พานาฯ ส่งเสริมธุรกิจใหม่ภายใต้ GCC

อัปเดตล่าสุด 12 มิ.ย. 2561
  • Share :

ในขณะที่สภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรมการผลิตกำลังเปลี่ยนไปเช่นนี้ Panasonic เองก็หนีไม่พ้น “กำแพง” ที่ผู้ผลิตรายใหญ่ต่างพบเจอกัน ซึ่งก็คือปัญหาในด้านการเปิดธุรกิจใหม่ได้ยากด้วยขนาดขององค์กร เหตุนี้เอง ทาง Panasonic จึงได้ออกแนวทางการส่งเสริมธุรกิจใหม่ ภายใต้โครงการ “Game Changer Catapult (GCC)” เพื่อก้าวข้ามกำแพงที่ว่านี้ โดยอาศัยธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน (Investment Company) ในการเปิดตัวธุรกิจใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้การติดสินใจลงทุนเป็นไปได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น


ก่อตั้ง GCC

เมื่อปี 2016 Panasonic ได้ก่อตั้ง GCC ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของ Panasonic Appliances บริษัทซึ่งรับผิดชอบด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ซึ่ง Catapult ในชื่อของ GCC นั้น มีความหมายถึง “เครื่องยิงหิน” โดยตั้งเป้าให้ GCC เป็นดั่งเครื่องยิงหินที่จะพลิกสถานการณ์ทางด้านการแข่งขันของทางบริษัทด้วยการปฏิวัติเทคโนโลยี 

ซึ่งจนถึงวันนี้ ได้มีการจัดประกวดแนวคิดภายในบริษัทไปแล้วทั้งสิ้น 2 ครั้งด้วยกัน ซึ่งแนวคิดที่ได้รับการคัดเลือก จะถูกนำไปทดลองผลิต โดยได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อการผลิตและการตลาด ซึ่งโครงการที่ถูกผลิตออกมาเป็นชิ้นงานรุ่นต้นแบบนั้น ได้ถูกนำไปจัดแสดงที่ “South by Southwest” งานนิทรรศการด้านภาพยนตร์ ดนตรี และเทคโนโลยีระดับโลก จัดขึ้นที่รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐฯ เพื่อหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจและมหาวิทยาลัยที่ให้ความสนใจ 

โดยผลงานที่ถูกนำไปจัดแสดงโดย Panasonic ประกอบด้วยเครื่องฉายภาพยนตร์แบบติดตั้งให้เป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งภายใน, ระบบจัดจำหน่ายข้าวกล่องสำหรับติดตั้งกับตู้เย็นสำนักงาน, หุ่นยนต์ปั้นข้าวปั้นซึ่งปั้นได้เหมือนคนปั้นเอง, และอื่น ๆ รวมทั้งหมด 4 รายการ ซึ่งทุกชิ้นอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จริงต่อไป

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้กลายเป็นธุรกิจได้นั้น ปัญหาสำคัญก็คือแนวทางการลงทุน ซึ่งแม้ทาง Panasonic จะมีความสามารถในการผลิตที่เพียงพอ แต่ในด้านการเปิดธุรกิจใหม่ขึ้นนั้นยังคงไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่ง Mr. Masa Fukata ตัวแทนของ GCC ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า “หากตัดสินใจกันเองในบริษัทก็จะเกิดการล่าช้าจากกระบวนการในการประเมินผล ดังนั้นหากตัดสินใจจากการประเมินโดยคนนอก Panasonic แล้ว ก็จะสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น”


บริหารจัดการเงินลงทุน

ด้วยเหตุนี้เอง Panasonic จึงตัดสินใจก่อตั้ง “BeeEdge” ขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ด้วยการร่วมลงทุนให้กับบริษัทร่วมทุนสัญชาติญี่ปุ่น เพื่อให้สามารถใช้เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ เป็นฐานได้ โดยคาดการณ์ว่า จะได้อดีตประธานบริษัท DeNA Mr. Makoto Haruta ช่วยเหลือด้านการตัดสินใจลงทุนในฐานะผู้ประเมินจากภายนอกบริษัท Panasonic 

โดยบริษัทร่วมทุนนี้จะไม่ได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งเมื่อธุรกิจนั้นเติบโตจนสามารถทำกำไรให้กับ BeeEdge ได้แล้ว Panasonic ก็จะซื้อกิจการธุรกิจนั้น ๆ กลับมา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการตัดสินใจว่าธุรกิจที่ซื้อคืนมานี้จะถูกขายกิจการให้กับบริษัทอื่นในภายหลังหรือไม่


สู่ผลประโยชน์

นอกจากแนวทางข้างต้นแล้ว ทางบริษัทยังพิจารณาการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ ภายในเครือ Panasonic เดิมอีกด้วย ซึ่งแม้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า GCC จะประสบความสำเร็จในการทำกำไรหรือไม่ แต่การลองผิดลองถูกในครั้งนี้ก็จะเกิดประโยชน์ต่อบริษัทอย่างแน่นอน

Mr. Fukata ได้กล่าวแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า “สิ่งสำคัญคือการลืมแนวทางที่ผ่าน ๆ มา แล้วเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ดูบ้าง” ก่อนกล่าวต่อว่าไม่ควรยึดติดกับความสำเร็จมากจนเกินไป ซึ่งนับจากการก่อตั้ง GCC มาแล้วเกือบ 2 ปี ก็ใกล้ถึงเวลาที่เครื่องยิงหินของ Panasonic จะยิงธุรกิจใหม่ออกไปแล้ว