สวทช. หนุน ไทยอาร์แอนด์ดี ขับเคลื่อนอุตฯ หุ่นยนต์

อัปเดตล่าสุด 18 พ.ค. 2561
  • Share :

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ให้การสนับสนุนบริษัท ไทยอาร์แอนด์ดี โซลูชั่นส์ จำกัด ผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมเครื่องจักรอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 1 ใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ตามนโยบาย Thailand 4.0 จากจุดเริ่มต้นผู้ประกอบการทำธุรกิจด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรมมือสอง เป็นผู้ประกอบการที่สามารถผลิตเครื่องจักรกล และพัฒนาหุ่นยนต์เครื่องจักรที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมได้ และปัจจุบันกำลังขยายรูปแบบธุรกิจสู่ผู้ให้บริการที่เปิดพื้นที่และเปิดหลักสูตรอบรมเชิงปฎิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะด้านการพื้นฟูสภาพหุ่นยนต์ ให้แก่ผู้ดูแลรักษาและซ่อมบำรุงหุ่นยนต์ของหน่วยงานต่าง ๆ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่ Industry 4.0

นางสาวจีรวลา ฮวดมัย รักษาการผู้จัดการอุตสาหกรรมการผลิต โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลที่มีการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทิศทางและแนวโน้มของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศไทย รวมถึงความต้องการใช้งานระบบหุ่นยนต์ (Robotics) ในอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น โดยในการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของบริษัท ไทยอาร์แอนด์ดี โซลูชั่นส์ จำกัด และบริษัทในเครือ ที่ทางโปรแกรม ITAP สวทช. ให้การสนับสนุนมีด้วยกันหลายโครงการ อาทิ การฟื้นฟูสภาพ (Retrofitting) ของหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรมเคลื่อนที่อิสระ 6 แกน การพัฒนาโปรแกรมสำหรับติดต่อกับผู้ใช้งานและควบคุมแรงในการขึ้นรูปสำหรับเครื่องอัดแผ่นโลหะด้วยต้นกำลังแบบมอเตอร์แบบเซอร์โว และการฟื้นฟูสภาพเครื่องตัดโลหะด้วยแสงเลเซอร์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับทีมวิศวกรรมของบริษัท เป็นต้น

“ด้วยแนวคิดการยกระดับการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ ตามกระแส Industry 4.0 ส่งผลให้มีความต้องการจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในการขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐมีจำนวนมากขึ้น โดยสัดส่วนความต้องการใช้หุ่นยนต์มาช่วยในสายการผลิตมีมากกว่าเครื่องจักรอัตโนมัติอื่นๆ แต่ยังพบข้อจำกัดเรื่องจำนวนผู้เชี่ยวชาญและ System Integrator (SI) หรือผู้ติดตั้งระบบที่ยังมีน้อย ในขณะที่งานปรับปรุงสายการผลิตมักมีความซับซ้อนและเฉพาะเจาะจงในแต่ละสถานประกอบการ ดังนั้น การเพิ่มจำนวน SI และพัฒนาทักษะด้านอุตสาหกรรมให้กับ SI จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Industry 4.0 ด้วยการจัดฝึกอบรมผู้ประกอบการและ SI ภายใต้โครงการ “การพัฒนาศักยภาพ System Integrator ด้านการฟื้นฟูสภาพหุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ทั้งในด้านชิ้นส่วนเชิงกล ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลไกระบบควบคุม และโปรแกรมซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นและตอบสนองโจทย์จากอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น”   

คุณสมศักดิ์ แสงสว่างศรี ผู้บริหารบริษัท ไทยอาร์แอนด์ดี โซลูชั่นส์ จำกัด เล่าถึงที่มาของโครงการความร่วมมือนี้ว่า เกิดจากการที่บริษัท แมชีนเนอรี่เอ็มโปเรียม (1995) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรมและพัฒนาหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม ขอรับการสนับสนุนจากโปรแกรม ITAP สวทช. มากกว่า 10 โครงการในระยะเวลากว่า 10 ปี ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญ (ผศ.ดร.ชนะ รักษ์ศิริ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และกลไกสนับสนุนภาคเอกชนของ ITAP เพื่อพัฒนานวัตกรรมเครื่องจักรกลอุตสาหกรรม เช่น โครงการการฟื้นฟูสภาพ (Retrofitting) ของหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรมเคลื่อนที่อิสระ 6 แกน จนได้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมเคลื่อนที่อิสระ 6 แกนได้รับการฟิ้นฟูสภาพให้สามารถใช้งานได้จริง 1 ตัว และมีสมการ Forward และ Inverse เพื่อใช้ควบคุมการทำงานของข้อต่อหุ่นยนต์ทั้ง 6 แกน โครงการการพัฒนาโปรแกรมสำหรับติดต่อกับผู้ใช้งานและควบคุมแรงในการขึ้นรูปสำหรับเครื่องอัดแผ่นโลหะด้วยต้นกำลังแบบมอเตอร์แบบเซอร์โว เพื่อออกแบบ UI Software ที่ผู้ใช้เครื่องสามารถใช้ควบคุมแรงกดในการขึ้นรูปงานโลหะแผ่นที่ใช้ต้นกำลังเป็นมอเตอร์เซอร์โวได้ จนได้โปรแกรมคำนวณตำแหน่งและควบคุมแรงกด และโปรแกรมระบบป้องกันความปลอดภัย และโครงการการฟื้นฟูสภาพของเครื่องตัดแผ่นโลหะด้วยแสงเลเซอร์แบบก๊าซ CO2 ด้วยการติดตั้งระบบควบคุมซีเอ็นซีและไฟเบอร์เลเซอร์ จนได้เครื่องตัดโลหะด้วยแสงเลเซอร์ที่ได้รับการฟื้นฟูสภาพ และองค์ความรู้ในการดัดแปลง ปรับปรุง ฟื้นฟูสภาพเครื่องตัดด้วยแสงเลเซอร์ เป็นต้น เมื่อบ่มเพาะองค์ความรู้ด้านเครื่องจักรอุตสาหกรรมมาระดับหนึ่งจึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ไทยอาร์แอนด์ดี โซลูชั่นส์ จำกัด ในลักษณะของการสนับสนุนจัดหาเครื่องจักรอุตสาหกรรมฯ เพื่อสนับสนุนการทำงานของบริษัท ไทยอาร์แอนด์ดีฯ

