ความต้องการ IoT และ AI มั่นคง ผลักดันตลาดเซมิคอนดัคเตอร์

อัปเดตล่าสุด 4 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 474 Reads   

ความแพร่หลายของ IoT และ AI เปรียบเสมือนแสงสว่างของผู้ผลิต Semiconductor Manufacturing Equipment ถึงแม้ว่าทิศทางของบริษัทนอกประเทศญี่ปุ่นจะส่งผลให้การคาดการณ์การเติบโตในระยะสั้นล่าช้าไปบ้าง แต่ผู้ผลิตค่ายญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าในระยะยาวจะมีการเติบโตที่เป็นไปอย่างมั่นคง

Tetsuo Tsuneishi ประธานบริษัท Tokyo Electron  กล่าวว่า “ปัจจุบันตลาดเซมิคอนดัคเตอร์กำลังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในส่วนของอุปกรณ์การผลิต” โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงาน Pre Process เวเฟอร์ ซึ่งมีมูลค่าตลาดที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จากเดิมที่ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2016 เป็น 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2017 

ด้วยเหตุนี้เอง Tokyo Electron จึงคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ 2020 มูลค่าตลาดนี้จะขึ้นไปอยู่ที่ 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์ จึงได้ตั้งเป้าแผนธุรกิจระยะกลาง ซึ่งก็คือผลประกอบการปีงบประมาณ 2020 ไว้ที่ 1.7 ล้านล้านเยน ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นการทำลายสถิติของบริษัท และสูงกว่าปีงบประมาณ 2017 ถึง 50.3% ซึ่ง CEO Toshiki Kawai ได้คาดการณ์อนาคตอันใกล้นี้ไว้ว่า “การมาของเทคโนโลยี 5G จะก่อให้เกิดธุรกิจและงานบริการใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้ความต้องการเซมิคอนดัคเตอร์มากขึ้น ทางบริษัทเราจึงอยากจะก้าวไปใน 2 ส่วนนี้พร้อม ๆ กัน” 

นอกจากนี้ การเร่งก่อสร้าง Data Center ขนาดใหญ่ของผู้ผลิตรายใหญ่ ยังส่งผลให้ตลาดมีการขยายตัวมากขึ้นไปอีก ซึ่งคาดการณ์ว่า ในปี 2021 จำนวน Data Center ขนาดใหญ่จะมีมากถึง 628 แห่ง จากเดิมที่อยู่ที่ 338 แห่งในปี 2016 และด้วยธรรมชาติของ Data Center ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ทุก 5 ปีนี้เอง ที่ทำให้ CEO Kawai แสดงความเห็นว่า “ความต้องการหน่วยความจำจะมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

อีกรายหนึ่งคือบริษัท Advantest ซึ่งได้ตั้งเป้าแผนธุรกิจระยะยาว ซึ่งจะสิ้นสุดในปีงบประมาณ 2027 ไว้ที่ 4 แสนล้านเยน ซึ่งสูงกว่าปีงบประมาณ 2017 ถึง 93.0% ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ทางบริษัทจำเป็นต้องเติบโตให้ได้ปีละ 4% ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าแล้ว ในช่วงระหว่างปีงบประมาณ 2018 ถึง 2020 จะมีการเติบโตรวม 20.6% หรือเท่ากับขึ้นไปอยู่ที่ 2.5 แสนล้านเยน ในอีกด้านหนึ่ง หากการเติบโตอยู่ที่ปีละ 0% CEO Yoshiaki Yoshida ได้แสดงความเห็นว่า “จะหาทางเพิ่มยอดขายให้ขึ้นไปอยู่ที่ 3 แสนล้านเยนให้ได้ในอีก 10 ปีให้หลัง”

ส่วนทางด้าน Disco นั้น คาดการณ์ว่าในช่วงแรกปีงบประมาณ 2018 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนั้น จะมียอดขายอยู่ที่ 3.79 หมื่นล้านเยน ลดลงจากปีงบประมาณก่อน 14.7% ซึ่งเป็นผลจากทิศทางการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงของธุรกิจ OSAT (OutSourced Assembly and Test) ในเกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าความต้องการหน่วยความจำจะยังคงมากขึ้นอย่างมั่นคง

ซึ่ง CEO Kazuma Sekiya ได้แสดงความเห็นต่อการคาดการณ์นี้ว่า “ตลาดจะไม่มีการชะลอตัวในภาพรวม และปีงบประมาณนี้ก็ไม่ได้ย่ำแย่อะไร ซึ่งความต้องการทั้งจากด้าน IoT, ยานยนต์, และ AI เอง ก็จะเป็นแรงผลักดันตลาดเซมิคอนดัคเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เรายังไม่ได้เริ่มลงทุนตามแผนธุรกิจระยะกลางอีกด้วย” และได้ตั้งเป้ารุกตลาดด้วยการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการจัดหาเครื่องจักรเพิ่มเติม