ก.อุตฯ ดึงเอกชนรายใหญ่ ทุ่ม ตั้งศูนย์สาธิตระบบการผลิตยุคใหม่ เสริม SMEs ไทย

อัปเดตล่าสุด 14 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 733 Reads   

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เข้าร่วมพิธีเปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม และโครงการสาธิตการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น (ITC) โดยมี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ฯพณฯ ท่าน ชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิด ณ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (ITC) ซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท กรุงเทพฯ

ภายในงานนี้นายอุตตมได้เผยว่า ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือ Industry Transformation Center : ITC เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงภาคเอกชนต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ SMEs สามารถปรับตัวและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลและพัฒนาให้ผู้ประกอบการไทยก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งยังให้บริการในส่วนของ Co-Working Space เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าไปใช้งานได้ โดยมุ่งหวังให้ศูนย์ ITC เป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนา ตลอดจนเป็นสถานที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปสู่ภาคเอกชน

นอกจากนี้ทางกระทรวงฯ ยังได้ขยายงานบริการไปยังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเซรามิก จังหวัดลำปาง และศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมระดับจังหวัดอีก 64 จังหวัด รวมเป็น 76 จังหวัด โดยนำรูปแบบจากศูนย์ ITC ส่วนกลางไปเป็นต้นแบบ และปรับให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อให้บริการและสนับสนุน SMEs ในระดับภูมิภาค

กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศอีกหลายโครงการมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญอีกแรงหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ Connected Industries ซึ่งดำเนินกิจกรรมนำร่อง “Three-Stage Rocket Approach” หรือ “จรวด 3 ขั้น ผลักดัน SMEs สู่ 4.0” ที่เปรียบเสมือนจรวดช่วยขับเคลื่อนให้ SMEs ของไทย สามารถเข้าถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็ว

โดย Three-Stage Rocket Approach: จรวด 3 ขั้น เปรียบเสมือนเครื่องมือช่วยขับเคลื่อนให้ SMEs ของไทยให้สามารถเข้าถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย

ขั้นตอนที่ 1 Visualize Machine คือ การรวบรวมข้อมูลจากเครื่องจักรให้เป็นดิจิทัลและนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต

ขั้นตอนที่ 2 Visualize Craftsmanship คือ การเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของแรงงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อวิเคราะห์การทำงานให้มีเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนที่ 3 Lean Automation System Integrators : หรือ LASIs Project คือ การพัฒนาโครงการสาธิตการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น ร่วมกับ บริษัท เด็นโซ่คอร์เปอเรชั่น

ด้านนายคัทซึฮิโกะ ซุกิโตะ กรรมการบริหาร บริษัท เด็นโซ่คอร์ปอเรชั่น (สำนักงานใหญ่ เมืองคาริยะ จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น) กล่าวว่า  การสร้างระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “เด็นโซ่” ใช้หลักการ Lean Automation ซึ่งจะทำการกำจัดความสูญเปล่าในระบบการผลิตทั้งหมด ก่อนออกแบบและนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ ทำให้การใช้งานระบบอัตโนมัติเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกกระบวนการ 

สำหรับศูนย์ ITC ได้จัดตั้งอาคาร Showcase ที่มีการจำลองระบบการผลิตเพื่อเรียนรู้หลักการกำจัดความสูญเปล่า และการออกแบบระบบการผลิตแบบ Lean Automation ประกอบด้วย หุ่นยนต์เคลื่อนไหวได้จำนวน 7 ตัว เทคโนโลยีด้าน IoT รวมถึงเทคโนโลยีการจำลองเครื่องจักรและระบบการผลิต เพื่อใช้สำหรับเรียนรู้การใช้งานหุ่นยนต์พื้นฐานและการออกแบบระบบการผลิตแบบอัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามหลังเสร็จสิ้นโครงการในปีนี้แล้วจะมีการประเมินผลปรับหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กสอ. ยังมีการพิจารณาขยายผลโครงการนี้ไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่อไป