ABB นำ VR มาใช้ร่วมกับระบบอัตโนมัติ (Automation)

อัปเดตล่าสุด 30 มิ.ย. 2561
  • Share :

เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน หรือ VR (Virtual Reality) ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้แนวคิด Industry 4.0 เกิดขึ้นจริงในโรงงานอุตสาหกรรมได้ และการปรากฏตัวของการผสานรวม VR เข้ากับระบบอัตโนมัติจาก ABB จึงเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับวิศวกรหุ่นยนต์

ABB นับเป็นบริษัทแรกที่นำเสนอ VR สำหรับการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ผ่าน RobotStudio®  ระบบนี้ทำให้วิศวกรหุ่นยนต์ทำงานได้ง่ายขึ้น ด้วยการโต้ตอบกับโมเดล 3 มิติบน RobotStudio® โดยเสียบเข้ากับแว่นตาเสมือนจริงและดูโมเดล 3 มิติจากทุกทิศทางได้ดีกว่าหน้าจอ 2 มิติบนคอมพิวเตอร์

โปรแกรมนี้มีความสมจริงอย่างมาก โดยจัดวางให้โปรแกรมเมอร์อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุดและมั่นใจได้ในความปลอดภัยเมื่อนำไปใช้งานจริง การเขียนโปรแกรมด้วย VR จะนำคอนโทรลเลอร์แบบใช้มือถือมาสื่อสารกับโมเดล โดยในโลกเสมือนจริงนี้ทำให้โปรแกรมเมอร์สามารถเดินไปรอบ ๆ หุ่นยนต์ ควบคุมแขนหุ่นยนต์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้  รวมถึงตรวจสอบหุ่นยนต์จากทุกมุม อีกทั้งยังสามารถทำการปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ 

VR นี้จะแสดงการทำงานให้เห็นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ จึงตอบสนองต่อการทำงานร่วมกันหลายคนพร้อมกันสำหรับพัฒนาโปรแกรมให้เป็นโซลูชั่นที่ดีที่สุด หรือกระทั่งการทำงานระยะไกลร่วมกันผ่านการเชื่อมต่อของ Skype เพื่อเข้าชม workcell และตรวจสอบระบบจากทางไกล ดังนั้น การนำเทคโนโลยี VR เข้ามาใช้ในระบบอัตโนมัติจะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น อีกทั้งช่วยให้มีความเข้าใจการทำงานของโซลูชั่นที่ออกแบบมาได้ดีขึ้น เพื่อการเทรนนิ่งและรวมไปถึงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น 

  • สำหรับสายพานลำเลียงที่มีการเคลื่อนไหว การใช้ VR จะทำให้สามารถดูได้อย่างแม่นยำว่าหุ่นยนต์จะเคลื่อนที่ไปพร้อม ๆ กับการเคลื่อนไหวของสายพานลำเลียงอย่างพอดีหรือไม่ โดยไม่ต้องรบกวนกระบวนการผลิตจริง 
  • ความสามารถในการจำลองสายเคเบิลที่จะแน่ใจได้ว่า สายเคเบิลจะไม่รบกวนกระบวนการผลิตและไม่ก่อให้เกิดอันตราย
  • ในการเชื่อมนั้น ผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจสอบลำดับการทำงานได้ใกล้ชิดจากในโมเดล 3D และทำการปรับแต่งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าได้ ก่อนที่จะให้หุ่นยนต์เริ่มทำงานจริง
  • สำหรับการทาสี ผู้ใช้สามารถทาสีและสร้างเส้นทางของหุ่นยนต์จากการควบคุมด้วยมือได้

ด้วยเทคโนโลยี VR ที่ทำให้สามารถวางตัวเองในโมเดล 3 มิติได้นั้นสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้อย่างมาก เสริมความมั่นใจในโซลูชั่นที่ออกแบบจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเครียดได้ด้วย และทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานของผู้ใช้มีความสนุกมากยิ่งขึ้น