“Super Cycle” ของ Canon
คาดการณ์ความเสียหายล่วงหน้าด้วย AI
Mr. Hiroaki Takeishi ผู้จัดการระดับสูงของ Canon กล่าวถึง “Super Cycle” (ช่วงขาขึ้น-ขาลงของเศรษฐกิจ) ซึ่งเป็นวงจรความต้องการเซมิคอนดัคเตอร์ที่จะสูงขึ้นในระยะยาวว่า “กำลังรู้สึกได้ว่าเกิดขึ้นจริงแล้ว เห็นได้จากการตัดสินใจลงทุนเครื่องจักรของผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ที่ใช้เวลาน้อยลงเรื่อย ๆ” และมีบ่อยครั้งที่จำเป็นต้องสั่งเครื่องจักรใหม่ก่อนกำหนด เป็นการแสดงให้เห็นถึง “การทำงานที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน”
โดยการลงทุนแต่ละครั้ง จำเป็นต้องคำนึงถึงสถานการณ์ตลาด ลูกค้า และการพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้มองได้ว่าการตัดสินใจลงทุนเครื่องจักรที่ใช้เวลาน้อยลงได้สื่อให้เห็นถึงปริมาณการลงทุนที่มากขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และในความเป็นจริงนี้เอง Canon ก็สามารถทำยอดในส่วนของ Semiconductor Lithography Equipment ได้เป็นอย่างดี โดยในไตรมาสแรกของปี 2018 นี้ มียอดอยู่ที่ 27 เครื่อง หรือเท่ากับ 2.5 เท่าของไตรมาสแรกปี 2017 และคาดการณ์ว่าจะสามารถทำยอดรวมได้ถึง 126 เครื่อง หรือเท่ากับ 1.8 เท่าของปี 2017
เสริมประสิทธิภาพการผลิต
Semiconductor Lithography Equipment เป็นเครื่องที่ถูกใช้ในการกัดลายวงจรลงบนแผ่นเวเฟอร์ของเซมิคอนดัคเตอร์ ซึ่ง Canon มีศูนย์กลางการผลิต Semiconductor Lithography Equipment อยู่ที่ Utsunomiya Plant (เมืองอุซึโนมิยะ จังหวัดโทชิงิ) และ Ami Plant (เมืองอามิ จังหวัดอิบารากิ) ซึ่งวัสดุส่วนหนึ่งที่จำเป็นในการผลิตนั้นได้รับผลกระทบจาก Super Cycle เป็นอย่างมาก ซึ่ง Mr. Takeishi ได้แสดงความเห็นว่า “เราจำเป็นต้องเสริมประสิทธิภาพการผลิต เพื่อลด Lead Time ลงให้ได้”
ด้วยเหตุนี้เอง Canon จึงตัดสินใจเพิ่มกำลังผลิต Semiconductor Lithography Equipment ขึ้น ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มขึ้นให้ได้ 1.5 เท่าในปี 2018 โดยการเสริมศักยภาพในส่วนงาน Processing และ Film Deposition, เพิ่มปริมาณการว่าจ้างบริษัทอื่น, และการประกอบอุปกรณ์การผลิตเก่ากลับมาใช้ใหม่
นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ถูกคาดหวังว่าจะถูกนำมาใช้ก็คือ AI ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทดลองใช้ในการประเมินความเสียหายของอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ล่วงหน้า ซึ่งนอกจากการนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเช่นนี้แล้ว หลังจากนี้เอง ก็มีแนวทางนำ AI ไปใช้ในการเพิ่มศักยภาพการผลิตของลูกค้าอีกด้วย ซึ่ง Mr. Takeishi ได้กล่าวเสริมว่า “จะมีช่องทางในการใช้ AI กับ Semiconductor Lithography Equipment มากขึ้น เช่น นำไปใช้ในการสนับสนุนภาคสนาม หรือใช้ในงานบริการ”
Mr. Takeishi มองว่าสิ่งสำคัญสำหรับ AI คือ “ความสามารถในการสื่อสารกับพนักงานในโรงงาน” และตั้งใจนำการประเมินความเสียหายของ AI มาใช้ในการเร่งการแก้ปัญหาของพนักงานให้ว่องไวมากยิ่งขึ้น
แนวทางที่เหมาะสม
ปัจจุบัน ทาง Canon ได้รวบรวมข้อมูลการทำงานของเครื่องจักรจากบริษัทที่อนุญาตมาจัดทำเป็นขุมข้อมูลขึ้น ซึ่งขุมข้อมูลนี้จะถูกใช้ในการสนับสนุนวิศวกร และใช้ในการเพิ่มศักยภาพของ AI เพื่อให้สามารถพัฒนาระบบที่เหมาะสมออกมาได้ในอนาคต