ญี่ปุ่นโชว์ "สมาร์ทซิตี้" ตอบโจทย์สังคมสูงวัย

อัปเดตล่าสุด 21 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 882 Reads   

หนึ่งในแผนพัฒนาของรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ในปี 2018 คือการมุ่งสร้าง "เมืองอัจฉริยะ" ภายใต้ชื่อโปรเจ็กต์ SDGs Future Cities ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้คิกออฟไปเมื่อ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมกับเป้าหมาย 30 เมืองนำร่อง 

ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ดำเนินนโยบายสมาร์ทซิตี้อย่างจริงจังนับตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งผลักดัน 23 เมืองนำร่องลดคาร์บอน และในปี 2011 ได้ขยับสู่การสร้างสมาร์ทซิตี้ 11 เมือง เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาทั้งภายในประเทศและนานาชาติ

18 มิ.ย.ที่ผ่านมา องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือเจโทร กรุงเทพฯ, JICA, UNDP และรัฐบาลไทย ได้ร่วมกันจัดงาน "Thailand-Japan Collaboration Seminar: Towards ASEAN Smart City Network Development" ถือเป็นครั้งแรกที่ทางการไทยได้ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสมาร์ทซิตี้จากญี่ปุ่นมาแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่การเริ่มต้นเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในประเทศไทย

ศาสตราจารย์ทสึโยชิ ฟูจิตะ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยระบบสังคมสิ่งแวดล้อม สถาบันด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และศาสตราจารย์แต่งตั้งพิเศษแห่งสถาบันเทคโนโลยีโตเกียวมาร่วมให้มุมมองว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับสมาร์ทซิตี้ มุ่งเป้าสู่นโยบายโลกเพื่อความยั่งยืน และสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศซึ่งมักมีภัยพิบัติแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง 

แผนการสร้างเมืองแห่งอนาคต รัฐบาลญี่ปุ่นดึงจุดเด่นของแต่ละเมือง เช่น "โยโกฮามา" เมืองท่าและอุตสาหกรรมสำคัญ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งใจผลักดันให้เป็น "Future City" ใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่ตอบโจทย์ทั้งรองรับการเป็นเมืองผู้สูงวัย (Aging Society Hub) ขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน 

พร้อมกับการทรานส์ฟอร์มเมืองโยโกฮามา มีประชากร 3.7 ล้านคน เมืองใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น ให้เป็นเมืองที่มีการจัดการด้านพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนภายใต้ 3 เสาหลัก คือ 

1.โยโกฮามา สมาร์ทซิตี้ โปรเจ็กต์ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาพลังงานผ่านความร่วมมือต่าง ๆ รวมถึงการดึงพลังงานมาจากโซลาร์ และการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า

 2.สร้างความยั่งยืนด้านที่อยู่อาศัยของประชากร บนความท้าทายของสังคมผู้สูงวัย โดยวางแผนสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนการอนุรักษ์พลังงานและคาร์บอน 

3.สร้างการดึงดูดความร่วมมือในการพัฒนากับองค์กรทั้งในและต่างประเทศ หรือกรณี "เมืองชิโมคาวะ" จังหวัดฮอกไกโด ซึ่งรุ่มรวยธรรมชาติ ก็จะถูกผลักดันในฐานะ "สมาร์ทซิตี้ด้านธรรมชาติป่าไม้" โดยดึงภาคอุตสาหกรรม ทรัพยากร และชุมชน มาทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตจากทรัพยากรป่าไม้อย่างบูรณาการ

นอกจากนี้ภาคเอกชนของญี่ปุ่นก็มีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนสมาร์ทซิตี้เพื่อความยั่งยืนเช่นกัน อย่างกรณีบริษัท "มิตซูบิชิ" ได้จัดทำแผน Mitsubishi Electric (MELCO) Smart Communities Initiative เพื่อสร้างชุมชนการทำงานที่มีประสิทธิภาพและปราศจากคาร์บอน โดยใช้ระบบสมาร์ทกริดบริหารจัดการพลังงานในชุมชน พัฒนาอาคารสำนักงานที่ใช้พลังงานอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า ตลอดจนนำรถพลังงานไฟฟ้าและสถานีชาร์จมาติดตั้งภายในบริเวณโรงงาน

ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยกำหนดว่าภายในปี 2018 จะมีการพัฒนาสมาร์ทซิตี้เร่งด่วนใน 7 เมือง คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และมีแผนขยายครอบคลุมทั่วประเทศใน 5 ปี ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ลดค่าใช้จ่าย เน้นการมีส่วนร่วมภาคธุรกิจและประชาชน