอุตสาหกรรมอากาศยานและยานอวกาศซึ่งมีความต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ และประสบความสำเร็จด้านยอดขายจากการมีคู่แข่งในตลาดจำนวนน้อย และถูกนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนเฮลิคอปเตอร์ของผู้ผลิตเครือญี่ปุ่นรายใหญ่

ปัจจุบัน ทางบริษัทได้แต่งตั้งพนักงานซึ่งมีความสามารถทางภาษา และมอบหมายหน้าที่ในการออกบูธตามงานแอร์โชว์ต่าง ๆ นอกญี่ปุ่น และประสบความสำเร็จในการรับออเดอร์จากต่างชาติในที่สุด

อีกรายหนึ่งคือ Tokyo Fluid Research ซึ่งประธาน Hideo Omotani กล่าวว่าคีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับเขาคือ “HondaJet” เครื่องบินเจ็ทเชิงพาณิชย์ขนาดเล็ก และ 3D Printer ซึ่งประธานได้กล่าวว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมกับการพัฒนา HondaJet นี้เอง ที่ทำให้บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นมาได้สำเร็จ

ในการพัฒนา HondaJet นั้น 3D Printer เป็นอุปกรณ์ที่ถูกใช้ในการพัฒนาแบบจำลองสำหรับทดสอบการไหลของอากาศในอุโมงค์ลม ซึ่งประธาน Omotani กล่าวว่า “การที่เราทดลองล้มเหลวครั้งแล้วครั้เล่า ทำให้เราได้องค์ความรู้ในการใช้ 3D Printer ออกมา”

ซึ่ง Tokyo Fluid Research ได้นำองค์ความรู้นี้มาใช้เป็นจุดแข็งของตน และรับงานจาก Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) จนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งได้ไปออกบูธในงาน Farnborough Airshow ที่ลอนดอน และเล็งพัฒนาการใช้งาน 3D Printer ให้ครอบคลุมชิ้นส่วนอากาศยานมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัท

ส่วนทางด้านผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Mitsubishi Heavy Industries นั้น แม้จะมีบทบาทในการผลิตอากาศยานของ Boeing อยู่แล้ว แต่ทางบริษัทก็ได้เล็งไปที่งานผลิต Panel ซึ่งไม่เคยทำมาก่อนอีกด้วย โดยร่วมมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนตกแต่งยานยนต์ในการพัฒนา Glass Fiber-Reinforced Plastics (GFRP) และนำ Panel ที่ผลิตจากวัสดุนี้ไปออกบูธในงาน Farnborough Airshow ซึ่งผู้รับผิดชอบกล่าวว่า “อยากจะนำวัสดุนี้ไปใช้ในการผลิตชิ้นส่วนตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน”

อีกรายหนึ่งคือ ShinMaywa ซึ่งนำเครื่องบินขนาดเล็กซึ่งมีคุณสมบัติในการขึ้นลงแนวดิ่งไปออกงาน โดยใช้ใบพัดที่ติดตั้งไว้ด้านในปีก และสามารถบินได้ด้วยความเร็ว 20 เมตรต่อวินาที โดยตัวเครื่องติดตั้งกล่องถ่ายภาพเอาไว้ และคาดการณ์ว่าจะสามารถนำไปใช้ในเหตุการณ์ภัยพิบัติได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกำหนดการณ์นำไปใช้งานจริงแต่อย่างใด ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางบริษัทมีประสบการณ์ในการพัฒนาเครื่องบินกู้ภัย “US-2” มาแล้ว อย่างไรก็ตาม มีการผลิตจริงแค่เพียง 1 ลำต่อ 3 ปีเท่านั้น ซึ่งผู้รับผิดชอบอธิบายสาเหตุที่ผันมาผลิตเครื่องบินขนาดเล็กแทนว่า “มีเป้าหมายเพื่อเป็นการสืบทอดเทคโนโลยีเดิม”

จะเห็นได้ว่า ผู้ผลิตเครือญี่ปุ่นเริ่มรุกตลาดอากาศยานต่างชาติกันมากขึ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อย หรือกระทั่งการมองหาแนวทางใหม่ของรายใหญ่ ซึ่งหลังจากนี้ การแข่งขันในอุตสาหกรรมอากาศยานจะรุนแรงมากขึ้นอย่างแน่นอน