โดย คุณสมสรรค์ แสงสว่างศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอาร์แอนด์ดี โซลูชั่นส์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัท ไทยอาร์แอนด์ดี โซลูชั่นส์ จำกัด กำลังขยายรูปแบบธุรกิจเข้าสู่ผู้ให้บริการที่เปิดพื้นที่ในลักษณะ Maker Space และเปิดหลักสูตรอบรมเชิงปฎิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะด้านการพื้นฟูสภาพหุ่นยนต์ ให้แก่ผู้ที่ต้องการเป็น System Integrator หรือผู้ติดตั้งระบบ และผู้ดูแลบำรุงรักษาด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ โดยร่วมกับโปรแกรม ITAP สวทช. และภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการจัดหลักสูตรอบรม ในเบื้องต้นบริษัท ไทยอาร์แอนด์ดี โซลูชั่นส์ จำกัด ได้รับความร่วมมือในการจัดหาเครื่องจักรมือสองเพื่อใช้เรียนรู้ในพื้นที่ Maker Space จากบริษัท แมชีนเนอรี่เอ็มโปเรียม (1995) จำกัด และแผนงานในอนาคต บริษัทฯ จะเปิดกว้างในด้านความร่วมมือกับบริษัทเครื่องจักรอุตสาหกรรมรายอื่นๆ ต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.ชนะ รักษ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวอธิบายถึงหลักสูตรในการสร้างบุคลากรด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรม รองรับ Industry 4.0 ว่า หลักสูตรเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะด้านการฟื้นฟูสภาพหุ่นยนต์ (Robot Retrofitting) แก่ผู้ประกอบการและผู้ที่ต้องการเป็น System Integrator (ผู้ติดตั้งดูแลระบบ) ด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรม หรือผู้ดูแลบำรุงรักษาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในหน่วยงาน จะมุ่งเนื้อหาเกี่ยวกับองค์ประกอบทางกล เช่น ระบบเกียร์ ระบบต่อเชื่อมข้อต่อ ฯ องค์ประกอบทางไฟฟ้า เช่น เซอร์โวมอเตอร์ การต่อเชื่อมสัญญาณทางไฟฟ้า ฯ ขั้นตอนการฟื้นฟูหุ่นยนต์ทางกล เช่น การถอดประกอบเซอร์โวมอเตอร์ การถอดประกอบระบบถ่วงสมดุลย์ของแกนหมุน ฯ และขั้นตอนการฟื้นฟูหุ่นยนต์ทางไฟฟ้า เช่น การปรับตั้งระบบควบคุมแขนหุ่นยนต์ การทดสอบการทำงานของหุ่นยนต์ ฯ รวมถึงยังมีภาคปฏิบัติแก่ผู้เข้าอบรม ประกอบด้วย การถอดประกอบเซอร์โวมอเตอร์ การซ่อมบำรุงระบบถ่วงสมดุลย์ของแกนหมุน การถอดและติดตั้งระบบป้อนกลับตำแหน่ง การปรับตั้งระบบป้อนกลับตำแหน่งกับชุดขับมอเตอร์ การปรับตั้งระบบควบคุมแขนหุ่นยนต์ และการทดสอบการทำงานของแขนหุ่นยนต์ เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาทักษะ SI ด้านการฟื้นฟูสภาพหุ่นยนต์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบหุ่นยนต์ของผู้ประกอบการ และเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความพร้อมใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและดูแลรักษาซ่อมบำรุงหุ่นยนต์เบื้องต้นได้ รวมถึงยังเป็นการเพิ่มจำนวน SI ที่เป็นผู้ติดตั้งดูแลระบบ รองรับความต้องการและกระตุ้นการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมให้มากขึ้นในอนาคต แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานคน และยกระดับคุณภาพการผลิตของอุตสาหกรรมไทย