ธุรกิจร่วมทุนรถยนต์ไฟฟ้าเบ่งบานในจีน งาน CES Asia ผลตอบรับดีเยี่ยม

อัปเดตล่าสุด 15 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 430 Reads   

ธุรกิจร่วมทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนกำลังก้าวสู่ขาขึ้น โดย Byton แบรนด์ซึ่งถูกก่อตั้งโดยอดีตวิศวกรของ BMW ด้วยเงินลงทุน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตจำนวนมากในปี 2019  ส่วนทางด้าน Zhejiang Lingpao Technology ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 เองก็อยู่ระหว่างเร่งเตรียมพร้อมสำหรับเข้าสู่ตลาด ซึ่งด้วยทั้งการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าจากรัฐบาลจีน และความคืบหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติแล้ว ทำให้คาดการณ์ได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้ากำลังจะเป็นที่แพร่หลายในตลาดจีนในเร็ววัน

แบ่งงานข้ามชาติ

Mr. Daniel Kirchert ผู้ร่วมก่อตั้ง Byton กล่าวอย่างมั่นใจในงาน “CES Asia” งานจัดแสดงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และ IT ซึ่งจัดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ว่า “รถของเราไม่ได้เป็นแค่แนวคิด แต่จะเป็นรถที่มีอยู่จริง” ซึ่งรถรุ่นต้นแบบทั้ง 2 ประเภทที่ทดลองผลิตขึ้นนั้น มีจุดเด่นอยู่ที่จอภาพขนาดใหญ่ซึ่งติดตั้งอยู่ในตัวรถ และมีกำหนดเข้าสู่ตลาดจีนในปี 2019 และยุโรปในปี 2020 

Byton ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 โดยมีสำนักงานหลักอยู่ที่เมืองหนานจิง และศูนย์พัฒนา 2 แห่งที่ซิลิคอนวัลเล่ย์ และเยอรมนี ด้วยทีมงานจากอดีตวิศวกรของ BMW และ Apple 

โดย Byton ได้รับเงินลงทุนจาก FAW Group ผู้ผลิตยานยนต์จีน, Contemporary Amperex Technology ผู้ผลิตแบตเตอรี่, และบริษัทอื่น ๆ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และตั้งเป้ากำลังผลิตที่โรงงานหนานจิงไว้ให้ได้กำลังผลิตสูงสุดที่ปีละ 300,000 คัน

ในอีกด้านหนึ่ง Zhejiang Lingpao Technology ได้ประสบความสำเร็จในการระดมทุนที่ประเทศจีน เพื่อพัฒนา “S01” รถยนต์ไฟฟ้าติดตั้งเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติที่วางแผนใช้เทคโนโลยี “ระดับ 4” ให้เป็นระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ภายในปี 2021 ซึ่งแผนกบริหารได้ตั้งเป้ายกบริษัทขึ้นเป็น “Huawei แห่งวงการยานยนต์”

โดยในงาน CES Asia นั้น นอกจาก 2 บริษัทนี้แล้ว ยังมี “Singulato” ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหน้าใหม่จากเมืองปักกิ่ง, BYD ผู้ผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่ไฟฟ้า, BAK ผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า, และอื่น ๆ จากการที่จำนวนบูธมากกว่า 20% เป็นบูธที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลให้งาน CES Asia ในครั้งนี้มีสภาพราวกับเป็นงานมอเตอร์โชว์เลยทีเดียว

เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ด้วยนโยบาย New Energy Vehicle (NEV) ซึ่งมีกำหนดใช้โดยรัฐบาลจีนในปี 2019 ส่งผลให้ผู้ผลิตยานยนต์ถูกควบคุมปริมาณการผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ PHV ทำให้ประเทศจีนคาดการณ์ว่าตนจะกลายเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายใต้การนำของรัฐบาล ซึ่งรายงานการคาดการณ์โดย Mizuho Bank คาดการณ์ว่า ในปี 2030 รถยนต์ไฟฟ้าจะมีอัตราส่วนยอดขายจากยานยนต์ทั้งหมดเป็น 29% หรือ 3.55 ล้านคันในประเทศจีน 6% ในประเทศญี่ปุ่น และ 4% ในประเทศสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม บริษัทร่วมทุนยังมีคู่แข่งสำคัญคือ “Model 3” ของ Tesla ซึ่งกำลังเข้าสู่การผลิตจำนวนมาก รวมถึงค่ายรถจีนที่มีกำหนดเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศตนกันอีกหลายราย รวมถึงบริษัทร่วมทุนเอง ที่แม้จะมีแนวคิดที่น่าสนใจ แต่ก็จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมในการผลิตจำนวนมากให้ได้ ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า การแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตรายเก่าและรายใหม่จะรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน