โค้งสุดท้าย “ยุคหนีสมาร์ทโฟน” ของผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
เร่งลงทุนเครื่องจักร R&D และ M&A
ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เผยเข้าช่วงโค้งสุดท้ายในการเตรียมแผนธุรกิจสำหรับ “หนีสมาร์ทโฟน” และเข้าสู่ธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น สืบเนื่องจากสมาร์ทโฟนโมเดลธงของ Apple ที่ไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ส่งผลให้ตลาดสมาร์ทโฟนปี 2018 มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดการชะลอตัว ซึ่งเป็นสาเหตุหลักให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตัดสินใจมองไปยังอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะแนวคิด CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric) และอยู่ระหว่างการเร่งลงทุนเครื่องจักร วิจัยและพัฒนา และการทำ M&A (Mergers and Acquisitions) ในขณะนี้
มากถึง 6,000 ชิ้น
สำหรับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ปริมาณชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่องในธุรกิจยานยนต์คือปัจจัยที่น่าไว้วางใจ ยกตัวอย่างเช่น ความต้องการตัวเก็บประจุเซรามิคแบบหลายชั้น (MultiLayer Ceramic Capacitors (MLCC)) ในรถยนต์ไฟฟ้าและระบบ Advanced Driver Assistance Systems (ADAS) ที่พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปแล้ว คาดการณ์ว่าจะมีจำนวน MLCC ที่ติดตั้งในรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 6,000 ชิ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม MLCC ที่ใช้จะเป็นแบบขนาดใหญ่เป็นหลัก ต่างกับที่ถูกใช้ในสมาร์ทโฟน ทำให้การลงทุนเครื่องจักรเพื่อรองรับการผลิตกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่หลายบริษัทกำลังเร่งเตรียมลงมือ
ปัจจุบัน Taiyo Yuden ซึ่งมียอดออเดอร์ MLCC ขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาสร้างโรงงานแห่งใหม่สำหรับผลิต MLCC ขนาดใหญ่ TDK เองก็เร่งการลงทุนโรงงานในประเทศญี่ปุ่นซึ่งกำหนดการณ์เดิมคือปีงบประมาณ 2019 ให้เกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2018 พร้อมเบนเข็มมาพัฒนา MLCC ขนาดใหญ่สำหรับยานยนต์, ส่วน Murata Manufacturing เองก็มีแนวทางที่จะตอบสนองความต้องการทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และสมาร์ทโฟนด้วยการสร้างอาคารเพิ่มเติมในฐานการผลิตที่จังหวัดฟุคุอิในเดือนธันวาคม 2019
แบ่งปันทรัพยากรณ์
ทางด้าน Alps Electric ได้ประกาศประสานความร่วมมือกับบริษัทลูก Alpine Electronics และธุรกิจข้างเคียงเพื่อเสริมศักยภาพของธุรกิจด้านยานยนต์ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทได้วางแผนแบ่งปันทรัพยากรซึ่งจะเริ่มขึ้นในปี 2019 โดยอาศัยจุดแข็งของตน เช่น การใช้ชิ้นส่วนที่เป็นตัวกลางระหว่างคนและเครื่องจักร อย่างสวิทช์ในการร่วมพัฒนาระบบห้องคนขับ และใช้เซ็นเซอร์รวมรวมข้อมูลภายในรถเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้รถที่ขับขี่ง่ายเฉกเช่นการใช้สมาร์ทโฟน
ผู้ผลิตอีกรายคือ Nidec ซึ่งตัดสินใจรุกตลาดยานยนต์ด้วยชิ้นส่วนสำคัญอย่างมอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า และผลิตมอเตอร์ที่มีความโดดเด่นสำหรับการใช้งานที่ต่างกันคือ “เร่ง เลี้ยว และเบรก” ซึ่งแผนกผลิตภัณฑ์สำหรับยานยนต์ของ Nidec มียอดขายในปีงบประมาณ 2017 อยู่ที่ 3 แสนล้านเยน โดยมีผลิตภัณฑ์ในหมวดมอเตอร์ขนาดเล็กเป็นรายได้หลัก ซึ่ง Nidec ได้ตัดสินใจดำเนินการซื้อและควบรวมธุรกิจ เพื่อให้ยอดขายในแผนกนี้เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1 ล้านล้านเยนในปีงบประมาณ 2020
การกระตุ้นความต้องการด้วยโมเดลธงมีขีดจำกัด
International Data Corporation (IDC) ผู้ให้คำปรึกษาด้านข้อมูลทางการตลาดประเทศสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ปริมาณสมาร์ทโฟนที่จะเข้าสู่ตลาดในปี 2018 จะอยู่ที่ 1,462 ล้านเครื่อง ลดลงจากปี 2017 0.2% ซึ่งแม้ว่าในสมาร์ทโฟน 1 เครื่องจะมีปริมาณชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น แต่ด้วยอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2017 ทำให้หัวหน้าแผนกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของ IDC กล่าวว่า “การกระตุ้นความต้องการด้วยโมเดลธงมีขีดจำกัด” อีกทั้งพัฒนาการของสมาร์ทโฟนที่ล่าช้าลงทำให้ไม่แน่ชัดว่าจะพัฒนาไปต่อได้อีกมากแค่ไหน ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมยานยนต์มีการพัฒนาทั้งแนวคิด CASE และเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่น ๆ ส่งผลให้กลายเป็นที่จับตามองจากผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
“ปลายทาง” ของตลาดสมาร์ทโฟน
IDC รายงานว่าปริมาณสมาร์ทโฟนในตลาดโลกปี 2017 อยู่ที่ 1,465 ล้านเครื่อง ลดลงจากปีก่อน 0.5% หลังจากที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2010 - 2015 โดยมีประเทศจีนและประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดได้หยุดลงในปี 2015 และเริ่มลดลงในปี 2017 ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2018 จะลดลงไปอีก
ส่วนทางด้าน IHS Technology ผู้ให้คำปรึกษาด้านข้อมูลทางการตลาดประเทศอังกฤษ ยังได้คาดการณ์เพิ่มเติมว่า การเติบโตของค่าเงินจะส่งผลให้มูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนในปี 2020 จะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2017 4.5% หรืออยู่ที่ 346,100 ล้านดอลลาร์
การเติบโตของ Connected Car และยานยนต์ไฟฟ้า
คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในระดับโลก โดย PricewaterhouseCoopers (PwC) สำนักงานบัญชีระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าปริมาณยานยนต์ในตลาดโลกปี 2021 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2017 22.0% หรืออยู่ที่ 1.147 ล้านล้านคัน โดยประเภทรถที่จะมีปริมาณมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือรถไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนทางด้านยอดขายคาดการณ์ว่าจะมีส่วนแบ่งในตลาดมากขึ้นจากที่ 5% ในปี 2017 เป็น 17.1% ในปี 2024 ส่วนในประเทศญี่ปุ่นเองก็เป็นที่คึกคัก เห็นได้จากเป้ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 5.5 ล้านคันของ Toyota ในปี 2030
ปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้ามีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากอยู่ในระบบส่งกำลัง ซึ่งประกอบจาก 3 ส่วนหลักคือมอเตอร์ อินเวอร์เตอร์ และแบตเตอรี่ อีกทั้งด้วย Connected Car ซึ่งสามารถเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ตได้ที่จะกลายเป็นที่แพร่หลายอย่างแน่นอนในอนาคตเอง ที่ยิ่งทำให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์สูงขึ้น ราวกับว่า “รถยนต์กลายเป็นสมาร์ทโฟน”